ค้นหางานศิลปกรรม

ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 
 
 
 
 
 
 

พระวิษณุ

คำสำคัญ : พระวิษณุ, พระพรหม

ชื่อเรียกอื่นพระนารายณ์
ชื่อหลักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
ประเภทงานศิลปะประติมากรรม
ตำบลพระบรมมหาราชวัง
อำเภอเขตพระนคร
จังหวัดกรุงเทพมหานคร
ภาคภาคกลาง
ประเทศไทย
พิกัดภูมิศาสตร์
ค่าองศาทศนิยม
Lat : 13.7576
Long : 100.492222
พิกัดภูมิศาสตร์
พิกัดกริด
Zone : 47 P
Hemisphere : N
E : 661329.97
N : 1521418.09
ตำแหน่งงานศิลปะภายในห้องจัดแสดงพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

ประวัติการสร้าง

ไม่ทราบประวัติการสร้างที่แน่ชัด แต่จากรูปแบบทางศิลปกรรมที่เทียบได้กับประติมากรรมศิลปะเขมรสมัยก่อนเมืองพระนคร และศิลปะอินเดียแบบปัลลวะ รวมถึงเทวรูปยุคแรกเริ่มประวัติศาสตร์ในดินแดนไทย ทำให้กำหนดอายุพระวิษณุองค์นี้ได้ราวพุทธศตวรรษที่ 12-13

กระบวนการสร้าง/ผลิต

สลักหิน

ประวัติการอนุรักษ์

ค้นพบจากเมืองศรีเทพ อำเภอศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์

ลักษณะทางศิลปกรรม

พระวิษณุยืนเอียงพระโสณีอยู่บนฐานหน้ากระดาน สวมกิรีฏมกุฏหรือมกุฏทรงกระบอก บางท่านเรียกว่าหมวกแขก เป็นลักษณะหนึ่งที่พบได้ในรูปพระวิษณุรุ่นเก่า มีต้นแบบอยู่ในศิลปะอินเดียแบบปัลลวะ

พระวรกายส่วนบนเปล่าเปลือย พระกรทั้งสี่ชำรุดเสียหายจนไม่ทราบว่าถือสิ่งใดไว้ในพระหัตถ์ พระวรกายส่วนล่างนุ่งสมพตสั้นที่บางแนบเนื้อและไม่ประดับตกแต่งใดๆ จนแลดูกลมกลืนกับพระวรกาย ผ้านุ่งเช่นนี้สัมพันธ์กันกับประติมากรรมสำริดที่พบจากภาคอีสานตอนล่าง แถบจังหวัดนครราชสีมาและบุรีรัมย์

พระองค์ยืนโดยให้น้ำหนักลงที่พระพระบาทขวา ในขณะที่พระบาทซ้ายหย่อน ทำให้พระโสณีเอียงไปทางขวา เรียกว่ายืนเอียงสะโพก มีต้นแบบมาจากการยืนตริภังค์ในศิลปะอินเดีย ซึ่งหมายถึงการยินเอียงสามส่วน ได้แก่ พระโสณี พระอังสา และพระเศียร

พระวิษณุองค์นี้เป็นประติมากรรมลอยตัวอย่างแท้จริง ไม่มีแผ่นหินบริเวณข้อพระบาทเหมือนพระพุทธรูปทวารวดี และไม่มีชายผ้าหรือตะบองช่วยรับน้ำหนักเช่นพระวิษณุอื่นๆ การทำประติมากรรมลอยตัวเช่นนี้นับว่าเป็นความพิเศษของประติมากรรมจากเมืองศรีเทพ
สกุลช่างศรีเทพ
ข้อมูลที่สำคัญทางวิชาการ

พระวิษณุจากเมืองศรีเทพองค์นี้เป็นตัวอย่างของประติมากรรมที่งดงามที่สุดองค์หนึ่ง มีรูปแบบที่ผสมผสานแรงบันดาลใจจากศิลปะเขมร อินเดีย และท้องถิ่น ทั้งยังสะท้อนให้เห็นถึงการนับถือศาสนาพราหมณ์ที่แพร่หลายอยู่ที่เมืองศรีเทพ

สมัย/รูปแบบศิลปะทวารวดี
อายุพุทธศตวรรษที่ 12-13
ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู
ศาสนา/ความเชื่อที่เกี่ยวข้องศาสนาพราหมณ์

รูปแบบลิขสิทธิ์Attribution-NonCommercial-NoDerivs (CC BY-NC-ND)
เจ้าของสิทธิ์ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
วันที่จัดทำข้อมูล2016-09-30
ผู้จัดทำข้อมูลรุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง
บรรณานุกรม

วิชัย ตันกิตติกร และคณะ. อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ. กรุงเทพฯ : อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ, 2538.

ศักดิ์ชัย สายสิงห์, ศิลปะทวารวดี วัฒนธรรมพุทธศาสนายุคแรกเริ่มในดินแดนไทย. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, 2547.

ศิวพงศ์ สีเสียดงาม. “ศิลปกรรมในวัฒนธรรมเขมรที่เมืองศรีเทพ อำเภอศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์” (วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาประวัติศาสตร์ศิลปะ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร), 2556.