ค้นหางานศิลปกรรม

ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 
 
 
 
 
 
 
แสดง 1 ถึง 8 จาก 16 รายการ, 2 หน้า
ปราสาทกำแพงแลง
เพชรบุรี
สถาปัตยกรรมปราสาทกำแพงแลง

ปราสาทกำแพงแลงมีผังพื้นล้อมรอบด้วยกำแพงศิลาแลงเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ภายในกำแพงศิลาแลงเป็นที่ตั้งของปราสาทศิลาแลงแบบศิลปะเขมรทั้งหมด 4 องค์ ปราสาท 3 องค์ทางด้านหน้าวางตัวเรียงกันในแนวเหนือ-ใต้ โดยปราสาทประธานมีขนาดสูงใหญ่กว่าอีก 2 องค์ คล้ายกับปรางค์สามยอด ลพบุรี ส่วนปราสาทองค์ที่ 4 ตั้งอยู่ด้านหลังของปราสาทประธานด้านทิศตะวันออก และยังปรากฏลวดลายปูนปั้นประดับปราสาท ด้านหน้ามีโคปุระหรือซุ้มประตูทางเข้า 1 หลัง ภายในกำแพงศิลาแลงยังพบสระน้ำอยู่ชิดขอบกำแพงทางทิศตะวันออกด้วยนอกจากนี้ยังพบโบราณวัตถุสำคัญ ได้แก่ พระโพธิสัตว์โลเกศวรเปล่งรัศมี, ส่วนพระวรกายของพระโพธิสัตว์โลเกศวรสี่กร, ส่วนพระวรกายของพระพุทธรูปนาคปรกทรงเครื่อง, เศียรนางปรัชญาปารมิตา จากการใช้ศิลาแลงเป็นวัสดุหลักในการสร้างปราสาท และลักษณะของการวางผังปราสาททิศเหนือ ปราสาทองค์กลาง และปราสาททิศใต้ เป็นไปในลักษณะการวางตามคติการนับถือรัตนตรัยมหายาน ปราสาททิศเหนือได้แก่พระนางปรัชญาปารมิตา ปราสาทองค์กลาง คือพระวัชรสัตว์นาคปรก และจากปราสาททิศใต้ได้แก่ พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ซึ่งคติการนับถือรูปเคารพทั้งสามรูปเรียงกันในแนวนี้ เป็นคติการนับถือรูปเคารพในพุทธศาสนามหายาน สมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 พุทธศตวรรษที่ 18 จึงสามารถกำหนดอายุเวลาในการสร้างปราสาทกำแพงแลงนี้ได้ว่าร่วมสมัยกับพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 และจารึกที่ปราสาทพระขรรค์ ประเทศกัมพูชา กล่าวถึงเมือง “ศรีชัยวัชรปุระ” (เมืองเพชรบุรี) หนึ่งในหกเมืองโบราณในภาคกลางที่มีการกล่าวต่อไปอีกว่าได้มีการส่งพระชัยพุทธมหานาถ 1 ใน 23 องค์จากเมืองพระนครหลวง มาประดิษฐานที่เมืองเพชรบุรีนั่นก็คือปราสาทวัดกำแพงแลง และเมื่อเทียบกับโบราณสถานแล้ว ก็เป็นสิ่งที่ยืนยันได้ว่า ปราสาทกำแพงแลงแห่งนี้ ก็คือปราสาทที่กล่าวถึงในจารึกนั้น ซึ่งปราสาทพระขรรค์เป็นปราสาทที่ร่วมสมัยกับพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 เช่นกัน

ปราสาทศีขรภูมิ
สุรินทร์
สถาปัตยกรรมปราสาทศีขรภูมิ

ประกอบด้วยปราสาทอิฐจำนวน 5 หลังตั้งอยู่บนