ค้นหางานศิลปกรรม
ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ประติมากรรมพระพุทธรูปคันธารราฐ
พระพุทธรูปเลียนแบบศิลปะอินเดียแบบคันธารราฐ ประทับยืนปางขอฝนพระพักตร์แหงนเงยขึ้นเบื้องบน พระหัตถ์ขวายกในกิริยากวัก พระหัตถ์ซ้ายหงายรองรับน้ำฝนตรงบั้นพระองค์พระพักตร์มีรูปแบบคล้ายเทพเจ้ากรีก-โรมัน เกล้าพระเกศาเป็นมุ่นโมลี ไม่มีพระรัศมี พระวรกายแสดงกล้ามเนื้ออย่างมนุษย์ ครองจีวรห่มเฉียงเป็นริ้วหนา มีรอยยับอย่างเป็นธรรมชาติ ประทับยืนบนดอกบัว เหนือบันไดขั้นบนสุดของขอบสระโบกขรณี ใกล้กันมีราวบันไดซึ่งมีเสาและพนัก ประดับตกแต่งรูปพระแม่ธรณีบีบมวยผม และรูปมนุษย์นาคซึ่งมีความหมายถึงน้ำ และความอุดสมบูรณ์
สถาปัตยกรรมอนุสาวรีย์ราชานุสรณ์
เป็นอนุสาวรีย์หินอ่อนแกะสลักจากประเทศอิตาลี ลักษณะเป็นแท่นรูปทรงสี่เหลี่ยม แต่ละด้านแกะลวดลายเป็นคูหาสำหรับประดิษฐานพระรูปหินอ่อนแกะสลักเจ้านายที่สิ้นพระชนม์ไปแล้วทั้ง 4 พระองค์ เหนือขึ้นไปเป็นแท่งเสาทรงสี่เหลี่ยมสอบขึ้นไปจนถึงยอด
ประติมากรรมพระบรมรูป 4 รัชกาล
พระบรมรูปรัชกาลที่ 1 - 3 มีขนาดเท่าพระองค์จริง หล่อด้วยสำริดเคลือบทองในพระราชอิริยาบถยืนตรง ทรงพระภูษาจีน มีสายรัดพระองค์และมีหัวพระปั้นเหน่งทับ ไม่ทรงฉลองพระองค์ ทรงพระแสงดาบคาบค่าย พระแสงดาบเวียต และพระแสงดาบญี่ปุ่นตามลำดับ จะเห็นได้ว่าพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประดิษฐวรการ ทรงใช้วิธีการผสมผสานรูปลักษณ์ตามคติไทยลงไปในรูปเหมือนตามคติตะวันตก คือเน้นความเหมือนจริงของพระพักตร์ แต่พระวรกายในพระราชอิริยาบถยืนนั้นยังคงความเกลี้ยงเกลากลมกลืนดูสงบนิ่งแต่แฝงความศักดิ์สิทธิ์น่าเลื่อมใสศรัทธาตามแบบพระพุทธรูป ส่วนพระบรมรูปรัชกาลที่ 4 นั้นเดิมหลวงเทพรจนา (พลับ) เป็นผู้ปั้น ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯให้พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประดิษฐวรการ แก้ไขและเพิ่มรายละเอียด เช่น รอยย่นบนพระพักตร์ รอยยับของพระภูษาโจง และลวดลายเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ทำให้ดูเหมือนจริงกว่าพระบรมรูปรัชกาลที่ 1 - 3
สถาปัตยกรรมวังบางขุนพรหม
ตำหนักใหญ่วังบางขุนพรหมหรือตำหนักทูลกระหม่อมเป็นอาคาร 2 ชั้นในผังสี่เหลี่ยมผืนผ้า ตัวอาคารมีลักษณะโค้งเข้าโค้งออกและนูนต่อเนื่อง ใช้หลังคาแบบมันสาร์ดมุงกระเบื้องว่าว ปีกด้านทิศใต้มีหอคอยสี่เหลี่ยมและแปดเหลี่ยม ตกแต่งด้วยเสาหลายชนิดทั้งเสากลม เสาเหลี่ยม เสาแบน เสาบิดเป็นเกลียว หัวเสาตกแต่งด้วยงานปูนปั้น หน้าตามีทั้งหน้าต่างรูปไข่ล้อมด้วยปูนปั้นดอกคัทลียาและหน้าต่างรูปครึ่งวงกลมตกแต่งด้วยลายเครือไม้และผลไม้ ภายในชั้นล่างมีห้องรับแขก 2 ห้อง ห้องเสวยขนาดใหญ่ 2 ห้อง ห้องสมุด และห้องทรงพระอักษร ชั้นบนเป็นห้องบรรทม ห้องแต่งพระองค์ ห้องพระ ห้องสีชมพู ห้องสีน้ำเงินตำหนักสมเด็จเป็นอาคาร 3 ชั้นมีทางเชื่อมกับตำหนักใหญ่ เป็นอาคารคฤหาสน์แบบชนบทของเยอรมนี ภายนอกตกแต่งด้วยลายปูนปั้นอย่างเรียบง่าย ภายในมีการตกแต่งด้วยไม้แกะสลักและกระจกสี นอกจากนี้ภายในวังบางขุนพรหมยังมีตำหนักน้อยใหญ่อีกหลายหลัง เช่น ตำหนักหอ ตำหนักเล็ก ตำหนักน้ำ เรือนกล้วยไม้และกระโจมแตร
