ค้นหางานศิลปกรรม
ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ประติมากรรมพระพุทธรูปปางมารวิชัย
พระพุทธรูปนั่งขัดสมาธิเพชร พระหัตถ์ทำปางมารวิชัย รองรับด้วยฐานบัวคว่ำบัวหงายซึ่งวางอยู่บนฐานสี่เหลี่ยมที่ประดับรูปสิงห์อยู่ที่มุม เบื้องหลังเป็นประภามณฑลวงกลม พื้นที่ตรงกลางเจาะโปร่ง ขอบนอกประดับด้วยลายดอกไม้กลมและลายเปลวเพลิง ด้านบนมีฉัตร
ประติมากรรมพระพุทธรูป
พระพุทธรูปอยู่ในสภาพชำรุด พระพักตร์ชำรุดบางส่วน พระกรขวาและพระวรกายตั้งแต่พระชานุ (เข่า) ลงไปสูญหาย พระพุทธรูปยืนตรง พระเกศาขมวดเป็นก้นหอย พระอุษณีษะนูนแต่เพียงเล็กน้อย ทั้งสองสิ่งข้างต้นนี้ทำให้นึกถึงพระพุทธรูปศิลปะอินเดียแบบอมราวดีที่น่าจะเป็นต้นแบบ ครองจีวรห่มเฉียง หนา มีแนวชายจีวรหนาพาดผ่านจากด้านล่างสู่ข้อพระกรซ้าย ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้นึกถึงพระพุทธรูปอินเดียแบบอมราวดีเช่นกัน ทว่าจีวรกลับเรียบไม่มีริ้วอันแตกต่างไปจากพระพุทธรูปอมราวดีที่ทำริ้วเสมอ พระหัตถ์ขวากำและยกขึ้นระดับพระอุระ หันฝ่าพระหัตถ์เข้าสู่พระองค์
สถาปัตยกรรมพระที่นั่งอิศราวินิจฉัย
พระที่นั่งอิศราวินิจฉัยเป็นอาคารโรง ก่ออิฐถือปูน ชั้นเดียว ขนาด 10 ห้อง หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ฝากั้นทึบทั้ง 4 ด้าน ด้านหน้ามีระเบียง เสาระเบียงและเสาในอาคารเป็นเสาสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่แบบที่นิยมในสมัยรัชกาลที่ 3 ภายในประดิษฐานพระที่นั่งบุษบกมาลา หลังคาพระที่นั่งประดับด้วยเครื่องไม้มุงกระเบื้องดินเผาไม่เคลือบสี ประดับกรอบหน้าบันด้วยช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ หน้าบันประดับรูปเทพนมประทับบนฐานบัวแกมช่อกระหนกเปลว ปิดทองประดับกระจก
จิตรกรรมหนังพระนครไหว
หนังพระนครไหวประกอบด้วยหนัง 2 ประเภทใหญ่ ได้แก่ หนังชุดเบิกโรง คือชุดจับลิงหัวค่ำ ประกอบด้วยตัวหนังพระฤษี ลิงขาว และลิงดำ อีกประเภทหนึ่งคือหนังเล่าเรื่อง สำหรับการแสดงเรื่องรามเกียรติ์ตอนต่างๆ เช่น ตอนศึกอินทรชิตตอนหักคอช้างเอราวัณ ตอนหนุมานอาสา ตอนทศกัณฐ์สั่งเมือง และตอนพระรามเสี่ยงม้าอุปการเป็นต้น ตัวหนังทำจากหนังโคเป็นผืนขนาดใหญ่ ฉลุลายด้วยสิ่วและค้อนให้เป็นรูปตัวละครจากเรื่องรามเกียรติ์และองค์ประกอบต่างๆ ตามท้องเรื่อง ตัวละครแต่งกายยืนเครื่องและสวมศิราภรณ์เช่นเดียวกับการแสดงโขน โดยแผ่นหนังทั้งผืนไม่ขาดจากกัน ระบายสีผืนหนังในบางแห่ง หนังแต่ละตัวมีไม้คีบหนัง 2 ข้าง สำหรับผนึกตัวหนังและเชิดประกอบการแสดง
ประติมากรรมพระพุทธรูปคันธารราฐ
