ค้นหางานศิลปกรรม
ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
พระอุโบสถ วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม
คำสำคัญ : อุโบสถ, วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม
ชื่อหลัก | วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม ราชวรวิหาร |
---|---|
ประเภทงานศิลปะ | สถาปัตยกรรม |
ตำบล | ดุสิต |
อำเภอ | เขตดุสิต |
จังหวัด | กรุงเทพมหานคร |
ภาค | ภาคกลาง |
ประเทศ | ไทย |
พิกัดภูมิศาสตร์ ค่าองศาทศนิยม | Lat : 13.766563 Long : 100.514177 |
พิกัดภูมิศาสตร์ พิกัดกริด | Zone : 47 P Hemisphere : N E : 663697.88 N : 1522424.44 |
ตำแหน่งงานศิลปะ | เขตพุทธาวาส |
ประวัติการสร้าง | รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้รื้อถอนสิ่งก่อสร้างในวัดเดิมทั้งหมด แล้วปรับพื้นที่ก่อสร้างโดยทรงมอบหมายให้ เจ้าพระยาวรพงษ์พิพัฒน์ (ม.ร.ว.เย็น อิศรเสนา) เป็นผู้รับผิดชอบ กับโปรดเกล้าฯให้สร้างพระอุโบสถชั่วคราวเพื่อทำสังฆกรรมไปพลางก่อน ในส่วนพระอุโบสถถาวร และพระระเบียง โปรดเกล้าฯให้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ เสนาบดีกระทรวงโยธาธิการในขณะนั้นเป็นสถาปนิกเขียนแบบแปลนแผนผัง และเริ่มการก่อสร้างโดยมีพระยาราชสงคราม (กร หงสกุล) ดำเนินการก่อสร้าง ในการผูกลายพระราชลัญจกรเพื่อประกอบหน้าบันพระอุโบสถนั้น นอกจากสมเด็จฯเจ้าฟ้า กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์แล้ว ส่วนหนึ่งพระเจ้าบวรวงศ์เธอ กรมหมื่นวรวัฒน์ศุภากรได้ทรงช่วยเขียนแบบในกำกับของสมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ด้วย การก่อสร้างพระอุโบสถยังไม่แล้วเสร็จในสมัยรัชกาลที่ 5 ต่อมารัชกาลที่ 6 จึงทรงดำเนินการต่อโดยโปรดเกล้าฯให้ยกช่อฟ้าใบระกาหางหงส์ขึ้น และเมื่อหินอ่อนที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯให้สั่งซื้อจากประเทศอิตาลีเข้ามาถึงแล้วก็โปรดเกล้าฯให้ประดับในส่วนที่ยังค้างอยู่จนเรียบร้อย กับให้ช่างกรมศิลปากรเขียนผนังภายในพระอุโบสถด้วยสีน้ำมัน เป็นลายไทยเทพนมพุ่มข้าวบิณฑ์สีเหลืองบนพื้นขาว |
---|---|
ลักษณะทางศิลปกรรม | พระอุโบสถเป็นอาคารจตุรมุข หันหน้าไปทางทิศตะวันออก มุขด้านตะวันออกขยายยาว มุขตะวันตกเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธชินราชจำลองซึ่งเป็นประธานในพระอุโบสถ มุขด้านเหนือและใต้เชื่อมต่อกับพระระเบียงมีหลังคาโอบล้อมไปทางด้านหลังพระอุโบสถ ด้านหน้าพระอุโบสถ มีกำแพงแก้ว บนมุมกำแพงแก้วซ้าย-ขวา มีเสาคอนกรีตหัวเสาเป็นศิลาสลักรูปดอกบัวตูม คือเครื่องหมาย "สีมา" สำหรับด้านหน้า ส่วนสีมาด้านหลังพระอุโบสถ สลักรูปเสมาธรรมจักรที่แผ่นหินแกรนิตปูพื้น ภายในกำแพงแก้ว ปูหินแกรนิตสีชมพูอ่อนและสีเทา ผนังรอบพระอุโบสถด้านนอกประดับด้วยแผ่นหินอ่อนสีขาวบริสุทธิ์ มุขตะวันออกมีเสากลมหินอ่อน 4 ต้น ข้างบันไดหินอ่อนมีสิงห์สลักหินอ่อน 2 ตัว ซึ่งโปรดเกล้าฯให้ ขุนสกลประดิษฐ์ ช่างในกรมช่างสิบหมู่ เป็นผู้ปั้นแบบตามภาพที่สมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงเขียน มุขตะวันตกด้านนอก มีเสาและสิงห์เช่นเดียวกับด้านหน้า บานประตูด้านนอกติดแผ่นโลหะนูน ภาพทวารบาล ด้านในเขียนลายรดน้ำภาพเหมือนกับด้านนอก บานหน้าต่างด้านนอกติดแผ่นโลหะนูนภาพมารแบก ด้านในเขียนลายรดน้ำภาพเหมือนด้านนอก