ค้นหางานศิลปกรรม
ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ประติมากรรมหุ่นวังหน้า
โครงหุ่นแกะเหลาด้วยไม้เนื้ออ่อนที่มีน้ำหนักเบาคว้านเจาะให้กลวงตลอดลำตัวเพื่อร้อยเชือกสำหรับชักให้อวัยวะบางส่วนเคลื่อนไหวได้หัวหุ่นโกลนด้วยไม้เนื้ออ่อนเช่นเดียวกับตัวหุ่นแล้วปั้นเสริมรายละเอียดบนใบหน้าด้วยรักปิดกระดาษเขียนสีตัดเส้นวิธีเดียวกับหัวโขนส่วนคอของหุ่นมีก้านไม้เล็กๆ ต่อยาวลงไปทางช่องกลวงกลางลำตัวสำหรับบังคับหุ่นให้หันหน้าไปมาได้ขณะที่เชิดอวัยวะส่วนต่างๆของหุ่นยึดด้วยเชือกเส้นเล็กๆมีสายเชือกสำหรับชักหุ่นโดยปลายสายชักมีห่วงสำหรับคนเชิดสอดนิ้วบังคับให้หุ่นเคลื่อนไหวหุ่นตัวพระที่สำคัญเช่นพระรามสีเขียวสวมชฎายอดบัดเครื่องประดับศีรษะหุ่นตัวพระมีทั้งชฎาเครื่องยอดและสวมกะบังหน้าประกอบกรรเจียกจอน เครื่องแต่งกายประกอบด้วยอินทรธนูสังวาลตาบทิศทับทรวงสวมสนับเพลาทับด้วยผ้าโจงมีผ้าห้อยหน้าผ้าห้อยข้างการแต่งกายของตัวพระคล้ายกับโขนหุ่นตัวนาง หากเป็นหญิงสูงศักดิ์เครื่องประดับศีรษะจะสวมชฎาหากเป็นยักษ์สวมรัดเกล้ายักษ์ที่มีศักดิ์ใช้รัดเกล้ายอดส่วนนางกำนัลใช้รัดเกล้าเปลว แต่งกายยืนเครื่อง นุ่งผ้าจีบยาวถึงข้อเท้า ห่มสไบสะพักสองบ่า สวมเครื่องประดับต่างๆ เช่นเดียวกับการแสดงโขนหุ่นตัวยักษ์มีการกำหนดศิราภรณ์ให้มียอดแตกต่างกันและมีสีกายรูปแบบของปากตาและอาวุธแตกต่างกัน โดยมีลักษณะเช่นเดียวกับการแสดงโขน เช่น ทศกัณฐ์กายสีเขียว หน้ายักษ์ตาโพลงปากแสยะเขี้ยวโง้ง เป็นต้น เช่นเดียวกับหุ่นลิงที่มีการกำหนดสีกายและลักษณะหัวโขนแตกต่างกันในแต่ละตัว
ประติมากรรมพระมหาพิชัยราชรถ
ราชรถช่วงล่างประกอบด้วยวงล้อ 4 ล้อ ส่วนหน้ารถเรียกว่าเกริน สลักลวดลายกระหนกออกปลายรูปหัวนาค ส่วนท้ายรถเรียกว่า ท้ายเกริน สลักลวดลายกระหนกออกปลายรูปหางนาค ส่วนกลางราชรถลดหลั่นเป็นชั้นๆ แต่ละชั้นประดับประติมากรรมรูปเทพนม เหนือฐานราชรถช่วงกลางประดิษฐานบุษบกเรือนยอด เสาย่อมมุมไม้สิบสองประดับพระวิสูตรผู้ไว้ทั้ง 4 ด้าน ฐานบุษบกสลักลายประจำยามก้ามปู กระจังตาอ้อย และเทพนม หลังคาบุษบกเป็นเรือนซ้อนชั้นและมียอดแหลม องค์ประกอบทั้งหมดปิดทองประดับกระจกสี
สถาปัตยกรรมพระตำหนักแดง
ตำหนักแดงมีลักษณะเป็นตำหนักหลังเดียว ความยาว 7 ห้อง มีเฉลียงที่ด้านหน้า มีเสารองรับชายคาจำนวน 15 ต้น หลังคาชั้นเดียวไม่มีมุขลด ทำด้วยเครื่องไม้มุงกระเบื้องดินเผา หน้าบันกรุด้วยไม้แบบลูกฟักหน้าพรหม กรอบหน้าบันประดับด้วยช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ และนาคสะดุ้ง ฝาเรือนเป็นฝาปะกนลูกฟัก บานประตูหน้าต่างมีอกเลา ลักษณะเด่นของตำหนักแดงคือ พระแกลหรือหน้าต่างที่มีฐานสิงห์ประกอบอยู่ที่ตอนล่าง ซึ่งจะไม่ปรากฏในเรือนสามัญชน รูปแบบของพระตำหนักแดงเป็นตัวอย่างสำคัญของพระตำหนักที่ประทับที่สร้างในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์
สถาปัตยกรรมพระที่นั่งพุทไธสวรรย์
พระที่นั่งพุทไธสวรรย์เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนในผังสี่เหลี่ยมผืนผ้า ตัวอาคารยกพื้นสูง มีประตูทางเข้าด้านหน้า 3 ช่อง ซุ้มประตูทรงบรรพแถลง มีเสาพาสี่เหลี่ยมโดยรอบอาคารและมีคันทวยไม้แกะสลักปิดทองรองรับชายคา เครื่องหลังคาประดับด้วยเครื่องไม้มุงกระเบื้องสีส้ม หลังคาซ้อนชั้นประดับช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ มีคอสองหรือผนังที่คั่นจังหวะหลังคาออกเป็น 2 ส่วน หน้าบันพระที่นั่งทำด้วยไม้แกะสลักรูปพระพรหมสถิตในวิมาน 3 หลัง แวดล้อมด้วยลายกระหนกใบไม้ม้วนและเทพนม ปิดทองประดับกระจก
