ค้นหางานศิลปกรรม
ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ประติมากรรมพระพุทธรูปปางมารวิชัย
พระพุทธรูปอยู่ในอิริยาบถนั่งขัดสมาธิราบปางมารวิชัยอยู่บนฐานบัวเกลี้ยงไม่ประดับลายสุนทรียภาพที่สัมพันธ์กับศิลปะเขมรในประเทศไทยแบบบายนหรือหลังบายน ได้แก่ พระพักตร์เหลี่ยม ไรพระศกเป็นแถบเหนือพระนลาฏ หยักเป็นมุมแหลมบริเวณพระกรรเจียก (ขมับ) พระอุษณีษะทรงกรวยแหลมรองรับด้วยแถวกลีบบัว พระพุทธรูปองค์นี้ครองจีวรห่มเฉียง โดยเส้นชายจีวรที่พาดผ่านพระอุระขวาตวัดเป็นเส้นโค้งอาจสัมพันธ์กับศิลปะอินเดียแบบปาละไม่มากก็น้อย ชายสังฆาฏิหรือชายจีวรพาดผ่านพระอังสาซ้ายยาวจรดพระนาภี พระหัตถ์ขวาวางอยู่บริเวณพระชงฆ์ แลดูใหญ่และเทอะทะ เป็นลักษณะหนึ่งของพระพุทธรูปยุคก่อนกรุงศรีอยุธยา
ประติมากรรมพระพุทธรูป
แผ่นเงินดุนนูนพระพุทธรูปกลุ่มนี้ล้วนอยู่ไหนสภาพชำรุดมากบ้างน้อยบ้างต่างกันไป บ้างเหลือแต่พระเศียร บ้างเหลือแต่พระวรกาย มีทั้งพระพุทธรูปยืนและพระพุทธรูปนั่ง รูปแบบโดยรวมแสดงให้เห็นถึงความเป็นศิลปะหริภุญชัย ขณะเดียวกันก็แสดงความเกี่ยวข้องกับศิลปะพม่าสมัยพุกามด้วย เช่น การทำพระพุทธรูปสวมมงกุฏทรงเทริดขนนก การนั่งขัดสมาธิเพชร
ประติมากรรมเศียรพระพุทธรูป
เศียรพระพุทธรูปองค์นี้มีรูปพระพักตร์ค่อนข้างยาว รูปแบบอันเป็นเอกลักษณ์ของประติมากรรมดินเผาศิลปะหริภุญชัย ได้แก่ พระขนงต่อเป็นปีกกาและเป็นสันนูน พระเนตรโปน เปลือกพระเนตรหลี่ลงต่ำเพียงครึ่งหนึ่ง พระนาสิกบาน พระโอษฐ์แบะ มีพระมัสสุ (หนวด) มีการร่องเพื่อเน้นเส้นขอบตามส่วนต่างๆ ที่กล่าวถึงข้างต้น มีพระอุณาโลมกลางพระนลาฏ พระเกศาขมวดเป็นวงก้นหอย มีไรพระศกเป็นแถบนูน
ประติมากรรมพระพุทธรูป
พระพุทธรูปสำริดองค์นี้ชำรุดมาก พบไม่ครบทุกส่วน โดยพบเพียงพระเศียร พระวรกายช่วงบน พระหัตถ์ และพระบาท ลักษณะเด่นของพระพุทธรูปองค์นี้ที่แสดงความเกี่ยวข้องกับศิลปะก่อนกรุงศรีอยุธยาหรืออู่ทองทางภาคกลาง ได้แก่ พระพักตร์สี่เหลี่ยม ในขณะที่ส่วนอื่นๆ แสดงการสืบเนื่องจากงานศิลปะหริภุญชัยที่สร้างขึ้นก่อนหน้าเอง เช่น พระขนงต่อกันเป็นปีกกสและคมเป็นสัน มีพระมัสสุ (หนวด) เหนือพระโอษฐ์ พระเนตรหลี่ต่ำเพียงครึ่งหนึ่ง ครองจีวรห่มคลุมไม่มีริ้ว พระหัตถ์ทั้งสองที่หลุดแยกออกจากพระวรกายแล้วทำปางแสดงธรรม อันแสดงถึงร่องรอยความสัมพันธ์กับศิลปะทวารวดีภาคกลาง
ประติมากรรมพระพุทธรูปปางมารวิชัย
พระพุทธรูปองค์นี้แสดงปางมารวิชัยประทับนั่งขัดสมาธิราบบนฐานหน้ากระดานเกลี้ยง พระพักตร์รูปไข่ ขมวดพระเกศาปานกลาง พระรัศมีเป็นเปลวไม่สูงมาก พระขนงโก่ง พระเนตรเหลือบต่ำหรี่เรียวยาวปลายตวัดขึ้น พระนาสิกโด่งงุ้ม พระโอษฐ์หยักโค้งเป็นคลื่น พระวรกายสมส่วน สังฆาฏิยาวจรดพระนาภีปลายแยกเป็นเขี้ยวตะขาบ นิ้วพระหัตถ์ยาวไม่เท่ากันและพระดัชนีกระดกขึ้นเล็กน้อยพระพุทธรูปองค์นี้มีจารึกอักษรไทยสมัยรัตนโกสินทร์กำกับว่า “สังคโลก” เขียนขึ้นสมัยรัชกาลที่ 1 แสดงว่าพระพุทธ์รูปองค์นี้ถูกอัญเชิญลงมาจากสวรรคโลกหรือศรีสัชนาลัยในคราวที่มีการอัญเชิญพระพุทธรูปมาจากสุโขทัย
ประติมากรรมพระพุทธรูปปางมารวิชัย
พระพุทธรูปอยู่ในอิริยาบถนั่งขัดสมาธิราบบนฐานหน้ากระดาน พระหัตถ์ทำปางมารวิชัย ลักษณะเด่นซึ่งเป็นแบบแผนของพระพุทธรูปสุโขทัยหมวดใหญ่ ได้แก่ พระพักตร์เป็นวงรูปไข่ พระขนงโก่ง พระเนตรเหลือบต่ำ พระนาสิกโด่งงุ้ม พระโอษฐ์งามสมส่วน เม็ดพะศกใหญ่ขมวดเป็นวงก้นหอย พระอุณีษะนูน พระรัศมีเปลวไฟ ครองจีวรห่มเฉียง เรียบไม่มีริ้ว ชายสังฆาฏิเป็นแถบเล็กและยาวจรดพระนาภี ปลายหยักเป็นริ้วดังที่เรียกว่าเขี้ยวตะขาบ ที่ฐานมีจารึกสมัยสุโขทัยระบุชื่อและความปรารถนาของผู้สร้าง
ประติมากรรมพระพุทธรูปปางมารวิชัย
พระพุทธรูปนั่งขัดสมาธิราบบนฐานหน้ากระดาน พระหัตถ์ทำปางมารวิชัย จุดสังเกตหลักที่แสดงความเกี่ยวข้องกับพระพุทธรูปล้านนาแบบเชียงแสนสิงห์หนึ่ง อันเป็นเหตุผลให้กำหนดเรียกพระพุทธรูปองค์นี้ว่าหมวดวัดตะกวน ได้แก่ พระพักตร์กลมและคางนูนเป็นปม สำหรับส่วนอื่นๆ ที่แสดงความเกี่ยวข้องกับพระพุทธรูปสุโขทัยหมวดใหญ่ทั่วไป ได้แก่ พระรัศมีเปลวไฟ ทั้งนี้แลดูแข็งกระด้างกว่าพระรัศมีในศิลปะสุโขทัย ครองจีวรห่มเฉียง เรียบไม่มีริ้ว ชายจีวรหรือชายสังฆาฏิพาดผ่านพระอังสาซ้ายยาวจรดพระนาภี ปลายเป็นริ้วซึ่งนิยมเรียกว่าเขี้ยวตะขาบ ขัดสมาธิราบ นั่งบนฐานหน้ากระดาน
ประติมากรรมพระพุทธรูปปางมารวิชัย
พระพุทธรูปปูนปั้นองค์นี้นั่งขัดสมาธิราบบนฐานบัว พระหัตถ์ทำปางมารวิชัย พระพักตร์กึ่งกลมกึ่งรีอาจแสดงถึงการคลี่คลายระหว่างพระพักตร์กลมแบบพระพุทธรูประยะแรกกับพระพักตร์วงรูปไข่แบบหมวดใหญ่ พระขนงโก่ง พระเนตรเหลือบต่ำ พระนาสิกโด่ง พระโอษฐ์สมส่วน เม็ดพระศกเล็ก พระพุทธรูปครองจีวรห่มเฉียง ไม่มีริ้ว ชายจีวรหรือสังฆาฏิที่พาดผ่านพระอังสาซ้ายมีรูปแบบพิเศษ กล่าวคือ ทำริ้วจีวรซ้อนทับกันตลอดแนว แตกต่างไปจากพระพุทธรูปหมวดใหญ่ทั่วไปที่ทำเป็นจีวรสี่เหลี่ยมที่มีหยักริ้วเพียงส่วนปลาย