ค้นหางานศิลปกรรม
ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
สถาปัตยกรรมฐานขั้นบันไดที่ปุระเกห็น
เทวาลัยในศิลปะบาหลี ย่อมแบ่งอกเป็น 3 ลานเสมอ โดยลานชั้นนอกมักอยู่ด้านล่างสุดของเชิงเขา แทนโลกบาดาล ลานชั้นกลาง ส่วนส่วนกลางของเชิงเขาหมายถึงโลกมนุษย์ และลานชั้นนอกหมายถึงสวรรค์อันเป็นที่ประทับของเทพเจ้าอยู่ด้านบนสุดของเนินเขา การที่ความสูงของแต่ละพื้นที่ที่แตกต่างกัน ย่อมทำให้เกิดการสร้าง “พนักขั้นบันได” คั่นอยู่ในระหว่างลานแต่ละชั้น โดยช่างบาหลีได้ตกแต่งดังกล่าวด้วยประติมากรรมคั่นยู่เป็นระยะๆ ที่ด้านบนสุดปรากฏโคปุระซึ่งแสดถึงการกั้นพื้นที่ของจักรวาลในแต่ละชั้นและป้องกันสิ่งชั่วร้าย
สถาปัตยกรรมซุ้มประตู (โคปุระ) ที่ปุระเกห็น
โคปุระ คือซุ้มประตูที่มียอดปราสาทด้านบน แสดถึงการกั้นพื้นที่ของจักรวาลในแต่ละชั้นและป้องกันสิ่งชั่วร้าย โคปุระในศิลปะบาหลี ย่อมประกอบด้วย “อาคารประธาน” และ “อาคารขนาบข้าง” เสมอ โดยบางครั้งอาคารขนาบข้างก็ปรากฏประตูด้วย เมื่อรวมกับประตูกลางแล้วจึงมีถึงสามประตู ด้านบนของประตูกลางมักปรากฏหน้ากาลขนาดใหญ่ หน้ากาลมีลักษณะดุร้าย ตาโปน มีเขี้ยว ยกมือขึ้นในท่าขู่ หน้ากาลมีหน้าที่ป้องกันความชั่วร้ายไม่ให้เข้าสู่เทวาลัย ยอดปราสาทประกอบด้วยเรือนธาตุจำลองซ้อนชั้นตามแบบอินเดียใต้ อย่างไรก็ตาม กลับประดับไปด้วยสัตว์ประหลาดและกนกงอนคล้ายที่ประดับบนสันหลังคาวัดจีน ซึ่งทั้งหมดนี้แตกต่างไปจากศิลปะชวาภาคตะวันออก
สถาปัตยกรรมซุ้มประตูแยกที่ปุระเกห็น
ซุ้มประตูแยก หรือที่เรียกกันในภาษาบาหลี จันทิเบนตาร์ (Candi Bentar) ถือเป็นลักษณะเฉพาะในศิลปะนี้ ซุ้มประตูดังกล่าวประกอบด้วยเรือนธาตุและยอดปราสาทที่ถูกผ่าครึ่ง โดยพื้นที่ที่ถูกผ่าตรงกลางไม่มีลวดบัวใดๆ ซุ้มประตูแยก มีหน้าที่สำคัญในการป้องกันความชั่วร้ายเช่นเดียวกับซุ้มประตูที่มียอด
สถาปัตยกรรมอาคารทรงเมรุที่ปุระเกเห็น
อาคารทรงเมรุ คืออาคารทรงปราสาทในผังสี่เหลี่ยมจัตุรัส ซ้อนชั้นด้วยหลังคาลาดมุงฟางจำนวนหลายชั้น อันเป็นสัญลักษณ์ของอาคารที่มีฐานันดรสูง เป็นที่ประทับเทพเจ้าสำคัญซึ่งมักตั้งอยู่ ณ ลานด้านในสุดของปุระ หลังคาลาดมุงฟางนี้ย่อมทำให้อาคารทรงเมรุได้รับการซ่อมแซออยู่อย่างสม่ำเสมอ แตกต่างไปโคปุระที่สร้างด้วยอิฐหรือหินซึ่งเป็นถาวรวัตถุ ที่ปุระเกเห็น อาคารทรงเมรุมีลักษณะพิเศษ คือมีเต่าและนาครองรับ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเป็นศูนย์กลางจักรวาลตามจักรวาลวิทยาแบบฮินดู