ค้นหางานศิลปกรรม
ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ประติมากรรมพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก
พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเป็นพระพุทธรูปยืนทรงเครื่องต้นอย่างพระมหาจักรพรรดิ พระพักตร์สงบนิ่งอย่างหุ่น พระขนงโก่ง มีอุณาโลมบนพระนลาฏ ทรงมงกุฎประกอบด้วยกรรเจียกจร พระพุทธรูปแสดงปางห้ามสมุทร หรือประทานอภัย 2 พระหัตถ์ นิ้วพระหัตถ์ยาวเสมอกัน ครองจีวรห่มเฉียง สวมกรองศอ สังวาล ทับทรวง พาหุรัด ทองพระกร พระธำมรงค์ทุกนิ้วพระหัตถ์ สายรัดพระองค์มีปั้นเหน่งรูปดอกไม้แปดเหลี่ยม ด้านล่างมีสุวรรณกระถอบห้อยอยู่เบื้องหน้า มีทั้งชายไหวชายแครง ทรงทองพระบาทและฉลองพระบาทเชิงงอน ประทับยืนบนฐานบัวคว่ำบัวหงายเหนือฐานสิงห์มีสิงห์แบก ครุฑแบกและเทวดาแบกลดหลั่นกัน
ประติมากรรมพระสัมพุทธพรรณี
พระสัมพุทธพรรณีเป็นพระพุทธรูปประทับนั่งขัดสมาธิราบ ปางสมาธิ พระพักตร์ค่อนข้างกลม ขมวดพระเกศาเล็ก รัศมีเป็นเปลว ไม่มีพระเกตุมาลา พระขนงโก่ง มีพระอุณาโลมอยู่ระหว่างพระขนง พระเนตรเหลือบต่ำ ครองจีวรห่มเฉียงมีริ้วตามริ้วผ้าธรรมชาติ ชายสังฆาฏิใหญ่ปลายตัดตรงยาวถึงพระนาภี ประทับนั่งบนฐานหน้ากระดานเกลี้ยงเหนือขาสิงห์ตกแต่งด้วยพรรณพฤกษาและลายเครือเถาแบบฝรั่ง ผ้าทิพย์ทำเป็นรูปม่านแหวกออก มีคำจารึกอักษรมอญภาษาบาลีด้านหน้ากล่าวถึงพระนามของพระพุทธรูปองค์นี้พระพุทธรูปองค์นี้ถือเป็นพระพุทธรูปองค์แรกที่ไม่ทำอุษณีษะและเริ่มมีริ้วจีวรยับย่นอย่างสมจริง ซึ่งแนวความคิดในการสร้างพระพุทธรูปเช่นนี้มีการอธิบาย 3 แนวทาง คือ 1. เพื่อให้มีลักษณะถูกต้องตามพุทธลักษณะที่ปรากฏในอรรถกถาบาลี2. เพื่อให้พระพุทธรูปมีรูปแบบที่เข้ากับวิธีคิดตามแนวสัจนิยมให้สมจริงเหมือนมนุษย์ยิ่งขึ้น 3. เป็นการมองพระพุทธเจ้าในฐานะมนุษย์มากขึ้นตามบริบทสังคมที่เริ่มคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผลและมีความเป็นมนุษย์นิยมมากขึ้น
สถาปัตยกรรมพระปรางค์แดง
องค์ประกอบของพระปรางค์แดงได้แก่ แผนผังอาคารที่มีลักษณะเป็นจตุรมุข และมีการทำหน้าบันซ้อนชั้นทั้ง 4 มุข หากแต่ที่พระปรางค์แดงได้ถูกดัดแปลงให้เป็นอาคารจตุรมุขที่ทำหน้าบันซ้อนชั้นเลียนแบบเครื่องลำยองอย่างที่คุ้นเคยในสถาปัตยกรรมไทยองค์ประกอบที่สำคัญอีกประการหนึ่งที่น่าจะได้รับแรงบันดาลใจจากปราสาทแบบเขมร คือ ส่วนยอดที่มีปริมาตรค่อนข้างอวบอ้วน โดยยังคงใช้ระเบียบของเรือนซ้อนชั้นซึ่งมีทั้งหมด 5 ชั้น ลักษณะสอบขึ้นไปสู่ส่วนยอดบนสุด ใช้ระบบการย่อมุมที่มุมประธานทั้ง 4 ของส่วนยอด กึ่งกลางของชั้นซ้อนแต่ละชั้นทำเป็นช่องวิมานซึ่งมีเสาและกรอบซุ้มวางทับ ส่วนยอดของพระปรางค์แดงจึงเป็นระเบียบที่คล้ายกับการทำส่วนยอดที่เป็นชั้นซ้อนของปราสาทแบบเขมร ซึ่งเป็นการจำลองส่วนของเรือนธาตุให้มีขนาดเล็กลงและซ้อนชั้นกันตามคติความเชื่อเรื่องปราสาทอันเป็นอาคารฐานันดรสูง แตกต่างกันที่รายละเอียดของการประดับตกแต่งชั้นซ้อนเท่านั้นข้อน่าสังเกตประการหนึ่งคือ ส่วนยอดของพระปรางค์แดงไม่ได้ประดับประติมากรรมอันได้แก่บรรพแถลงหรือกลีบขนุนที่บริเวณชั้นซ้อนตามแบบที่ปราสาทแบบเขมรนิยมทำ มีแต่เพียงโครงสร้างของการทำเรือนซ้อนชั้นและช่องวิมานเท่านั้น อย่างไรก็ตาม แม้ว่ารูปแบบของพระปรางค์แดงจะมีความสัมพันธ์กับปราสาทแบบเขมรดังที่ได้กล่าวแล้ว แต่ก็พบว่าเทคนิคการก่อสร้างบางประการนั้นน่าจะได้รับอิทธิพลตะวันตกซึ่งเป็นลักษณะที่พบได้ทั่วไปในงานศิลปกรรมในพระราชประสงค์รัชกาลที่ 4 สังเกตได้จากการใช้ผนังวงโค้งช่วยรองรับน้ำหนักของเครื่องหลังคาซึ่งเป็นเทคนิคการก่อสร้างที่พบในสถาปัตยกรรมตะวันตก การทำช่องวิมานที่ชั้นซ้อนของส่วนยอดซึ่งมีซุ้มเป็นวงโค้งอย่างตะวันตก รวมทั้งการก่อส่วนยอดซึ่งแท้ที่จริงเป็นการก่ออิฐฉาบปูน ภายในมีลักษณะโปร่งสามารถมองทะลุถึงส่วนยอดได้ ในขณะที่ภายนอกเป็นการก่ออิฐและฉาบปูนให้แลดูเสมือนว่าเป็นการซ้อนชั้นหลังคาเลียนแบบสถาปัตยกรรมแบบเขมรเท่านั้น ซึ่งคงทำให้ส่วนยอดมีน้ำหนักเบาแม้ว่าจะมีปริมาตรมาก แตกต่างจากการก่อส่วนยอดด้วยหินอย่างปราสาทแบบเขมร
สถาปัตยกรรมวัดพระแก้วน้อย
สถาปัตยกรรมที่สำคัญของวัดพระแก้วน้อย ได้แก่ พระอุโบสถ และพระสุทธเสลเจดีย์ ส่วนพระอุโบสถเป็นอาคารก่อด้วยหินอ่อนในผังสี่เหลี่ยมผืนผ้า หลังคาประดับกระเบื้องซ้อนชั้น เครื่องลำยองประดับลวดลายปูนปั้นรูปพระมหามงกุฎประดิษฐานบนพานแว่นฟ้า ขนาบสองข้างด้วยฉัตร 5 ชั้น พื้นหลังเป็นลายก้านขด ซึ่งเป็นฝีมือช่างเพชรบุรี ผนังพระอุโบสถเขียนภาพจิตรกรรมลายพรรณพฤกษา ซุ้มประตูหน้าต่างด้านนอกประดับลวดลายปูนปั้น ภายในพระอุโบสถประดิษฐานพระนิรัยตรายจำลองและพระแก้วมรกตจำลองส่วนพระสุทธเสลเจดีย์ เป็นเจดีย์ทรงระฆังตั้งอยู่ด้านหลังพระอุโบสถโดยมีทางเชื่อมต่อขึ้นไปยังฐานประทักษิณรอบองค์เจดีย์ องค์เจดีย์ก่อด้วยหินอ่อนที่รัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯ ให้ตัดมาจากเกาะสีชัง จ.ชลบุรี เรียงต่อกันตามแบบของเจดีย์ทรงระฆังซึ่งเป็นพระราชนิยม ทั้งนี้ได้โปรดเกล้าฯ ให้มีการบรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ภายในพระเจดีย์ด้วย
สถาปัตยกรรมพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม
พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามเป็นอาคารหลังคาคลุมแบบไทยประเพณี ผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า หันหน้าไปทางทิศตะวันออกและมีกำแพงแก้วล้อมรอบส่วนหลังคาเป็นเครื่องไม้มุงกระเบื้องพื้นสีน้ำเงิน ขอบมุงกระเบื้องสีส้มและเหลือง หลังคาซ้อน 3 ชั้น 4 ตับ ปิดทองประดับกระจก ประดับช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ นาคสะดุ้ง หน้าบันทั้ง 2 ด้าน ประดับรูปพระนารายณ์ทรงครุฑ พื้นหลังประดับลายก้านขดตัวอาคารก่ออิฐถือปูน ผนังอาคารด้านนอกปิดทองประดับกระจก ลวดลายทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ ฐานโดยรอบอาคารประดับประติมากรรมรูปครุฑยุดนาค มีซุ้มประตูเรือนยอดที่ด้านหน้าและด้านหลังพระอุโบสถ ด้านละ 3 ซุ้มประตู มีประติมากรรมสิงโตสำริด 3 คู่ ประดับที่บันไดทางขึ้นด้านหน้าระเบียงโดยรอบพระอุโบสถมีเสาพาไลย่อมุมไม้สิบสองปิดทองประดับกระจก ประดับบัวแวงที่หัวเสา มีคันทวยรองรับบริเวณชายคา
สถาปัตยกรรมปราสาทพระเทพบิดร
อาคารทรงปราสาทจัตุรมุขยอดปรางค์ มุขหน้าเป็นมุขลดโถงอยู่ทางทิศตะวันออก ตัวอาคารประดับกระเบื้องเคลือบลายพุ่มข้าวบิณฑ์บนพื้นสีฟ้าเข้ม หลังคาซ้อนชั้นประดับด้วยช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ นาคสะดุ้ง มุงกระเบื้องเคลือบสี ส่วนยอดเป็นทรงปรางค์ทำด้วยปูนปั้นประดับกระเบื้องเคลือบสี หน้าบันทั้ง 4 ด้านประดับตราพระบรมราชสัญลักษณ์ 4 รัชกาล ได้แก่ หน้าบันมุขทิศเหนือเป็นรูปอุณาโลม ในรัชกาลที่ 1 มุขทิศใต้รูปครุฑยุดนาค ในรัชกาลที่ 2 มุขทิศตะวันตกรูปพระวิมาน ในรัชกาลที่ 3 และมุขทิศตะวันออกรูปพระมหามงกุฎ ในรัชกาลที่ 4 ซุ้มประตูและหน้าต่างมีเครื่องยอดทรงมงกุฎปิดทองประดับกระจก ผนัง 2 ข้างของบานประตูและหน้าต่างประดับลายปูนปั้นปิดทองรูปตราพระบรมราชสัญลักษณ์ในรัชกาลที่ 1-5
สถาปัตยกรรมพระศรีรัตนเจดีย์
พระศรีรัตนเจดีย์เป็นเจดีย์ทรงระฆังในผังกลม มีมุขหรือช่องคูหายื่นออกมาทั้ง 4 ทิศ ที่สันหลังคาประดับเจดีย์ทรงระฆังจำลองขนาดเล็ก ส่วนองค์เจดีย์รองรับด้วยฐานบัวคว่ำ-บัวหงาย ชุดมาลัยเถา บัวปากระฆัง องค์ระฆัง บัลลังก์ในผังสี่เหลี่ยม ส่วนยอดประกอบด้วยแกนปล้องไฉนที่มีเสาหารล้อมรอบ ปล้องไฉน ปลียอดและเม็ดน้ำค้าง องค์เจดีย์ประดับกระเบื้องโมเสกสีทอง ช่องคูหาทั้ง 4 ทิศมีบานประตูเปิดปิดเพื่อเข้าไปภายในองค์เจดีย์ได้ ภายในองค์เจดีย์มีลักษณะเป็นโถงผนังโค้ง ภายในประดิษฐานพระเจดีย์กะไหล่ทองซึ่งบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ
สถาปัตยกรรมพระมหามณฑป
เป็นอาคารในผังสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีเสาพาไลเพิ่มมุมที่ประดับบัวหัวเสาอยู่โดยรอบอาคาร ตัวอาคารและเสาปิดทองประดับกระจก เครื่องหลังคามีลักษณะเป็นเรือนซ้อนชั้นยอดแหลมในผังสี่เหลี่ยมเพิ่มมุมแสดงความเป็นเรือนฐานันดรสูง ประกอบด้วยชั้นหลังคาลาดที่มีหน้าจั่วขนาดเล็กซ้อนกัน ถัดขึ้นไปเป็นองค์ระฆัง บัลลังก์ เหม บัวคลุ่มเถาและปลียอด ประดับกระดิ่งทองเหลืองที่ชายคารอบอาคาร