ค้นหางานศิลปกรรม
ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
สถาปัตยกรรมปราสาทประธานพิมาย
ปราสาทประธานหรือปรางค์ประธานสร้างจากหินทรายสีเทา หันหน้าไปทางทิศใต้ องค์ประกอบสำคัญได้แก่ เรือนธาตุอยู่ในผังเพิ่มมุม ด้านเหนือ ตะวันออก และตะวันตกของเรือนธาตุเป็นมุขทางเข้าสู่ครรภคฤหะที่อยู่ภายใน ส่วนด้านใต้เป็นอันตราละเชื่อมต่อกับมณฑปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีประตูทางเข้าสู่มณฑปทางด้านใต้ (ในอดีตทางด้านนี้น่าจะมีรูปเคารพ จึงไม่อาจเข้าไปภายในได้จริง) ตะวันออก และตะวันตก ประดับบราลีที่สันหลังคามุข อันตราละ และมณฑปหลังคาของเรือนธาตุเป็นชั้นซ้อนลดหลั่นกัน แต่ละชั้นจำลองย่อส่วนจากเรือนธาตุ ประดับด้วยบรรพแถลงและนาคปัก (กลีบขนุน) ยอดสุดเป็นกลศ นภศูลที่เคยมีอยู่พักหายไปแล้ว ห้องครรภคฤหะที่อยู่ในเรือนธาตุประดิษฐานพระพุทธรูปนาคปรกแบบายน จึงไม่ใช่องค์ดั้งเดิมที่ประดิษฐานพร้อมการสร้างปราสาทประธาน มีรางน้ำมนต์หรือท่อโสมสูตรไหลออกทางมุมทิศตะวันออกเฉียงเหนือ
สถาปัตยกรรมปราสาทพิมาย
ปราสาทพิมายตั้งอยู่ศูนย์กลางเมืองพิมาย หันหน้าไปทางทิศใต้ สิ่งก่อสร้างสำคัญลำดับจากด้านหน้าไปยังปราสาทประธานมีดังนี้1. ชาลานาคราชในแผงผังกากบาท ด้านตะวันตกเฉียงใต้ของชาลานาคราชมีอาคารสี่เหลี่ยม 1 หลัง เรียกกันในปัจจุบันว่า พลับพลาเปลื้องเครื่อง 2. ถัดจากชาลานาคราชเป็นโคปุระและกำแพงล้อมรอบศาสนสถาน โคปุระอยู่ในผังกากบาท ประจำอยู่กึ่งกลางด้านทั้งสี่3. ถัดจากโคปุระทิศใต้ไปเป็นชาลาทางเดินยกพื้น ชาลานี้เชื่อมต่อโคปุระทิศใต้ของกำแพงล้อมรอบศาสนสถานกับโคปุระทิศใต้ของระเบียงคด เดิมทีมีหลังคาเครื่องไม้มุงกระเบื้องคลุมอยู่4. พื้นที่ระหว่างกำแพงล้อมรอบศาสนสถานกับระเบียงคดมีบรรณาลัย 2 หลัง อยู่ทางพื้นที่ด้านตะวันตก นอกจากนี้ยังมีสระน้ำ 4 สระอยู่ที่มุมทั้งสี่ของกำแพงล้อมรอบศาสนสถานด้วย5. ระเบียงคดล้อมรอบพื้นที่ศูนย์กลางอันเป็นที่ตั้งปราสาทประธาน มีโคปุระแผนผังกากบาทอยู่ที่ด้านทั้งสี่ 6. ปราสาทประธานตั้งอยู่กลางศาสนสถาน ก่อด้วยหินทรายสีเทาเป็นวัสดุหลัก หันหน้าไปทางใต้ รอบๆ ปราสาทประธานมีอาคารดังนี้ ด้านตะวันออกเฉียงใต้มีปรางค์พรหมทัต ด้านตะวันตกเฉียงใต้มีหอพราหมณ์และปรางค์หินแดง ด้านตะวันออกมีส่วนฐานของอาคาร 1 หลัง น่าจะเป็นพลับพลาโถง
สถาปัตยกรรมปรางค์แขก
ปรางค์แขกเป็นปราสาทอิฐ 3 หลังวางเรียงกันตามแนวเหนือใต้ หันหน้าไปทางทิศตะวันออก หลังกลางมีความสูงและใหญ่กว่าอีก 2 หลัง จากการขุดตรวจโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สฤษดิ์พงศ์ ขุนทรง ได้พบว่าปราสาททั้งสามหลังตั้งอยู่บนฐานไพทีเดียวกันปราสาททั้ง 3 หลังมีรูปแบบทำนองเดียวกัน คือ แผนผังเพิ่มมุม ทางด้านตะวันออกเป็นประตูสู่ครรภคฤหะ ผนังด้านเหนือ ใต้ และตะวันตก เป็นประตูหลอก เหนือเรือนธาตุเป็นหลังคาชั้นซ้อนลดหลั่นกัน ปูนฉาบหลุดล่วงออกไปแล้วเป็นส่วนใหญ่ ทางด้านหน้าหรือทิศตะวันออกของปราสาทหลังกลางมีวิหารก่ออิฐผังสี่เหลี่ยมผืนผ้า ทำซุ้มประตูทรงโค้งแหลมหรือ Pointed Arch ทางด้านใต้ของวิหารมีอาคารที่เชื่อว่าเป็นถังเก็บน้ำตั้งอยู่