สถาปัตยกรรมสถานีรถไฟกรุงเทพ
สถานีรถไฟหัวลำโพงนี้เป็นสถานีรถไฟแบบปลายตัน ประกอบด้วยอาคาร 2 ส่วนเชื่อมต่อกัน คือโถงระเบียงหน้าสถานีและโถงชานชาลา โถงระเบียงหน้าออกแบบโดยนายมาริโอ ตามาญโญในปี พ.ศ. 2455 แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2459 มีผังเป็นรูปตัว E มีมุขกลางขนาดใหญ่มีหลังคาโค้ง ปลายสองด้านเป็นป้อมรูปสี่เหลี่ยมเชื่อมต่อกันด้วยระเบียงยาวชั้นเดียว ใช้เสาไอโอนิครับน้ำหนัก ส่วนโถงชานชาลาสร้างขึ้นก่อนโดยนายเกอร์เบอร์ แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2455 เป็นอาคารโถงหลังคาโค้งกว้างทำด้วยเหล็ก ผนังด้านหน้ากรุแผ่นกระจกเล็กๆเรียงกัน มีหอคอยสี่เหลี่ยมจัตุรัสที่ปลายปีกทั้งสองด้าน
สถาปัตยกรรมตึกแถวถนนหน้าพระลาน
เป็นอาคารสองชั้น ผังอาคารมีลักษณะเป็นรูปตัว E ขนานไปกับแนวถนน มี 3 มุขคือ มุขกลางและหัวท้ายโดยเชื่อมต่อกันด้วยปีก มีการแบ่งเป็นห้องๆ มุขกลางมี 3 ห้อง มีหน้าบันครึ่งวงกลมขนาดใหญ่ตกแต่งด้วยปูนปั้นรูปดอกบัวขนาบด้วยแจกัน คอสองประดับเฟื่องอุบะ ระเบียงชั้นสองมีเสาลอยรับหน้าบัน หน้าต่างโค้งแบบบานแฝดในกรอบวงโค้งคู่กับซุ้มโค้งด้านล่างที่มีชุดบานเฟี้ยม หลังคามุงด้วยกระเบื้องว่าว
สถาปัตยกรรมพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีขนาดใหญ่กว่าขนาดจริงเล็กน้อยอยู่ในอิริยาบถทรงม้า ฉลองพระองค์เครื่องแบบจอมพลทหารบก ทรงพระคทาจอมพลที่พระหัตถ์ขวา พระหัตถ์ซ้ายทรงกุมบังเหียน ม้าพระที่นั่งยืนบนแผ่นโลหะทองบรอนซ์หนาประมาณ 25 เซนติเมตรซึ่งวางอยู่บนแท่นหินอ่อนสี่เหลี่ยมสูง 6 เมตร กว้าง 2 เมตรครึ่ง ยาวประมาณ 5 เมตรครึ่ง รอบแท่นมีเสาล้อมและขึงโซ่ไว้โดยรอบ ตรงฐานมีจารึกแสดงข้อความเฉลิมพระเกียรติที่ด้านหน้า มีชื่อช่างปั้น C.MASSON SEULP 1908 ช่างหล่อ G.Paupg Statuare ทางด้านขวา และบริษัทที่หล่อ SUSSF Fres FONDEURS. PARIS ทางด้านซ้าย
สถาปัตยกรรมตำหนักพรรณราย
ตำหนักพรรณรายเป็นอาคารทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า 2 ชั้นหลังคาจั่ว หน้าบันทรงสามเหลี่ยมมีปูนปั้นรูปวงกลม 3 วงซ้อนกัน ขอบหน้าบันส่วนที่ติดกับหลังคาทำปูนปั้นคล้ายแพรระบาย ตัวอาคารไม่มีชายคา เสารับหลังคามีทั้งแบบเสาสี่เหลี่ยมเรียบและเสากลมที่มีหัวเสาเป็นใบอะแคนธัสและฐานเสาแบบตะวันตก ระหว่างเสามีกันสาดโครงไม้ เหนือช่องหน้าต่างตกแต่งเท้าแขนไม้รูปวงกลม หน้าต่างเป็นแบบบานเกล็ด