ค้นหางานศิลปกรรม

ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 
 
 
 
 
 
 

ปราสาทพนมรุ้ง

คำสำคัญ : ปราสาทหิน, ปราสาทเขมร, ปราสาทพนมรุ้ง

ชื่อเรียกอื่น-
ชื่อหลักปราสาทพนมรุ้ง
ชื่ออื่น-
ประเภทงานศิลปะสถาปัตยกรรม
ตำบลตาเป๊ก
อำเภอเฉลิมพระเกียรติ
จังหวัดบุรีรัมย์
ภาคภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ประเทศไทย
พิกัดภูมิศาสตร์
ค่าองศาทศนิยม
Lat : 14.531947
Long : 102.940271
พิกัดภูมิศาสตร์
พิกัดกริด
Zone : 48 P
Hemisphere : N
E : 278047.41
N : 1607559.68
ตำแหน่งงานศิลปะยอดภูเขาพนมรุ้ง

ประวัติการสร้าง

จากรูปแบบทางศิลปกรรมของปราสาทพนมรุ้งซึ่งเป็นศิลปะแบบนครวัด แต่ขณะเดียวกันก็มีรูปแบบบางประการที่สืบต่อจากศิลปะแบบบาปวน จึงทำให้นักวิชาการกำหนดอายุศาสนสถานหลังนี้ไว้ราวครึ่งหลังของพุทธศตวรรษที่ 17 ไม่มีข้อมูลจากจารึกระบุชื่อผู้สร้าง แต่สันนิษฐานกันว่างานส่วนใหญ่คงอยู่ภายใต้การอุปถัมภ์ของท่านนเรนทราทิตย์ เชื้อสายแห่งราชวงศ์มหิธรปุระ เพราะจารึกที่พบจากปราสาทพนมรุ้งกล่าวสรรเสริญท่านไว้มาก และยังกล่าวว่าท่านได้บวชเป็นฤาษีอยู่ที่ศาสนสถานแห่งนี้

อย่างไรก็ตาม ปราสาทพนมรุ้งที่ท่านนเรนทราทิตย์ให้สร้างขึ้นนี้มิใช่หลังที่เก่าที่สุด เพราะได้พบปราสาทอิฐ 2 หลัง ทางด้านเหนือของปราสาทประธาน กำหนดอายุจากเสาประดับกรอบประตูได้ราวครึ่งหลังของพุทธศตวรรษที่ 15 และปรางค์น้อยซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของปราสาทประธานมีลวดลายแบบบปาวน จึงกำหนดอายุได้ราวปลายพุทธศตวรรษที่ 16 จึงแสดงให้เห็นว่าก่อนหน้าที่ท่านนเรนทราทิตย์จะสร้างปราสาทพนมรุ้งให้ใหญ่โตในแบบที่เห็นในปัจจุบันนั้น ที่แห่งนี้เคยเป็นศาสนสถานมาก่อนหน้านั้นแล้ว
ประวัติการอนุรักษ์

ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 52 ตอนที่ 75 วันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2478

ปราสาทหลังนี้ได้รับการบูรณะโดยมีประสบการณ์จากการบูรณะปราสาทพิมายมาก่อน

ในปีพ.ศ. 2514 ได้รับงบประมาณ 500,000 บาท ได้มีการเตรียมการสำหรับการบูรณะ เริ่มงานจริงในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2515 เริ่มลำเลียงหินที่หล่นรอบๆ ปราสาทประธานออกไปเรียงด้านนอก ขุดแต่งลานชั้นในพร้อมปรับพื้นที่ เริ่มบูรณะปราสาทน้อยด้วยวิธีอนัสติโลซิส งานครั้งนี้หยุดในเดือนกันยายน พ.ศ. 2515

ปีพ.ศ. 2516 ได้รับงบประมาณมาอีก 1,000,000 บาทโดยเริ่มปฏิบัติงานในเดือนมกราคม โดยขุดลอกและขุดบูรณะสระน้ำใหญ่ รื้อหินจากปรางค์น้อยจนถึงฐานรากและเสริมความมั่นคงด้วยคอนกรีตเสริมเหล็กทุกชั้นหินจนแล้วเสร็จ ขุดแต่งฐานพลับพลา ทางเดินโบราณระหว่างบันไดนาคถึงฐานพลับพลา ขุดแต่งและบูรณะรางระบายน้ำโบราณ เริ่มยกหินมุมปราสาทประธานด้านทิศตะวันตก เหนือและใต้ และที่มณฑปด้านตะวันออก ก่อนจะหยุดพักการบูรณะในเดือนกันยายน

