ค้นหางานศิลปกรรม
ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
วัดไชยวัฒนาราม
คำสำคัญ : วัดไชยวัฒนาราม, พระเจ้าปราสาททอง
ชื่อหลัก | วัดไชยวัฒนาราม |
---|---|
ประเภทงานศิลปะ | สถาปัตยกรรม |
ตำบล | บ้านป้อม |
อำเภอ | พระนครศรีอยุธยา |
จังหวัด | พระนครศรีอยุธยา |
ภาค | ภาคกลาง |
ประเทศ | ไทย |
พิกัดภูมิศาสตร์ ค่าองศาทศนิยม | Lat : 14.342968 Long : 100.541796 |
พิกัดภูมิศาสตร์ พิกัดกริด | Zone : 47 P Hemisphere : N E : 666267.68 N : 1586211.75 |
ตำแหน่งงานศิลปะ | กลางวัด |
ประวัติการสร้าง | พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับต่างๆ เช่น ฉบับพันจันทานุมาศ (เจิม) ฉบับพระจักรพรรดิพงศ์ (จาด) และฉบับพระราชหัตถเลขา ให้ข้อมูลตรงกันว่าวัดไชยวัฒนารามสร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าปราสาททอง พ.ศ. 2173 |
---|---|
ประวัติการอนุรักษ์ | ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษาเล่ม 52 ตอนที่ 75 วันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2478 โบราณสถานแห่งนี้ได้รับการขุดแต่งและบูรณะในช่วงปลาย พ.ศ. 2530 ต่อเนื่องถึงปี พ.ศ. 2531 การขุดแต่งได้ดำเนินการต่อมาในปีพ.ศ. 2533 และ 2534 พร้อมกับโยกย้ายบ้านเรือนที่สร้างทับซ้อนในเขตโบราณสถาน ในส่วนการบูรณะ พ.ศ. 2530 ได้ดำเนินการขุดแต่งบูรณะปรางค์ประธาน พระอุโบสถ เมรุทิศเมรุราย ต่อมาในปี พ.ศ. 2531 ได้บูรณะเสริมความมั่นคงปรางค์ประธานและเมรุทิศเมรุราย ตลอดทั้งบูรณะเสริมโครงสร้างเจดีย์ทรงกลมและปรับปรุงพื้นที่โดยรอบเจดีย์ พ.ศ. 2532 บูรณะเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสองจำนวน 2 องค์และปรับปรุงพื้นที่โดยรอบและปรับปรุงย้ายบ้านเรือนราษฎรออกจากพื้นที่เดิม พ.ศ. 2533 กำเนินงานขุดแต่งและวิจัยทางโบราณคดี งานปรับภูมิทัศน์ ย้ายเขตบ้านเรือน งานยังกระทำต่อเนื่องจนถึงปีพ.ศ. 2534 โดยแบ่งงานออกเป็นงานโบราณคดี งานบูรณะปรางค์มุม 4 องค์ ปรางค์ประธานบางส่วน วิหารน้อย กำแพงชั้นนอกด้านเหนือและใต้ หอระฆัง งานปรับภูมิทัศน์และปรับปรุงพื้นที่ งานสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ งานจัดระเบียบชุมชน ในปีพ.ศ. 2535 อันเป็นปีสุดท้ายของโครงการได้ทำการบูรณะแนวกำแพงและแนวอาคารที่เหลือทั้งหมด งานอนุรักษ์ปูนปั้นที่เมรุทิศเมรุราย พระพุทธรูปทรงเครื่องทั้ง 12 องค์ จิตรกรรมฝาผนังในเมรุทิศ และโครงสร้างไม้ |
