ค้นหางานศิลปกรรม
ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
สถาปัตยกรรมพระอุโบสถวัดทองนพคุณ
พระอุโบสถเป็นอาคารทรงไทยประเพณี ตัวอาคารก่ออิฐถือปูน หลังคาซ้อนชั้นเครื่องไม้มุงกระเบื้อง หน้าบันประดับช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ นาคสะดุ้ง สันนิษฐานว่าเป็นงานในรุ่นหลังรัชกาลที่ 3 เนื่องจากมีการประดับตกแต่งที่ใช้รูปสัญลักษณ์ต่างๆ มากยิ่งขึ้นซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะในสมัยรัชกาลที่ 4 หน้าบันพระอุโบสถซ้อน 2 ชั้น ชั้นบนเป็นรูปพานประดิษฐานพระไตรปิฎก ขนาบด้วยเชิงเทียน ชั้นล่างเป็นช่องประดับปริมากรรมรูปเทพนม โดยน่าจะมีความสอดคล้องกับภาพจิตรกรรมภายในพระอุโบสถที่เขียนภาพคัมภีร์พระไตรปิฎก ช่องประตูทางเข้าพระอุโบสถมี 3 ช่อง ซุ้มประตูช่องกลางเป็นรูปมงกุฎ อีก 2 ช่อง เป็นซุ้มยอดทรงปราสาท ซุ้มหน้าต่างช่องกลางเป็นรูปมงกุฎ อีก2ซุ้มที่ขนาบข้างเป็นรูปพัดยศ
ประติมากรรมพระพุทธมหาโลกาภินันทปฏิมากร
พระพุทธมหาโลกาภินันทปฏิมากรมีรูปแบบเฉพาะของพระพุทธรูปที่สร้างในสมัยรัชกาลที่ 3 อย่างแท้จริง กล่าวคือ พระวรกายเพรียวบาง พระพักตร์ค่อนข้างกลมกึ่งรูปไข่ ขมวดพระเกศาเล็ก พระรัศมีเป็นเปลว พระขนงโก่ง พระเนตรเรียวเล็ก พระโอษฐ์อ่อนโค้งเล็กน้อยจนเกือบเป็นเส้นตรง พระพักตร์คล้ายหุ่น ขมวดพระเกศาเป็นเม็ดเล็ก มีอุษณีษะรองรับพระรัศมีเปลว ประทับนั่งขัดสมาธิราบแสดงปางมารวิชัย นิ้วพระหัตถ์ทั้ง 4 ยาวเสมอกัน ครองจีวรห่มเฉียงเรียบไม่มีริ้ว
สถาปัตยกรรมอุโบสถวัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน
พระอุโบสถก่ออิฐถือปูน แผนผังแบบจัตุรมุข มุขด้านตะวันตกประดิษฐานพระพุทธรูปประธาน มุขด้านเหนือและใต้เชื่อมต่อเป็นแนวระเบียงคดในผังสี่เหลี่ยมล้อมรอบพระอุโบสถ หลังคาซ้อนชั้นมุงกระเบื้องเคลือบสีประดับกรอบหน้าบันด้วยช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ และนาคสะดุ้งโดยมีโครงสร้างแบบคอนกรีต หน้าบันแต่ละทิศประดับลวดลายไทยที่มีลักษณะเรียบง่าย ไม่เน้นความอ่อนช้อย
ประติมากรรมพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก
พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเป็นพระพุทธรูปยืนทรงเครื่องต้นอย่างพระมหาจักรพรรดิ พระพักตร์สงบนิ่งอย่างหุ่น พระขนงโก่ง มีอุณาโลมบนพระนลาฏ ทรงมงกุฎประกอบด้วยกรรเจียกจร พระพุทธรูปแสดงปางห้ามสมุทร หรือประทานอภัย 2 พระหัตถ์ นิ้วพระหัตถ์ยาวเสมอกัน ครองจีวรห่มเฉียง สวมกรองศอ สังวาล ทับทรวง พาหุรัด ทองพระกร พระธำมรงค์ทุกนิ้วพระหัตถ์ สายรัดพระองค์มีปั้นเหน่งรูปดอกไม้แปดเหลี่ยม ด้านล่างมีสุวรรณกระถอบห้อยอยู่เบื้องหน้า มีทั้งชายไหวชายแครง ทรงทองพระบาทและฉลองพระบาทเชิงงอน ประทับยืนบนฐานบัวคว่ำบัวหงายเหนือฐานสิงห์มีสิงห์แบก ครุฑแบกและเทวดาแบกลดหลั่นกัน
จิตรกรรมจิตรกรรมฝาผนังเรื่องพุทธประวัติ
ผนังด้านหลังพระพุทธรูปประธานเขียนภาพพระพุทธเจ้าแสดงปางมารวิชัยอยู่ภายในซุ้มเรือนแก้วทรงกลีบบัวล้อมรอบด้วยพระสาวก พรหม และประชาชน ขนาบข้างด้วยพระพุทธรูปทรงเครื่องและพระพุทธรูปลีลาผนังด้านขวามือของพระพุทธรูปประธานเป็นพระพุทธเจ้าปางประสูติ ด้านบนเขียนภาพสันดุสิตเทพบุตร ผนังด้านหน้าเขียนภาพพุทธประวัติตอนมารผจญ ผนังระหว่างหน้าต่างเขียนภาพเทพชุมนุม เหนือช่องหน้าต่างมีพระอดีตพุทธเจ้านั่งเรียงแถวกันใต้ลายพวงมาลัยและพวงอุบะ แม้การแสดงออกของฉากและตัวบุคคล เช่น หนุมาน ยักษ์ สัตว์หิมพานต์จะคงลักษณะตามแบบไทยประเพณี แต่ก็มีการแทรกรูปสัตว์และรูปบุคคลที่มีอิริยาบถ เครื่องแต่งกาย รวมถึงการจัดวางภาพตามแบบแผนสมัยปัจจุบันเข้าไปผสมผสาน