ปีพ.ศ. 2517 ได้รับงบประมาณมาอีก 1,000,000 บาทโดยเริ่มปฏิบัติงานเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2517 เสริมความมั่นคงฐานรากมณฑปและมุขปราสาทประธาน เรียงหินปราสาทประธานกลับเข้าที่เดิมพร้อมเสริมความมั่นคงทุกชั้นหิน เริ่มบูรณะทางเดินด้านล่างระหว่างบันไดนาคและฐานพลับพลา ก่อนจะหยุดการบูรณะในเดือนกันยายน

ในปีพ.ศ. 2518 ได้รับงบประมาณมาอีก 1,000,000 บาทโดยเริ่มปฏิบัติงานเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2518 เรียงหินปราสาทประธานกลับเข้าที่เดิมพร้อมเสริมความมั่นคง หล่อเสานางเรียงเพิ่มเติมและนำมาประดับ 2 ข้างทางเดิน ขุดแต่งบันไดนาคบางส่วน

ต่อมา พ.ศ. 2520 โครงการบูรณะปราสาทพนมรุ้งได้รับการบรรจุเข้าแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 4 ใช้ชื่อว่า โครงการอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง เปิดเป็นทางการเมือ พ.ศ. 2531 โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธาน
ลักษณะทางศิลปกรรม

ปราสาทพนมรุ้งเป็นศาสนสถานขนาดใหญ่ ตั้งอยู่บนยอดเขาพนมรุ้ง หันหน้าไปทางทิศตะวันออก สิ่งก่อสร้างสำคัญลำดับจากด้านหน้าสุดหรือด้านตะวันออกไปยังปราสาทประธานมีดังนี้

1. โคปุระแผนผังกากบาท เดิมทีคงเป็นเครื่องไม้จึงสูญสลายไปหมดแล้ว เหลือแต่เพียงฐานศิลาแลง

2. พลับพลาหรือศาลาเปลื้องเครื่อง ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของโคปุระ

3. ถัดจากโคปุระเป็นทางดำเนิน สองข้างเรียงรายด้วยเสานางเรียง ปลายสุดของทางดำเนินเป็นชาลานาคราชแผนผังกากบาท

4. ถัดจากชาลานาคราชเป็นชุดขั้นบันได 5 ชุด มุ่งสู่ยอดพนมรุ้งอันเป็นที่ตั้งของปราสาทประธานและสิ่งก่อสร้างสำคัญอื่นๆ

5. พื้นที่ด้านตะวันออกนอกแนวระเบียงคดมีฐานของอาคารหลังคาคลุม เข้าใจว่าเป็นอาคารโถง ใช้ไม้เป็นวัสดุหลักจึงสูญสลายไปตามกาลเวลา พบเศษกระเบื้องตกอยู่จำนวนมากจึงสันนิษฐานว่าอาคารนี้มุงด้วยกระเบื้อง รูปแบบของอาคารเป็นลักษณะระเบียงทางเดินที่ตัดไขว้กัน ทำให้เกิดหลุม 4 หลุม ทางเดินนี้เชื่อมต่อเข้ากับระเบียงโถงที่เคยล้อมรอบระเบียงหินทราย ปัจจุบันระเบียงโถงเหลือแต่ฐานเช่นกัน

6. ระเบียงคดหินทรายและศิลาแลงล้อมรอบปราสาทประธานและสิ่งก่อสร้างอื่นๆ มีโคปุระหรือซุ้มประตูที่กลางด้านทั้งสี่

7. ปราสาทประธานหินทรายตั้งอยู่กลางพื้นที่ที่ล้อมรอบด้วยระเบียงคด หันหน้าไปทางทิศตะวันออก รอบๆปราสาทประธานมีสิ่งก่อสร้างต่างๆ คือ ทางด้านเหนือมีปราสาทอิฐ 2 หลัง ทางด้านตะวันตกเฉียงใต้มีปรางค์น้อย ทางด้านตะวันออกเฉียงเหนือและตะวันออกเฉียงใต้มีอาคารสี่เหลี่ยมผืนผ้าหรือบรรณาลัย
ข้อมูลที่สำคัญทางวิชาการ

