ค้นหางานศิลปกรรม

ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 
 
 
 
 
 
 

ปราสาทประธานปราสาทพนมรุ้ง

คำสำคัญ : ปราสาทหิน, ปราสาทเขมร, ปราสาทพนมรุ้ง

ชื่อเรียกอื่นปรางค์ประธานปราสาทพนมรุ้ง
ชื่อหลักปราสาทพนมรุ้ง
ชื่ออื่น-
ประเภทงานศิลปะสถาปัตยกรรม
ตำบลตาเป๊ก
อำเภอเฉลิมพระเกียรติ
จังหวัดบุรีรัมย์
ภาคภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ประเทศไทย
พิกัดภูมิศาสตร์
ค่าองศาทศนิยม
Lat : 14.531947
Long : 102.940271
พิกัดภูมิศาสตร์
พิกัดกริด
Zone : 48 P
Hemisphere : N
E : 278047.41
N : 1607559.68
ตำแหน่งงานศิลปะกลางศาสนสถาน

ประวัติการสร้าง

จากรูปแบบทางศิลปกรรมของปราสาทประธานปราสาทพนมรุ้งแสดงให้เห็นว่าเป็นศิลปะแบบนครวัด แต่ขณะเดียวกันก็มีรูปแบบบางประการที่สืบต่อจากศิลปะแบบบาปวน จึงทำให้นักวิชาการกำหนดอายุศาสนสถานหลังนี้ไว้ราวครึ่งหลังของพุทธศตวรรษที่ 17 แต่ไม่มีข้อมูลจากจารึกระบุชื่อผู้สร้าง สันนิษฐานกันว่างานส่วนใหญ่คงอยู่ภายใต้การอุปถัมภ์ของท่านนเรนทราทิตย์ เชื้อสายแห่งราชวงศ์มหิธรปุระ เพราะจารึกที่พบจากปราสาทพนมรุ้งกล่าวสรรเสริญท่านไว้มาก และยังกล่าวว่าท่านได้บวชเป็นฤาษีอยู่ที่ศาสนสถานแห่งนี้

ประวัติการอนุรักษ์

ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 52 ตอนที่ 75 วันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2478

ปราสาทหลังนี้ได้รับการบูรณะโดยมีประสบการณ์จากการบูรณะปราสาทพิมายมาก่อน

ในปีพ.ศ. 2514 ได้รับงบประมาณ 500,000 บาท ได้มีการเตรียมการสำหรับการบูรณะ เริ่มงานจริงในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2515 เริ่มลำเลียงหินที่หล่นรอบๆ ปราสาทประธานออกไปเรียงด้านนอก ขุดแต่งลานชั้นในพร้อมปรับพื้นที่ เริ่มบูรณะปราสาทน้อยด้วยวิธีอนัสติโลซิส งานครั้งนี้หยุดในเดือนกันยายน พ.ศ. 2515

ปีพ.ศ. 2516 ได้รับงบประมาณมาอีก 1,000,000 บาทโดยเริ่มปฏิบัติงานในเดือนมกราคม โดยขุดลอกและขุดบูรณะสระน้ำใหญ่ รื้อหินจากปรางค์น้อยจนถึงฐานรากและเสริมความมั่นคงด้วยคอนกรีตเสริมเหล็กทุกชั้นหินจนแล้วเสร็จ ขุดแต่งฐานพลับพลา ทางเดินโบราณระหว่างบันไดนาคถึงฐานพลับพลา ขุดแต่งและบูรณะรางระบายน้ำโบราณ เริ่มยกหินมุมปราสาทประธานด้านทิศตะวันตก เหนือและใต้ และที่มณฑปด้านตะวันออก ก่อนจะหยุดพักการบูรณะในเดือนกันยายน

ปีพ.ศ. 2517 ได้รับงบประมาณมาอีก 1,000,000 บาทโดยเริ่มปฏิบัติงานเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2517 เสริมความมั่นคงฐานรากมณฑปและมุขปราสาทประธาน เรียงหินปราสาทประธานกลับเข้าที่เดิมพร้อมเสริมความมั่นคงทุกชั้นหิน เริ่มบูรณะทางเดินด้านล่างระหว่างบันไดนาคและฐานพลับพลา ก่อนจะหยุดการบูรณะในเดือนกันยายน

ในปีพ.ศ. 2518 ได้รับงบประมาณมาอีก 1,000,000 บาทโดยเริ่มปฏิบัติงานเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2518 เรียงหินปราสาทประธานกลับเข้าที่เดิมพร้อมเสริมความมั่นคง หล่อเสานางเรียงเพิ่มเติมและนำมาประดับ 2 ข้างทางเดิน ขุดแต่งบันไดนาคบางส่วน