ลักษณะทางศิลปกรรม | สภาพปัจจุบันของวัดไชยวัฒนารามหลงเหลือให้เห็นได้เฉพาะส่วนพุทธาวาส อาคารส่วนใหญ่ในเขตพุทธาวาสวางอยู่บนฐานไพทีขนาดใหญ่ สถาปัตยกรรมหลักประกอบด้วยปรางค์เป็นประธานของวัด ที่มุมทั้งสี่ของปรางค์ประธานมีปรางค์ขนาดเล็กมุมละ 1 องค์ ทั้งหมดล้อมรอบด้วยระเบียงคด กลางด้านและมุมของระเยงคดมีเมรุทิศเมรุราย ด้านหน้าหรือด้านตะวันออกเป็นพระอุโบสถ ทางเหนือและใต้ของพระอุโบสถมีเจดีย์เพิ่มมุมหรือย่อมุมทิศละ 1 องค์ สร้างขึ้นบนพื้น |
ข้อมูลที่สำคัญทางวิชาการ | 1. วัดไชยวัฒนารามมีปรางค์เป็นประธานของวัด ถือได้ว่าเป็นปรางค์องค์ใหญ่องค์สุดท้ายของสมัยอยุธยา 2. เมรุทิศเมรุรายก่ออิฐซึ่งประจำอยู่ที่กลางด้านและมุมระเบียงคด น่าจะสะท้อนให้เห็นถึงสถาปัตยกรรมเครื่องไม้แบบเรือนซ้อนชั้นในสมัยอยุธยาได้ 3. แผนผังของวัดไชยวัฒนารามซึ่งมีปรางค์ขนาดใหญ่เป็นประธาน ปรางค์ขนาดเล็กอยู่ที่มุมทั้งสี่ ทั้งหมดถูกล้อมรอบด้วยระเบียงคด น่าจะเกี่ยวข้องกับคติจำลองจักรวาล โดยปรางค์ประธานหมายถึงเขาพระสุเมรุ 4. วัดนี้สร้างขึ้นบนนิวาสสถานเดิมของพระชนนีของพระเจ้าปราสาททอง ซึ่งสิ้นพระชนม์ก่อนที่พระเจ้าปราสาทองจะขึ้นครองราชย์ สะท้อนให้เห็นถึงประเพณีการอุทิศเรือนเดิมให้เป็นวัดของกษัตริย์และพระวงศ์สมัยอยุธยาได้เป็นอย่างดี 5. พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับต่างๆ เช่น ฉบับพันจันทานุมาศ (เจิม) ฉบับพระจักรพรรดิพงศ์ (จาด) และฉบับพระราชหัตถเลขา ระบุว่าเมื่อพระเจ้าปราสาททองโปรดให้สร้างวัดนี้เสร็จแล้วได้ถวายพระนามเจ้าอธิการวัดว่าพระอชิตเถระ พระราชาคณะฝ่ายอรัญวาสี |
ยุค | ประวัติศาสตร์ |
สมัย/รูปแบบศิลปะ | อยุธยา |
อายุ | พุทธศตวรรษที่ 22 หรือสมัยพระเจ้าปราสาททอง |
ศาสนา | พุทธ |
ลัทธิ/นิกาย | เถรวาท |
ศาสนา/ความเชื่อที่เกี่ยวข้อง | พุทธศาสนาเถรวาท |
รูปแบบลิขสิทธิ์ | Attribution-NonCommercial-NoDerivs (CC BY-NC-ND) |
---|---|
เจ้าของสิทธิ์ | ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) |
วันที่จัดทำข้อมูล | 2015-05-12 |
ผู้จัดทำข้อมูล | รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง |
บรรณานุกรม | ศิลปากร, กรม. พระราชวังและวัดโบราณในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา. พระนคร : สำนักทำเนียบนายกรัฐมนตรี, 2511. ศิลปากร, กรม. ทะเบียนโบราณสถาน. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2532. สันติ เล็กสุขุม. ศิลปะอยุธยา งานช่างหลวงแห่งแผ่นดิน. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, 2542. ประทีบ เพ็งตะโก, และคณะ, วัดไชยวัฒนาราม. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, 2537. |