ค้นหางานศิลปกรรม
ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ประติมากรรมพระพุทธสิหิงค์
พระพุทธรูปองค์นี้ประทับนั่งขัดสมาธิราบ แสดงปางสมาธิ พระพักตร์รูปไข่ ขมวดพระเกศาเล็ก อุษณีษะทรงสูง รัศมีเป็นเปลวไฟค่อนข้างสูง พระเนตรหรี่เหลือบต่ำ พระโอษฐ์แย้ม พระหนุเป็นปม พระวรกายสมส่วน ครองจีวรห่มเฉียง ชายสังฆาฏิแผ่นใหญ่ยาวถึงพระนาภีปลายแตกเป็นเขี้ยวตะขาบ ประทับนั่งบนฐานบัวหงายที่มีลายกลีบบัวขนาดใหญ่

ประติมากรรมพระพุทธรูปปางกดรอยพระบาท
พระพุทธรูปองค์ประทับยืนในอิริยาบถลีลา พระพักตร์เล็ก ขมวดพระเกศาใหญ่ อุษณีษะทรงสูงอย่างมาก ยอดอุษณีษะเป็นตุ่มกลมคล้ายดอกบัวตูม พระเนตรเหลือบต่ำ พระโอษฐ์แย้ม พระวรกายเพรียวบาง ชายสังฆาฏิยาวจรดพระนาภีปลายตัดตรง พระกรทั้งสองข้างปล่อยลงไปตรงๆ พระบาทขวากดประทับลงบนฐานที่มีรอยพระพุทธบาทปรากฏอยู่ 3 รอย

ประติมากรรมหุ่นวังหน้า
โครงหุ่นแกะเหลาด้วยไม้เนื้ออ่อนที่มีน้ำหนักเบาคว้านเจาะให้กลวงตลอดลำตัวเพื่อร้อยเชือกสำหรับชักให้อวัยวะบางส่วนเคลื่อนไหวได้หัวหุ่นโกลนด้วยไม้เนื้ออ่อนเช่นเดียวกับตัวหุ่นแล้วปั้นเสริมรายละเอียดบนใบหน้าด้วยรักปิดกระดาษเขียนสีตัดเส้นวิธีเดียวกับหัวโขนส่วนคอของหุ่นมีก้านไม้เล็กๆ ต่อยาวลงไปทางช่องกลวงกลางลำตัวสำหรับบังคับหุ่นให้หันหน้าไปมาได้ขณะที่เชิดอวัยวะส่วนต่างๆของหุ่นยึดด้วยเชือกเส้นเล็กๆมีสายเชือกสำหรับชักหุ่นโดยปลายสายชักมีห่วงสำหรับคนเชิดสอดนิ้วบังคับให้หุ่นเคลื่อนไหวหุ่นตัวพระที่สำคัญเช่นพระรามสีเขียวสวมชฎายอดบัดเครื่องประดับศีรษะหุ่นตัวพระมีทั้งชฎาเครื่องยอดและสวมกะบังหน้าประกอบกรรเจียกจอน เครื่องแต่งกายประกอบด้วยอินทรธนูสังวาลตาบทิศทับทรวงสวมสนับเพลาทับด้วยผ้าโจงมีผ้าห้อยหน้าผ้าห้อยข้างการแต่งกายของตัวพระคล้ายกับโขนหุ่นตัวนาง หากเป็นหญิงสูงศักดิ์เครื่องประดับศีรษะจะสวมชฎาหากเป็นยักษ์สวมรัดเกล้ายักษ์ที่มีศักดิ์ใช้รัดเกล้ายอดส่วนนางกำนัลใช้รัดเกล้าเปลว แต่งกายยืนเครื่อง นุ่งผ้าจีบยาวถึงข้อเท้า ห่มสไบสะพักสองบ่า สวมเครื่องประดับต่างๆ เช่นเดียวกับการแสดงโขนหุ่นตัวยักษ์มีการกำหนดศิราภรณ์ให้มียอดแตกต่างกันและมีสีกายรูปแบบของปากตาและอาวุธแตกต่างกัน โดยมีลักษณะเช่นเดียวกับการแสดงโขน เช่น ทศกัณฐ์กายสีเขียว หน้ายักษ์ตาโพลงปากแสยะเขี้ยวโง้ง เป็นต้น เช่นเดียวกับหุ่นลิงที่มีการกำหนดสีกายและลักษณะหัวโขนแตกต่างกันในแต่ละตัว

