ค้นหางานศิลปกรรม
ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ประติมากรรมพระพิมพ์ดินเผา
พระพิมพ์ทรงคล้ายสามเหลี่ยม ตรงกลางเป็นพระพุทธรูปนาคปรก เบื้องขวาของพระองค์เป็นบุรุษเชื่อว่าเป็นพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร เบื้องขวาของพระองค์เป็นสตรีเชื่อว่าเป็นพระนางปรัชญาปารมิตา มีกรอบคดโค้งทำนองเรือนแก้วล้อมรอบประติมากรรมทั้งสาม เบื้องล่างรองรับด้วยเป็นฐานบัว
ประติมากรรมพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร
พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรยืนตรงบนฐานหน้ากระดาน พระพักตร์เหลี่ยม พระขนงคมเป็นสัน พระเนตรเบิกโพรง พระนาสิกและพระโอษฐ์สมส่วน สวมกุณฑลทรงตุ้มแหลม สวมกระบังหน้าและรัดเกล้ากรวยเทียบได้กับเทวรูปในศิลปะนครวัด กึ่งกลางของรัดเกล้ามีร่องรอยพระพุทธรูปซึ่งถูกกะเทาะรายละเอียดออก พระพุทธรูปที่รัดเกล้าทำให้เชื่อว่าประติมากรรมนี้เป็นรูปพระโพธิสัตว์อวโลกติศวร เพราะเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ประจำพระองค์ โดยพระพุทธรูปนี้คือพระธยานิพุทธเจ้าอมิตาภะ ผู้บันดาลให้พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรถือกำเนิดขึ้นมาพระวรกายด้านบนเปล่าเปลือย พระวรกายด้านล่างสวมพตสั้น สลักลายเส้นตรงทำให้เหมือนเป็นผ้าอัดกีบ ชักชายผ้าเป็นวงโค้งบริเวณใต้พระอุทร และมีชายผ้าทรงคล้ายหางปลาพาดลงตรงกลาง ลักษณะผ้านุ่งดังกล่าวนี้เป็นรูปแบบของประติมากรรมในศิลปะแบบนครวัด พระกรทั้งสี่ถือสิ่งของต่างๆ ที่เป็นของประจำพระองค์ กล่าวคือ พระหัตถ์ขวาล่างถือดอกบัว พระหัตถ์ขวาบนถือประคำ พระหัตถ์ซ้ายล่างถือคัมภีร์ พระหัตถ์ซ้ายบนถือสังข์
ประติมากรรมพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรเปล่งรัศมี
พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรเปล่งรัศมีอยู่ในอิริยาบถยืนตรง พระเศียร พระกร และระชงฆ์ตลอดจนพระบาทชำรุดหักหายไปหมดแล้ว บริเวณพระอุระตลอดจนพระอังสา (ไหล่) และพระพาหา (ต้นแขน) ประดับด้วยแถวพระพุทธรูปจำนวนมากมายราวกับเป็นเกราะ กึ่งกลางพระอุระและบั้นพระองค์ปรากฏรูปบุคคลขนาดใหญ่อาจหมายถึงนางปรัชญาปารมิตา สวมสมพตสั้นที่สลักลวดลายอย่างคร่าวๆ ช่วงล่างของพระองค์ตั้งแต่พระอูรุ (ต้นขา) ใหญ่ผิดสัดส่วนตามแบบประติมากรรมในศิลปะบายน
ประติมากรรมพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรเปล่งรัศมี
พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรเปล่งรัศมีอยู่ในอิริยาบถยืนตรงบนฐานหน้ากระดานสี่เหลี่ยม สภาพสมบูรณ์มากมีเพียงพระกรทั้งแปดที่หักหายไป พระพักตร์เหลี่ยม พระเนตรปิด แย้มพระโอษฐ์เล็กน้อยตามอย่างศิลปะเขมรแบบบายน ทำให้เกิดความรู้สึกสงบ เกล้าพระเกศาเป็นมวยทรงกระบอก มีรูปพระพุทธเจ้าอมิตาภะประดับมวยผม และมีพระพุทธรูปจำนวนมากประดับพระเศียรแทนเส้นพระเกศา พระองค์ส่วนบนประดับด้วยแถวพระพุทธรูปจำนวนมากมายราวกับเป็นเกราะ กึ่งกลางพระอุระและบั้นพระองค์ปรากฏรูปบุคคลขนาดใหญ่ อาจหมายถึงนางปรัชญาปารมิตา พระกรทั้งแปดหักหายไปแล้ว สวมสมพตสั้นที่สลักลวดลายอย่างคร่าวๆ ช่วงล่างของพระองค์ตั้งแต่พระอูรุ (ต้นขา) จนถึงพระบาทใหญ่ผิดสัดส่วน สวมธำมรงค์ที่นิ้วพระบาททั้งสิบ
ประติมากรรมพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร
