ค้นหางานศิลปกรรม

ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 
 
 
 
 
 
 
แสดง 1 ถึง 4 จาก 4 รายการ, 1 หน้า
พระพรหม
กรุงเทพมหานคร
ประติมากรรมพระพรหม

ประติมากรรมพระพรหมอยู่ในอิริยาบถยืนบนฐานหน้ากระดาน พระชงฆ์ซ้ายและพระกรขวาล่างชำรุดสูญหายพระพักตร์ทั้งสี่มีรูปแบบเหมือนกัน กล่าวคือ รูปพระพักตร์เหลี่ยม คิ้ว 2 ข้างเกือบเป็นเส้นตรงและคมเป็นสัน พระเนตรเบิกโพรง พระนาสิกใหญ่ พระโอษฐ์แบะ มีพระมัสสุอยู่เหนือพระโอษฐ์ พระฑาฐิกะสลักนูนเห็นเด่นชัดโดยสลักยาวต่อเนื่องจากพระกรรเจียก (ขมับ) พระฑาฐิกะบริเวณพระหนุ (คาง) เป็นมุมแหลม พระกรรเจียกเป็นมุมแหลม รูปแบบของพระพักตร์และองค์ประกอบต่างๆ ที่กล่าวมานี้เทียบได้กับประติมากรรมศิลปะเขมรแบบบาแค็ง กระบังหน้าขนาดใหญ่ไม่ประดับตกแต่งลวดลาย มวยพระเกศาทรงกระบอกไม่ประดับตกแต่งเช่นกัน พระวรกายช่วงบนเปล่าเปลือย มีสี่กร พระวรกายช่วงล่างนุ่งสมพตสั้น ชายผ้าพาดยาวอยู่ตรงกลาง มีเข็มขัดผ้ารัดที่บริเวณพระโสณี ปลายเข็มขัดผ้าห้อยตกลงมาเหนือพระอูรุ (หน้าขา) ผ้านุ่งเช่นนี้เทียบได้กับศิลปะเขมรแบบาแค็ง เพียงแต่ว่าพระพรหมองค์นี้ไม่มีเส้นริ้วตามแนวตั้งประดับผ้านุ่ง ซึ่งการประดับเส้นริ้วนี้เป็นสิ่งที่พบได้ในศิลปะเขมรแบบบาแค็ง

พระวิษณุ
กรุงเทพมหานคร
ประติมากรรมพระวิษณุ

พระวิษณุยืนเอียงพระโสณีอยู่บนฐานหน้ากระดาน สวมกิรีฏมกุฏหรือมกุฏทรงกระบอก บางท่านเรียกว่าหมวกแขก เป็นลักษณะหนึ่งที่พบได้ในรูปพระวิษณุรุ่นเก่า มีต้นแบบอยู่ในศิลปะอินเดียแบบปัลลวะพระวรกายส่วนบนเปล่าเปลือย พระกรทั้งสี่ชำรุดเสียหายจนไม่ทราบว่าถือสิ่งใดไว้ในพระหัตถ์ พระวรกายส่วนล่างนุ่งสมพตสั้นที่บางแนบเนื้อและไม่ประดับตกแต่งใดๆ จนแลดูกลมกลืนกับพระวรกาย ผ้านุ่งเช่นนี้สัมพันธ์กันกับประติมากรรมสำริดที่พบจากภาคอีสานตอนล่าง แถบจังหวัดนครราชสีมาและบุรีรัมย์พระองค์ยืนโดยให้น้ำหนักลงที่พระพระบาทขวา ในขณะที่พระบาทซ้ายหย่อน ทำให้พระโสณีเอียงไปทางขวา เรียกว่ายืนเอียงสะโพก มีต้นแบบมาจากการยืนตริภังค์ในศิลปะอินเดีย ซึ่งหมายถึงการยินเอียงสามส่วน ได้แก่ พระโสณี พระอังสา และพระเศียร พระวิษณุองค์นี้เป็นประติมากรรมลอยตัวอย่างแท้จริง ไม่มีแผ่นหินบริเวณข้อพระบาทเหมือนพระพุทธรูปทวารวดี และไม่มีชายผ้าหรือตะบองช่วยรับน้ำหนักเช่นพระวิษณุอื่นๆ การทำประติมากรรมลอยตัวเช่นนี้นับว่าเป็นความพิเศษของประติมากรรมจากเมืองศรีเทพ

พระพรหมภายในเจดีย์นันปยะ
พุกาม
ประติมากรรมพระพรหมภายในเจดีย์นันปยะ

เจตียวิหารในระยะแรกสุดของศิลปะพุกาม ภายในอาคารปรากฏเสาสี่ต้นรองรับยอดศิขระ โดยรอบปรากฏภาพสลักพระพรหมซึ่งเป็นลักษณะพิเศษที่ปรากฏเฉพาะที่นี่เท่านั้น รูปแบบของพระพรหมและประติมานวิทยายังคล้ายคลึงกับพระพรหมในศิลปะปาละอยู่มาก จากกำหนดอายุโบราณสถานแห่งนี้อยู่ในสมัยพุกามตอนต้น

พระพรหม
จาการ์ตา
ประติมากรรมพระพรหม

พระพรหมองค์นี้ถือเป็นตัวอย่างสำหรับศึกษาเครื่องแต่งกายในศิลปะชวาภาคกลางได้เป็นอย่างดี พระพรหมทรงชฎามกุฎที่ประดับด้วยตาบจำนวน 3ตายตามแบบปาละ ทรงอุทรพันธะตามแบบอินเดียใต้ มีเข็มขัดเพชรพลอยตามแบบปาละแต่มีโบหูกระต่ายตามแบบอินเดียใต้ น่าสังเกตว่าเครื่องแต่งกายในศิลปะชวาภาคกลางนั้นมักเป็นส่วนผสมกันระหว่างศิลปะปาละและอินเดียใต้