พระพุทธรูปเลียนแบบศิลปะอินเดียแบบคันธารราฐ ประทับยืนปางขอฝนพระพักตร์แหงนเงยขึ้นเบื้องบน พระหัตถ์ขวายกในกิริยากวัก พระหัตถ์ซ้ายหงายรองรับน้ำฝนตรงบั้นพระองค์พระพักตร์มีรูปแบบคล้ายเทพเจ้ากรีก-โรมัน เกล้าพระเกศาเป็นมุ่นโมลี ไม่มีพระรัศมี พระวรกายแสดงกล้ามเนื้ออย่างมนุษย์ ครองจีวรห่มเฉียงเป็นริ้วหนา มีรอยยับอย่างเป็นธรรมชาติ ประทับยืนบนดอกบัว เหนือบันไดขั้นบนสุดของขอบสระโบกขรณี ใกล้กันมีราวบันไดซึ่งมีเสาและพนัก ประดับตกแต่งรูปพระแม่ธรณีบีบมวยผม และรูปมนุษย์นาคซึ่งมีความหมายถึงน้ำ และความอุดสมบูรณ์
ประติมากรรมพระสุริยเทพ
พระสุริยเทพองค์นี้ชำรุดเสียหายหลายส่วน ยืนตรง สวมกิรีฏมกุฏแปดเหลี่ยม หรือหมวกทรงกระบอกแปดเหลี่ยม มีลวดลายกนกประดับด้านหน้าของมกุฏ ประภามณฑลขนาดใหญ่อยู่เบื้องหลังพระเศียร ลักษณะทั้งสองนี้ทำให้ทราบว่าเป็นพระสุริยเทพหรือพระอาทิตยเทพพระพักตร์แบน สวมกุณฑลแบบห่วงกลมซึ่งพบได้ทั่วไปในประติมากรรมศิลปะทวารวดี สวมกรองศอที่มีลายกนกแบบทวารวดี พระองค์สวมผ้าแบบ Tonic เป็นชิ้นเดียวกันคลุมตั้งแต่พระอังสาจนจรดพระชานุ เป็นเครื่องทรงเฉพาะของพระสุริยเทพเข่นกัน พระกรทั้งสองข้างและพระบาททั้งสองข้างชำรุดสูญหาย จึงไม่ทราบรายละเอียดว่าเป็นอย่างไร
ประติมากรรมพระวิษณุ
พระวิษณุยืนเอียงพระโสณีอยู่บนฐานหน้ากระดาน สวมกิรีฏมกุฏหรือมกุฏทรงกระบอก บางท่านเรียกว่าหมวกแขก เป็นลักษณะหนึ่งที่พบได้ในรูปพระวิษณุรุ่นเก่า มีต้นแบบอยู่ในศิลปะอินเดียแบบปัลลวะพระวรกายส่วนบนเปล่าเปลือย พระกรทั้งสี่ชำรุดเสียหายจนไม่ทราบว่าถือสิ่งใดไว้ในพระหัตถ์ พระวรกายส่วนล่างนุ่งสมพตสั้นที่บางแนบเนื้อและไม่ประดับตกแต่งใดๆ จนแลดูกลมกลืนกับพระวรกาย ผ้านุ่งเช่นนี้สัมพันธ์กันกับประติมากรรมสำริดที่พบจากภาคอีสานตอนล่าง แถบจังหวัดนครราชสีมาและบุรีรัมย์พระองค์ยืนโดยให้น้ำหนักลงที่พระพระบาทขวา ในขณะที่พระบาทซ้ายหย่อน ทำให้พระโสณีเอียงไปทางขวา เรียกว่ายืนเอียงสะโพก มีต้นแบบมาจากการยืนตริภังค์ในศิลปะอินเดีย ซึ่งหมายถึงการยินเอียงสามส่วน ได้แก่ พระโสณี พระอังสา และพระเศียร พระวิษณุองค์นี้เป็นประติมากรรมลอยตัวอย่างแท้จริง ไม่มีแผ่นหินบริเวณข้อพระบาทเหมือนพระพุทธรูปทวารวดี และไม่มีชายผ้าหรือตะบองช่วยรับน้ำหนักเช่นพระวิษณุอื่นๆ การทำประติมากรรมลอยตัวเช่นนี้นับว่าเป็นความพิเศษของประติมากรรมจากเมืองศรีเทพ
สถาปัตยกรรมเจดีย์
ชิ้นส่วนดั้งเดิมของเจดีย์องค์นี้เริ่มต้นจากส่วนที่คล้ายหม้อน้ำ (อิฐที่รองรับเป็นของที่ทำขึ้นใหม่) อาจเป็นส่วนที่เทียบได้กับอัณฑะหรือองค์ระฆังของเจดีย์ทรงกลม ตอนล่างของส่วนที่คล้ายหม้อน้ำนี้ประดับด้วยกลีบบัวคว่ำบัวหงาย มีจารึกคาถาเย ธมฺมา ปรากฏอยู่ที่ตอนบนของส่วนที่คล้ายหม้อน้ำ ถัดขึ้นไปเป็นส่วนยอดซึ่งเริ่มต้นจากแท่งกลมหรือก้านฉัตร ถัดขึ้นไปเป็นแผ่นหินซ้อนดหลั่นกันและลำดับขนาดจากใหญ่ไปเล็ก ส่วนนี้คือฉัตรซ้อนชั้นนั่นเอง บนยอดสุดเป็นรูปลูกแก้วกลม