ประติมากรรมเรือพระที่นั่งอนันตนาคราช
โขนเรือพระที่นั่งอนันตนาคราชเป็นรูปนาค 7 เศียร กลางลำทอดบุษบกสำหรับเชิญผ้าพระกฐินหรือประดิษฐานพระพุทธรูปสำคัญ ลำเรือภายนอกทาสีเขียว ท้องเรือภายในทาสีแดง

ประติมากรรมเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์
โขนเรือเป็นรูปหงส์แกะสลักลวดลายกระหนก ลงรักปิดทองประดับกระจกลำตัวเรือทอดยาวคือส่วนตัวหงส์ ลำเรือด้านนอกทาสีดำภายในทาสีแดงกลางลำเรือทอดบัลลังก์กัญญาและกั้นพระวิสูตรสำหรับเป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์หรือพระบรมวงศานุวงศ์ เมื่อมีการพระราชพิธีจะประดับปลายปากหงส์โขนเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ด้วยพู่ทำด้วยขนจามรีซึ่งนำมาจากประเทศเนปาลมีลักษณะเป็นขนสีขาวนุ่มละเอียด ปลายพู่เป็นแก้วผลึก

สถาปัตยกรรมเรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9
โขนเรือเป็นประติมากรรมรูปพระนารายณ์ 4 กร ทรงเทพศัตราได้แก่ ตรี คฑา จักร สังข์ ทรงเครื่องภูษิตาภรณ์และมงกุฎยอดชัย ประทับยืนเหนือครุฑ ไม้หัวเรือแกะสลักปิดทองร่องชาดประดับกระจกสีขาบ พื้นลำเรือทาสีแดง ลำเรือประดับลายก้านขดกระหนกเทศ กลางลำเรือประดับบัลลังก์กัญญา ท้ายเรือพระที่นั่งตลอดปลายประดับลวดลายกระหนกแทนขนปีกและหางครุฑ

สถาปัตยกรรมพระที่นั่งสุทไธสวรรย์ปราสาท
พระที่นั่งสุทไธสวรรย์ปราสาทเป็นอาคารก่ออิฐถือปูนแบบจัตุรมุข โดยมีมุขด้านเหนือและใต้ที่ขยายให้ยาวกว่ามุขตะวันออกและตะวันตก ด้านหน้าที่มุขตะวันออกมีสีหบัญชรสำหรับเสด็จออกมหาสมาคม ด้านหลังของพระที่นั่งใช้บันไดประชิดซึ่งเป็นบันไดที่ขนานไปกับตัวอาคารและมีราวบันไดเพียงข้างเดียวสำหรับเป็นบันไดขึ้นสู่พระที่นั่ง โดยมีช่องประตูเตี้ยๆ ใต้บันไดเพื่อเข้าสู่ใต้ชั้นต่ำของพระที่นั่ง หลังคาซ้อนชั้นประกอบด้วยเครื่องไม้มุงกระเบื้อง 2 สี ประดับช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ นาคสะดุ้ง หน้าบันไม้แกะสลักปิดทองประดับกระจกสี ส่วนกลางของหลังคาจัตุรมุขประดับเครื่องยอดแบบพระมหาปราสาท

สถาปัตยกรรมพระที่นั่งพุทไธสวรรย์
พระที่นั่งพุทไธสวรรย์เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนในผังสี่เหลี่ยมผืนผ้า ตัวอาคารยกพื้นสูง มีประตูทางเข้าด้านหน้า 3 ช่อง ซุ้มประตูทรงบรรพแถลง มีเสาพาสี่เหลี่ยมโดยรอบอาคารและมีคันทวยไม้แกะสลักปิดทองรองรับชายคา เครื่องหลังคาประดับด้วยเครื่องไม้มุงกระเบื้องสีส้ม หลังคาซ้อนชั้นประดับช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ มีคอสองหรือผนังที่คั่นจังหวะหลังคาออกเป็น 2 ส่วน หน้าบันพระที่นั่งทำด้วยไม้แกะสลักรูปพระพรหมสถิตในวิมาน 3 หลัง แวดล้อมด้วยลายกระหนกใบไม้ม้วนและเทพนม ปิดทองประดับกระจก