สถาปัตยกรรมพระที่นั่งดุสิตสวรรค์ธัญญมหาปราสาท
พระที่นั่งองค์นี้หันหน้าไปทางทิศตะวันออก สร้างด้วยอิฐเป็นวัสดุหลัก ฉาบปูน แบ่งพื้นที่ออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกคือพื้นที่ด้านหน้ามีลักษณะเป็นห้องโถงสี่เหลี่ยมผืนผ้า ผนังเจาะช่องประตูและหน้าต่างทางด้านตะวันออก เหนือ และใต้ โดยรูปทรงของช่องเหล่านี้เป็นแบบโค้งแหลมหรือ Pointed Arch หลังคาที่คลุมพื้นที่ส่วนนี้สันนิษฐานว่าเป็นทรงจั่ว โครงทำจากเครื่องไม้มุงด้วยกระเบื้องซึ่งได้พังทลายไปหมดแล้ว ส่วนที่สองคือพื้นที่ด้านหลัง เดิมทีส่วนนี้เคยมี 2 ชั้น โดยพื้นชั้นที่สองทำจากไม้จึงสูญสลายผุพังไปหมด เหลือให้เห็นเพียงแนวเสาอิฐรับโครงสร้างและแท่นฐานใหญ่ที่ตั้งอยู่ตรงกลาง ตรงกลางของผนังด้านตะวันออกชั้นสองมีสีหบัญชร เป็นที่ประทับของสมเด็จพระนารายณ์ในยามออกว่าราชการ ส่วนด้านข้างของผนังตะวันออกเป็นช่องประตู มีบันไดทอดลงไปสู่ห้องโถงส่วนแรก หลังคาของส่วนนี้คงเป็นยอดมหาปราสาท
สถาปัตยกรรมรัตนเจดีย์
รัตนเจดีย์เป็นเจดีย์ทรงปราสาทยอดระฆัง สร้างด้วยอิฐ ฉาบปูน ประดับตกแต่งด้วยปูนปั้น แผนผังแปดเหลี่ยม ส่วนฐานค่อนข้างชำรุด ส่วนกลางเป็นเรือนธาตุ แต่ละด้านมีพระพุทธรูปยืนอยู่ภายในซุ้ม มุมทั้งแปดของเรือนธาตุตกแต่งด้วยเสาอิง ถัดขึ้นไปเป็นชั้นซ้อนลดหลั่นกันต่อด้วยองค์ระฆัง ยอดสุดพังทลายลงแล้ว
สถาปัตยกรรมเจดีย์กู่กุด
เจดีย์กู่กุดเป็นเจดีย์ทรงปราสาทผังสี่เหลี่ยมก่อด้วยศิลาแลง ตกแต่งด้วยปูนปั้น มีองค์ประกอบสำคัญคือ เรือนธาตุในผังสี่เหลี่ยมซ้อนลดหลั่นกัน 5 ชั้น โดยชั้นล่างมีขนาดใหญ่ที่สุด จากนั้นค่อยๆลดขนาดลงไปจนถึงชั้นที่ห้าซึ่งมีขนาดเล็กที่สุดเรือนธาตุแต่ละชั้นมีพระพุทธรูปยืนประดิษฐานอยู่ภายในซุ้มด้านละ 3 ซุ้ม รวม 4 ด้าน ทำให้มีซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูปในแต่ละชั้น 12 องค์ รวม 5 ชั้นเป็น 60 องค์ มุมทั้งสี่ของเรือนธาตชั้นที่ 1 -4 ประดับด้วยสถูปิกะ ถัดขึ้นไปจากเรือนธาตุชั้นที่ห้าเป็นปล้องไฉนในผังสี่เหลี่ยม ยอดสุดหักพังลงแล้ว
สถาปัตยกรรมซุ้มประตูโขง วัดพระธาตุลำปางหลวง
ซุ้มประตูโขงก่อด้วยอิฐฉาบปูน ช่องทางเข้ามีลักษณะเป็นวงโค้ง ตัวอาคารอยู่ในผังยกเก็จ ส่วนยอดของโขงประกอบด้วยชุดหลังคาลาดซ้อนชั้นลดหลั่นกันในผังยกเก็จ ประดับลวดลายปูนปั้นรูปนาคที่หน้าบัน ประดับมุมอาคารด้วยลวดลายปูนปั้นที่เรียกว่า ลายเครือล้านนา ในตำแหน่งกาบบน กาบล่าง ประจำยามอก ซึ่งมีขนาดใหญ่ ลักษณะคล้ายลายฉลุโปร่ง ตัวลายประกอบด้วยลายคดโค้ง มีลายดอกโบตั๋นประกอบด้วยก้านใบ ลวดลายเหล่านี้ได้รับอิทธิพลจากเครื่องถ้วยจีนและเป็นที่นิยมในการประดับสถาปัตยกรรมในล้านนา โดยเฉพาะในช่วงพุทธศตวรรษที่ 21
สถาปัตยกรรมพระธาตุลำปางหลวง
พระธาตุลำปางหลวงเป็นเจดีย์ทรงกลมก่ออิฐหุ้มด้วยทองจังโก องค์ประกอบสำคัญลำดับจากส่วนฐานถึงส่วนยอดได้ดังนี้ ฐานบัวสี่เหลี่ยมเพิ่มมุมขนาดใหญ่ ซึ่งออกแบบคล้ายฐานบัวซ้อนกันสองชั้นแบบที่นิยมในล้านนาช่วงพุทธศตวรรษที่ 20-21 ถัดขึ้นไปเป็นบัวถลาซ้อนลดหลั่นกัน 3 ชั้น ซึ่งเป็นลักษณะของสุโขทัย องค์ระฆังกลมซึ่งตกแต่งด้วยเส้นรัดอกดุนนูน ถัดขึ้นไปเป็นแกนปล้องไฉน ปล้องไฉน ปลี และฉัตร