จิตรกรรมจิตรกรรมฝาผนังเรื่องพุทธประวัติและเทพชุมนุม
จิตรกรรมฝาผนังที่พระที่นั่งพุทไธสวรรย์มีรูปแบบเป็นงานจิตรกรรมไทยประเพณี เขียนภาพเล่าเรื่องพุทธประวัติที่ผนังระหว่างช่องหน้าต่างส่วนผนังเหนือช่องหน้าต่างเขียนภาพเทพชุมนุมโดยเหล่าเทพเทวดาแต่งกายยืนเครื่องอยู่ในท่านั่งเรียงเป็นแถว ต่างพนมมือเพื่อกราบนมัสการพระเจดีย์จุฬามณีบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ซึ่งมีภาพพระเจดีย์ที่ผนังท้ายพระที่นั่งส่วนผนังด้านหน้าพระพุทธสิหิงค์ซึ่งเป็นพระพุทธรูปประธาน เขียนภาพเทวดาชั้นพรหมประทับนั่งเรียงแถวพนมมือเพื่อกราบนมัสการพระทุสสะเจดีย์ซึ่งอยู่บนสวรรค์ชั้นดุสิตเทคนิคการเขียนภาพยังคงเป็นแบบไทยประเพณีที่นิยมในสมัยอยุธยาถึงรัตนโกสินทร์ตอนต้น กล่าวคือ ใช้เทคนิคการระบายสีแล้วตัดเส้น ภาพบุคคลสำคัญแสดงออกผ่านกิริยาที่เป็นนาฏลักษณ์ ใช้เส้นสินเทาแบ่งเรื่องราวตอนต่างๆ มีการปิดทองคำเปลวในส่วนสำคัญของภาพ เป็นต้น
ประติมากรรมใบเสมา
ใบเสมาแบบแผ่นแบน ชำรุดเสียหายมาก แต่ยังเห็นภาพสลักเรื่องได้ชัดเจน พระพุทธองค์ยืน พระหัตถ์ทำปางแสดงธรรมทั้ง 2 ข้าง พระพักตร์เหลี่ยม พระเนตรเหลือบต่ำและโปนใหญ่ พระนาสิกใหญ่ พระโอษฐ์แบะกว้างพระพุทธองค์ครองจีวรห่มคลุม ชายจีวรด้านหน้าพาดผ่านพระชานุเป็นรูปโค้ง ขณะที่ชายจีวรด้านหลังตกลงมาเป็นกรอบสี่เหลี่ยมยาวจนถึงข้อพระบาท สบงยาวจรดข้อพระบาทเช่นกันเบื้องซ้ายของพระองค์มีภาพบุคคลขนาดเล็กสวมเครื่องทรงดังเทวดายืนเคียงข้าง ถัดขึ้นไปมีเทวดาประนมกรแทรกกายอยู่หลังเมฆ จากภาพถ่ายเก่าทำให้เห็นว่าภาพทางเบื้องขวาของพระองค์มีการจัดวางองค์ประกอบแบบนี้เช่นกัน แต่ปัจจุบันได้ชำรุดสูญหายแล้ว ไม่ทราบว่าเป็นพุทธประวัติตอนใด แต่นักวิชาการบางท่านสันนิษฐานว่าเล่าพุทธประวัติตอนเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เพราะมีเทวดาขนาบอยู่ 2 ข้าง
ประติมากรรมแผ่นหินสลักภาพมงคล
แผ่นหินรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ตรงกลางและมุมทั้งสี่มีหลุมตื้นๆ ที่ล้อมรอบด้วยกลีบบัว อาจใช้สำหรับใส่พวกเครื่องหอมที่ใช้ในพิธีกรรม ตอนบนของแผ่นหินมีช้าง 2 เชือกทำท่าสรงน้ำให้สตรีซึ่งนั่งอยู่ตรงกลาง นักวิชาการเรียกภาพนี้ว่า “คชลักษมี” หรือ “อภิเษกศรี” ด้านล่างปรากฏสัญลักษณ์มงคลต่างๆ และมีส่วนหนึ่งเป็นเครื่องสูงประกอบอยู่ด้วย ทั้งหมดสลักเป็นคู่ๆ ได้แก่ จามร (แส้) วัชระ (สัญลักษณ์ของสายฟ้า) อังกุศะ (ขอสับช้าง) พัด ฉัตร บ่วง ส่วนภาพ ปลา สังข์ และปูรณกลศ (หม้อ) 1 ใบ
ประติมากรรมพระพิมพ์
พระพิมพ์แสดงภาพเล่าเรื่องพุทธประวัติตอนแสดงยมกปาฏิหาริย์ที่เมืองสาวัตถีเพื่อปราบเหล่าเดียรถีย์นี้ พระพุทธเจ้านั่งสมาธิบนบัลลังก์ซึ่งวางอยู่ใต้ต้นมะม่วง มีแส้กางกั้นเหนือพระเศียร แส้ปักอยู่ 2 ข้าง ถัดออกไปเป็นภาพคล้ายสถูป ทั้งสองข้างแวดล้อมด้วยภาพบุคคลจำนวนมาก คงมีทั้งบุคคลในโลกมนุษย์ และทิพยบุคคลจากสวรรค์ถัดขึ้นไปด้านบนตามกิ่งก้านของต้นมะม่วงปรากฏภาพพระพุทธนิรมิตในอิริยาบถต่างๆ 5 องค์ เบื้องล่างสุดมีตัวอักษรเขียนคาถา เย ธมฺมา ปรากฏอยู่