ต่อมา พ.ศ. 2520 โครงการบูรณะปราสาทพนมุร้งได้รับการบรรจุเข้าแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 4 ใช้ชื่อว่า โครงการอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง เปิดเป็นทางการเมือ พ.ศ. 2531 โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธาน
ลักษณะทางศิลปกรรม

ปราสาทประธานหรือปรางค์ประธานสร้างจากหินทราย หันหน้าไปทางทิศตะวันออก องค์ประกอบสำคัญได้แก่ เรือนธาตุอยู่ในผังเพิ่มมุม ด้านเหนือ ใต้ และตะวันตกของเรือนธาตุเป็นมุขทางเข้าสู่ครรภคฤหะที่อยู่ภายใน ส่วนด้านตะวันออกเป็นอันตราละเชื่อมต่อกับมณฑปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีประตูทางเข้าสู่มณฑปทางด้านตะวันออก เหนือ และใต้ สันหลังคามุข อันตราละ และมณฑปประดับด้วยบราลี

หลังคาของเรือนธาตุเป็นชั้นซ้อนลดหลั่นกัน 5 ชั้น แต่ละชั้นจำลองย่อส่วนจากเรือนธาตุ ประดับด้วยบรรพแถลงและนาคปัก (กลีบขนุน) ยอดสุดเป็นกลศ นภศูลที่เคยมีอยู่พักหายไปแล้ว

ห้องครรภคฤหะที่อยู่ในเรือนธาตุประดิษฐานศิวลึงค์ มีรางน้ำมนต์หรือท่อโสมสูตรไหลออกทางมุขด้านเหนือ ภายในมณฑปประดิษฐานโคนนทิ นอกจากนี้ยังมีแท่นสี่เหลี่ยมสลักภาพเทพประจำทิศประดิษฐานอยู่ภายในมณฑป มุข และฐานโดยรอบเรือนธาตุด้วย
ข้อมูลที่สำคัญทางวิชาการ

ปราสาทประธานหรือปรางค์ประธานของปราสาทพนมรุ้งแสดงให้เห็นถึงลักษณะหลายประการของช่างท้องถิ่นที่ต่างไปจากปราสาทในเมืองพระนคร เป็นต้นว่า บรรพแถลงและนาคปัก (กลีบขนุน) ที่เรียงรายอยู่ตามชั้นซ้อนของหลังคามิได้ตั้งตรงเป็นมุมฉาก แต่ทำเอนเข้าด้านใน ส่งผลให้ชั้นซ้อนของหลังคาเป็นทรงพุ่ม รูปแบบเช่นนี้เป็นลักษณะที่พบได้ในปราสาทพิมายเช่นกัน นับเป็นหนึ่งในหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าศิลปะเขมรในประเทศไทยกับประเทศกัมพูชามีสกุลช่างที่ต่างกัน

ยุคประวัติศาสตร์
สมัย/รูปแบบศิลปะลพบุรี, เขมรในประเทศไทย
อายุครึ่งหลังของพุทธศตวรรษที่ 17
ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู
ลัทธิ/นิกายไศวนิกาย
ศาสนา/ความเชื่อที่เกี่ยวข้องพราหมณ์ไศวนิกาย
งานศิลปะที่เกี่ยวข้อง

ปราสาทพิมาย เพราะมีรูปแบบทางศิลปกรรมหลายอย่างที่คล้ายกัน เช่น ยอดปราสาททรงพุ่มอันเกิดจากการทำนาคปักและบรรพแถลงให้เอนเข้าด้านใน สันนิษฐานว่าช่างที่สร้างปราสาทพนมรุ้งได้รับแบบแผนดังกล่าวนี้มาจากปราสาทพิมาย

รูปแบบลิขสิทธิ์Attribution-NonCommercial-NoDerivs (CC BY-NC-ND)
เจ้าของสิทธิ์ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
วันที่จัดทำข้อมูล2015-09-01
ผู้จัดทำข้อมูลดร.รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง
บรรณานุกรม

ศิลปากร, กรม. ทะเบียนโบราณสถาน. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2532.

ศิลปากร, กรม. ปราสาทพนมุร้ง. พิมพ์ครั้งที่ 5, กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2548.

สมบูรณ์ บุณยเวทย์ “บันทึกประสบการณ์ครั้งเริ่มบูรณะปราสาทหินพิมายและปราสาทหินพนมรุ้ง” ศิลปากร, (กันยายน-ตุลาคม 2541), หน้า 74 – 78.

สุริยวุฒิ สุขสวัสดิ์, หม่อมราชวงศ์. ปราสาทเขาพนมรุ้ง ศาสนบรรพตที่งดงามที่สุดในประเทศไทย. พิมพ์ครั้งที่ 4, กรุงเทพฯ : มติชน, 2539.