ค้นหางานศิลปกรรม

ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 
 
 
 
 
 
 
แสดง 1 ถึง 3 จาก 3 รายการ, 1 หน้า
พระศากยสิงห์
กรุงเทพมหานคร
ประติมากรรมพระศากยสิงห์

พระพุทธรูปองค์นี้ประทับนั่งขัดสมาธิเพชร แสดงปางมารวิชัย พระพักตร์กลม ขมวดพระเกศาใหญ่ อุษณีษะทรงสูง ยอดอุษณีษะเป็นตุ่มกลมคล้ายดอกบัวตูม พระเนตรเปิดมองตรง พระโอษฐ์แย้ม พระหนุเป็นปม พระวรกายไม่อวบอ้วนมาก ครองจีวรห่มเฉียง ชายสังฆาฏิสั้นเหนือพระถันปลายแตกเป็นเขี้ยวตะขาบ ประทับนั่งบนฐานบัวคว่ำบัวหงายในผังแปดเหลี่ยมซึ่งหล่อติดกับพระพุทธรูป

จิตรกรรมเรื่องพระราชประวัติรัชกาลที่ 5
กรุงเทพมหานคร
จิตรกรรมจิตรกรรมเรื่องพระราชประวัติรัชกาลที่ 5

จิตรกรรมพระราชประวัติรัชกาลที่ 5 เขียนภาพเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในราชสำนักตั้งแต่ปลายรัชกาลที่ 4 ถึงกระทั่งเมื่อย้ายพระที่นั่งทรงผนวชจากในพระบรมมหาราชวังมาสร้างไว้ที่วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามในสมัยรัชกาลที่ 5 แต่ละห้องภาพปรากฏภาพพระราชพิธีที่สำคัญ เช่น พระราชพิธีโสกันต์ รวมทั้งพระราชกรณียกิจต่างๆ เช่น ภาพการเสด็จออกรับราชทูต โดยมีฉากหลังเป็นสถานที่สำคัญที่มีอยู่จริง เช่น ภาพพระที่นั่งและอาคารสำคัญต่างๆในพระบรมมหาราชวัง ภาพพระปฐมเจดีย์ พระสมุทรเจดีย์ เป็นต้น เทคนิคการเขียนภาพใช้หลักทัศนียวิทยาอย่างตะวันตกที่สมจริงและเคร่งครัดมากขึ้นกว่าจิตรกรรมในสมัยรัชกาลที่ 4 นอกจากนี้ยัง ภาพจิตรกรรมยังแสดงให้เห็นสภาพสังคมในสมัยนั้น ไม่ว่าจะเป็นภาพบ้านเรือน การแต่งกายของผู้คน การใช้เรือเป็นพาหนะสัญจร การใช้ธงชาติ มหรสพและการละเล่นต่างๆ

พระอุโบสถ วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม
กรุงเทพมหานคร
สถาปัตยกรรมพระอุโบสถ วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม

พระอุโบสถเป็นอาคารจตุรมุข หันหน้าไปทางทิศตะวันออก มุขด้านตะวันออกขยายยาว มุขตะวันตกเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธชินราชจำลองซึ่งเป็นประธานในพระอุโบสถ มุขด้านเหนือและใต้เชื่อมต่อกับพระระเบียงมีหลังคาโอบล้อมไปทางด้านหลังพระอุโบสถด้านหน้าพระอุโบสถ มีกำแพงแก้ว บนมุมกำแพงแก้วซ้าย-ขวา มีเสาคอนกรีตหัวเสาเป็นศิลาสลักรูปดอกบัวตูม คือเครื่องหมาย "สีมา" สำหรับด้านหน้า ส่วนสีมาด้านหลังพระอุโบสถ สลักรูปเสมาธรรมจักรที่แผ่นหินแกรนิตปูพื้น ภายในกำแพงแก้ว ปูหินแกรนิตสีชมพูอ่อนและสีเทา ผนังรอบพระอุโบสถด้านนอกประดับด้วยแผ่นหินอ่อนสีขาวบริสุทธิ์ มุขตะวันออกมีเสากลมหินอ่อน 4 ต้น ข้างบันไดหินอ่อนมีสิงห์สลักหินอ่อน 2 ตัว ซึ่งโปรดเกล้าฯให้ ขุนสกลประดิษฐ์ ช่างในกรมช่างสิบหมู่ เป็นผู้ปั้นแบบตามภาพที่สมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงเขียน มุขตะวันตกด้านนอก มีเสาและสิงห์เช่นเดียวกับด้านหน้าบานประตูด้านนอกติดแผ่นโลหะนูน ภาพทวารบาล ด้านในเขียนลายรดน้ำภาพเหมือนกับด้านนอก บานหน้าต่างด้านนอกติดแผ่นโลหะนูนภาพมารแบก ด้านในเขียนลายรดน้ำภาพเหมือนด้านนอก ซุ้มประตูหน้าต่างประดับกระจกสีหลังคาพระอุโบสถเป็นแบบไทยประเพณีประดับด้วยช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ มุงกระเบื้องเคลือบสีเหลือง เรียกว่ากระเบื้องกาบู ซึ่งมีลักษณะเป็นกาบโค้งครอบแผ่นรอง เชิงชายเป็นแผ่นเทพนม ซึ่งโปรดเกล้าฯให้นำกระเบื้องวัดกัลยาณมิตร ส่งไปเป็นตัวอย่างทำสีจากเมืองจีนหน้าบันพระอุโบสถโปรดเกล้าฯให้ทำเป็นตราพระราชลัญจกรที่สำคัญของแผ่นดิน ได้แก่ 1. มุขตะวันออก เป็นรูปพระนารายณ์ทรงครุฑ ซึ่งถอดจากพระราชลัญจกร "พระครุฑพาห์" ในลายมีหมู่เทวดาอัญเชิญเครื่องสูง 2. มุขตะวันตก เป็นรูปอุณาโลมในบุษบก ซึ่งถอดจากพระราชลัญจกร "มหาอุณาโลม" หรือ "มหาโองการ" 3. มุขเหนือ เป็นรูปช้างสามเศียรเชิญบุษบก ซึ่งถอดจากพระราชลัญจกร "ไอยราพต" 4. มุขใต้ เป็นรูปจักร ซึ่งถอดมาจากพระราชลัญจกร "จักรรถ" แต่เพราะพระราชลัญจกรจักรรถเหมือนกับ "พระธรรมจักร" จึงเรียกกันอีกชื่อหนึ่งว่า "พระธรรมจักร"