ซุ้มประตูหน้าต่างประดับกระจกสี หลังคาพระอุโบสถเป็นแบบไทยประเพณีประดับด้วยช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ มุงกระเบื้องเคลือบสีเหลือง เรียกว่ากระเบื้องกาบู ซึ่งมีลักษณะเป็นกาบโค้งครอบแผ่นรอง เชิงชายเป็นแผ่นเทพนม ซึ่งโปรดเกล้าฯให้นำกระเบื้องวัดกัลยาณมิตร ส่งไปเป็นตัวอย่างทำสีจากเมืองจีน หน้าบันพระอุโบสถโปรดเกล้าฯให้ทำเป็นตราพระราชลัญจกรที่สำคัญของแผ่นดิน ได้แก่ 1. มุขตะวันออก เป็นรูปพระนารายณ์ทรงครุฑ ซึ่งถอดจากพระราชลัญจกร "พระครุฑพาห์" ในลายมีหมู่เทวดาอัญเชิญเครื่องสูง 2. มุขตะวันตก เป็นรูปอุณาโลมในบุษบก ซึ่งถอดจากพระราชลัญจกร "มหาอุณาโลม" หรือ "มหาโองการ" 3. มุขเหนือ เป็นรูปช้างสามเศียรเชิญบุษบก ซึ่งถอดจากพระราชลัญจกร "ไอยราพต" 4. มุขใต้ เป็นรูปจักร ซึ่งถอดมาจากพระราชลัญจกร "จักรรถ" แต่เพราะพระราชลัญจกรจักรรถเหมือนกับ "พระธรรมจักร" จึงเรียกกันอีกชื่อหนึ่งว่า "พระธรรมจักร" |
ข้อมูลที่สำคัญทางวิชาการ | วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามเป็นวัดประจำพระราชวังดุสิต ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯให้สถาปนาใหม่ทั้งวัดพร้อมทั้งพระราชทานนามวัด เพื่อเป็นการผาติกรรมในคราวที่สร้างพระราชวังดุสิต แผนผังและรูปแบบพระอุโบสถเป็นตัวอย่างสำคัญของสถาปัตยกรรมแบบไทยประเพณี ที่มีการผสมผสานวัสดุในการก่อสร้างแบบตะวันตก เช่นการใช้หินอ่อนที่นำเข้าจากประเทศอิตาลี การประดับกระจกสี และมีการประดับตราสัญลักษณ์ตามแนวคิดใหม่ที่เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์และการบริหารราชการแผ่นดิน นอกจากนี้ ภายในพระอุโบสถประดิษฐานพระพุทธชินราชจำลอง และมีภาพจิตรกรรมฝาผนังรูปจอมเจดีย์หรือเจดีย์ที่สำคัญในประเทศไทย จำนวน 8 แห่ง พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯให้บรรจุพระสรีรางคารพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวไว้ที่พระแท่นรัตนบัลลังก์ของพระพุทธชินราชจำลอง ซุ้มจรนำด้านทิศตะวันตกภายนอกพระอุโบสถประดิษฐานพระพุทธรูปยืนทรงเครื่อง นามว่า "พระธรรมจักร" เพราะที่ฝ่าพระหัตถ์สลักเป็นรูปพระธรรมจักร กับโปรดเกล้าฯให้บรรจุพระอังคารสมเด็จพระเจ้ามไหยิกาเธอ กรมพระยาสุดารัตนราชประยูร ใต้ฐานพระด้วย |
ยุค | ประวัติศาสตร์ |
สมัย/รูปแบบศิลปะ | รัตนโกสินทร์ |
อายุ | พุทธศตวรรษที่ 25 |
ศาสนา | พุทธ |
ลัทธิ/นิกาย | เถรวาท |
ศาสนา/ความเชื่อที่เกี่ยวข้อง | พุทธศาสนาเถรวาท |
งานศิลปะที่เกี่ยวข้อง | การออกแบบแผนผังพระอุโบสถวัดเบญจมบพิตรฯ มีรูปแบบแผนผังที่สัมพันธ์กับพระวิหารหลวงที่ประดิษฐานพระพุทธชินราช จ.พิษณุโลก |
รูปแบบลิขสิทธิ์ | Attribution-NonCommercial-NoDerivs (CC BY-NC-ND) |
---|---|
เจ้าของสิทธิ์ | ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) |
วันที่จัดทำข้อมูล | 2015-06-15 |
ผู้จัดทำข้อมูล | พัสวีสิริ เปรมกุลนันท์ |
บรรณานุกรม | ชลธีร์ ธรรมวรางกูร, ทรงวิทย์ แก้วศรี. ประมวลเอกสารสำคัญเนื่องในการสถาปนาวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรราชวิทยาลัย, 2535 ประวัติวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม : ว่าด้วยการสถาปนา ก่อสร้างเพิ่มเติม ปฏิสังขรณ์ การพิเศษ และการเกี่ยวข้องต่าง ๆ. กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, 2543 |