พระโพธิสัตว์องค์นี้อยู่ในอิริยาบถยืนตรง มีแปดกรแต่ทุกพระกรเหลือเพียงช่วงบนเท่านั้น พระวรกายช่วงล่างตั้งแต่พระชานุลงไปหักหายหมดแล้วเช่นกันพระพักตร์อวบอิ่ม เครื่องประกอบพระพักตร์งามสมส่วน เปลือกพระเนตรปิดลงครึ่งหนึ่ง สวมมงกุฎที่ประดับด้วยกลุ่มเพชรพลอยทรงสามเหลี่ยม มวยพระเกศาทรงกระบอก มีรูปพระพุทธเจ้าอมิตาภะที่อยู่ภายในกรอบวงกลมประดับอยู่กึ่งกลางมวยพระเกศา ปลายพระเกศาเป็นลอนสยายปะพระอังสา สวมเครื่องประดับจำนวนมาก ได้แก่ ยัชโญปวีตที่ทำจากผ้า ยัชโญปวีตนี้ซ้อนทับโดยสังวาลไข่มุกประดับเพชรพลอยอีกชั้นหนึ่ง กรองศอมี 2 เส้น เส้นบนเป็นดั่งเม็ดไข่มุก เส้นล่างเป็นดั่งเครื่องประดับลายเพชรพลอย มีพาหุรัดประดับลายเพชรพลอย ในภาพรวมพระโพธิสัตว์องค์นี้แสดงความเกี่ยวข้องกับศิลปะอินเดียแบบปาละและศิลปะชวาภาคกลางของอินโดนีเซีย อย่างไรก็ตาม งานวิจัยของ รองศาสตราจารย์ ดร.เชษฐ์ ติงสัญชลี ชี้ให้เห็นว่ามีความสัมพันธ์กับศิลปะชวาภาคกลางมากกว่า นอกจากนี้ยังมีสิ่งที่ไม่ปรากฏทั้งในศิลปะปาละและศิลปะชวาภาคกลาง ซึ่งอาจหมายความว่าหล่อขึ้นในภาคใต้ของไทยเอง ได้แก่ ยัชโญปวีตแบบหนังสัตว์ที่ซ้อนทับด้วยสังวาลเพชรพลอย
ประติมากรรมพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร
ประติมากรรมนี้อยู่ในสภาพชำรุด เหลือเพียงพระเศียรและพระวรกายส่วนบนที่แสดงอาการเอียงตนหรือตริภังค์ ในขณะที่มวยพระเกศา พระกรทั้งสองข้าง และพระวรกายส่วนล่างชำรุดสูญหายไปแล้วพระพักตร์อวบอิ่ม เครื่องประกอบพระพักตร์งามสมส่วน เปลือกพระเนตรปิดลงครึ่งหนึ่ง มีพระอุณาโลมที่พระนลาฏ สวมมงกุฎที่ประดับด้วยกลุ่มเพชรพลอยทรงสามเหลี่ยม มวยพระเกศาที่เคยมีอยู่ทางด้านบนได้หักหายไปแล้ว เหลือแต่พระเกศาเป็นลอนสยายปะพระอังสา สวมเครื่องประดับจำนวนมาก ได้แก่ ยัชโญปวีตแบบหนังสัตว์โดยสังเกตได้จากหัวเลียงผาที่อยู่บริเวณพระอังสาซ้าย ยัชโญปวีตนี้ซ้อนทับโดยสังวาลไข่มุกประดับเพชรพลอยอีกชั้นหนึ่ง กรองศอมี 2 เส้น เส้นบนเป็นดั่งเม็ดไข่มุก เส้นล่างเป็นดั่งเครื่องประดับลายเพชรพลอยที่มีสายอุบะห้อยระย้า มีพาหุรัดประดับลายเพชรพลอย ในภาพรวมพระโพธิสัตว์องค์นี้แสดงความเกี่ยวข้องกับศิลปะอินเดียแบบปาละและศิลปะชวาภาคกลางของอินโดนีเซีย อย่างไรก็ตาม งานวิจัยของ รองศาสตราจารย์ ดร.เชษฐ์ ติงสัญชลี ชี้ให้เห็นถึงรายละเอียดที่ไม่ปรากฏทั้งในศิลปะปาละและศิลปะชวาภาคกลาง ซึ่งอาจหมายความว่าหล่อขึ้นในภาคใต้ของไทยเอง ได้แก่ ยัชโญปวีตแบบหนังสัตว์ที่ซ้อนทับด้วยสังวาลเพชรพลอย
สถาปัตยกรรมปราสาทนาคพัน
พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ทรงขุดบารายชยตฑาคะขึ้นที่ด้านหน้าเมืองราชัยศรี (ปราสาทพระขรรค์) กลางสระนั้นโปรดให้สร้างปราสาทนาคพันขึ้นเพื่อตามคติสระอโนดาต อันเป็นสระน้ำศักดิ์สิทธิ์ทางพุทธศาสนา
จิตรกรรมจิตรกรรมในเจดีย์อเพยทนะ
อิทธิพลของศิลปะปาละที่สังเกตได้ก็คือ การใช้สีโทนร้อนเป็นหลัก เช่น สีแดง สีเหลือง สีดำและสีขาว ส่วนสีโทนเย็น เช่น สีเขียวแทบไม่ปรากฏ ภายในทางประทักษิณภายในปรากฏซุ้มจระนำซึ่งเคยประดิษฐานพระพุทธรูปมาก่อน ซุ้มจระนำเหล่านี้ขนาบข้างโดยพระโพธิสัตว์ในลัทธิมหายาน โดยพระโพธิสัตว์เหล่านี้แต่งตัวคล้ายคลึงกับศิลปะปาละอย่างมาก เช่น การทรงมงกุฎที่มีกระบังหน้าสามตาบ การทรงยัชโญปวีตตวัดเป็นรูปตัว S และการนุ่งผ้านุ่งเป็นริ้ว