สถาปัตยกรรมอุโบสถวัดร่องขุ่น
มีสะพานข้ามไปยังอุโบสถซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมแบบไทยประเพณี ใช้โทนสีขาว เงินและทอง ตัวอาคารทั้งหมดประดับหน้าบันด้วย ช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์และองค์ประกอบสถาปัตยกรรมอื่นๆ ที่เป็นงานปูนปั้นประดับกระจกทั้งสิ้น ทั้งลายเครือเถา กระหนกเปลว ประติมากรรมรูปสัตว์ในคัมภีร์ผสมผสานกับจินตนาการของศิลปิน ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปประทับนั่งปางแสดงธรรม ตกแต่งด้วยจิตรกรรมฝาผนังพุทธประวัติที่มีการนำเสนอในรูปแบบใหม่ผสมผสานกับรูปทรงเชิงนามธรรมทั้งทางโลกและทางธรรมอุโบสถหลังนี้มีการผสมผสานหลักธรรมทางพุทธศาสนาเข้ากับทั้งตัวอาคาร ประติมากรรมและสี เช่นสีขาว หมายถึง พระบริสุทธิคุณของพระพุทธเจ้ากระจกขาว หมายถึง พระปัญญาธิคุณของพระพุทธเจ้าสะพาน หมายถึง การเดินข้ามวัฏสงสารสู่พุทธภูมิสันของสะพานซึ่งประดับด้วยรูปอสูรอมกันข้างละ 8 ตัว หมายถึง อุปกิเลส 18กึ่งกลางสะพาน หมายถึง เขาพระสุเมรุ ดอกบัวทิพย์ 4 ดอกใหญ่ตรงทางขึ้นพระอุโบสถ หมายถึง ซุ้มพระอริยเจ้า 4 คือ พระโสดาบัน พระสกิทาคามี พระอนาคามี พระอรหันต์บันไดทางขึ้น 3 ขั้น หมายถึง อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ช่อฟ้าบนสันหลังคา หมายถึง ศีล สมาธิ ปัญญา
สถาปัตยกรรมพระอุโบสถวัดพระรามเก้ากาญจนาภิเษก
พระอุโบสถของวัดพระราม 9 กาญจนาภิเษกนี้เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กมุงกระเบื้องทำจากแผ่นเหล็กสีขาว หน้าบันทำเป็นมุขประเจิดประดับปูนปั้นลายดอกพุดตาน มีตราพระบรมราชสัญลักษณ์ประจำพระองค์รัชกาลที่ 9 ปิดทองอยู่ตรงกลาง ช่อฟ้า ใบระกาเป็นปูนปั้นไม่ประดับกระจก ผนังและเสาสี่เหลี่ยมฉาบปูนเรียบทาสีขาว บานประตูหน้าต่างใช้กรอบอะลูมิเนียม เหนือประตูมีจารึกคาถาเย ธมฺมา ด้วยอักษรอริยกะ มีหลักเสมาที่มุมทั้ง 4 และแผ่นเสมาที่พื้น ที่ด้านทั้ง 4 ภายในมีเพดานไม้เรียบ ประดิษฐานพระพุทธกาญจนธรรมสถิตเป็นพระพุทธรูปประธาน มีอัครสาวก พระโมคคัลลานะและพระสารีบุตรอยู่เบื้องซ้ายและขวาตามลำดับ
สถาปัตยกรรมพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม
พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามเป็นอาคารหลังคาคลุมแบบไทยประเพณี ผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า หันหน้าไปทางทิศตะวันออกและมีกำแพงแก้วล้อมรอบส่วนหลังคาเป็นเครื่องไม้มุงกระเบื้องพื้นสีน้ำเงิน ขอบมุงกระเบื้องสีส้มและเหลือง หลังคาซ้อน 3 ชั้น 4 ตับ ปิดทองประดับกระจก ประดับช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ นาคสะดุ้ง หน้าบันทั้ง 2 ด้าน ประดับรูปพระนารายณ์ทรงครุฑ พื้นหลังประดับลายก้านขดตัวอาคารก่ออิฐถือปูน ผนังอาคารด้านนอกปิดทองประดับกระจก ลวดลายทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ ฐานโดยรอบอาคารประดับประติมากรรมรูปครุฑยุดนาค มีซุ้มประตูเรือนยอดที่ด้านหน้าและด้านหลังพระอุโบสถ ด้านละ 3 ซุ้มประตู มีประติมากรรมสิงโตสำริด 3 คู่ ประดับที่บันไดทางขึ้นด้านหน้าระเบียงโดยรอบพระอุโบสถมีเสาพาไลย่อมุมไม้สิบสองปิดทองประดับกระจก ประดับบัวแวงที่หัวเสา มีคันทวยรองรับบริเวณชายคา