1. ปราสาทพนมรุ้งเป็นศาสนสถานขนาดใหญ่แห่งหนึ่งในสายวัฒนธรรมเขมรที่พบในประเทศไทย ตั้งตระหง่านอยู่บนเส้นทางโบราณระหว่างเมืองพระนครกับเมืองพิมาย ซึ่งน่าจะเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ปราสาทพนมรุ้งมีความสำคัญ

2. รูปแบบศิลปกรรมแสดงให้เห็นว่าปราสาทพนมรุ้งสร้างขึ้นราวครึ่งหลังของพุทธศตวรรษที่ 17 ความสมบูรณ์ของแผนผังและโครงสร้างทางสถาปัตยกรรมทำให้ปราสาทแห่งนี้เป็นตัวอย่างสำคัญต่อการศึกษาศิลปกรรมแบบเขมรในช่วงเวลานี้ นอกจากนี้ยังมีลักษณะบางประการที่เป็นแบบแผนของท้องถิ่น ซึ่งเป็นหลักฐานว่าศิลปกรรมเขมรในประเทศไทยมิได้มีลักษณะเหมือนกันกับที่ประเทศกัมพูชาทุกประการ

3. ข้อมูลจากจารึกทำให้เชื่อกันว่าปราสาทพนมรุ้งเกี่ยวข้องกับราชวงศ์แห่งเมืองมหิธรปุระ อันเป็นราชวงศ์ที่มีกษัตริย์หลายพระองค์ครองราชย์ที่เมืองพระนคร เช่น พระเจ้าชัยวรมันที่ 6 พระเจ้าธรณินทรวรมันที่ 1 พระเจ้าสูรยวรมันที่ 2 และพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 โดยเมืองมหิธรปุระอาจจะอยู่บริเวณโดยรอยปราสาทพนมรุ้งก็เป็นได้

4. คำว่า “พนมรุ้ง” เป็นภาษาเขมรแปลว่า “ภูเขาใหญ่” คำเดียวกันนี้ปรากฏอยู่ในจารึกภาษาเขมรที่พบจากปราสาทพนมรุ้งด้วย โดยออกเสียงต่างออกไปเล็กน้อยเป็น “วนัมรุง” แสดงให้เห็นว่าชื่อพนมรุ้งที่เรียกกันในปัจจุบันเป็นชื่อที่เก่าแก่ ผู้คนในบริเวณนี้ยังคงรักษาความทรงจำของชื่อศาสนสถานแห่งนี้ได้

5. รูปเคารพในปราสาทประธานคือศิวลึงค์ มีพระนามปรากฏในจารึกว่า “กัมรเตงชคต วนัมรุง” หมายถึงพระผู้เป็นเจ้าแห่งพนมรุ้ง

ยุคประวัติศาสตร์
อายุครึ่งหลังของพุทธศตวรรษที่ 17
ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู
ลัทธิ/นิกายไศวนิกาย
ศาสนา/ความเชื่อที่เกี่ยวข้องพราหมณ์ไศวนิกาย
งานศิลปะที่เกี่ยวข้อง

ปราสาทพิมาย เพราะมีรูปแบบทางศิลปกรรมหลายอย่างที่คล้ายกัน เช่น ยอดปราสาททรงพุ่มอันเกิดจากการทำนาคปักและบรรพแถลงให้เอนเข้าด้านใน สันนิษฐานว่าช่างที่สร้างปราสาทพนมรุ้งได้รับแบบแผนดังกล่าวนี้มาจากปราสาทพิมาย

รูปแบบลิขสิทธิ์Attribution-NonCommercial-NoDerivs (CC BY-NC-ND)
เจ้าของสิทธิ์ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
วันที่จัดทำข้อมูล2015-09-01
ผู้จัดทำข้อมูลผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง
บรรณานุกรม

ศิลปากร, กรม. ทะเบียนโบราณสถาน. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2532.

ศิลปากร, กรม. ปราสาทพนมุร้ง. พิมพ์ครั้งที่ 5, กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2548.

สมบูรณ์ บุณยเวทย์ “บันทึกประสบการณ์ครั้งเริ่มบูรณะปราสาทหินพิมายและปราสาทหินพนมรุ้ง” ศิลปากร, (กันยายน-ตุลาคม 2541), หน้า 74 – 78.

สุริยวุฒิ สุขสวัสดิ์, หม่อมราชวงศ์. ปราสาทเขาพนมรุ้ง ศาสนบรรพตที่งดงามที่สุดในประเทศไทย. พิมพ์ครั้งที่ 4, กรุงเทพฯ : มติชน, 2539.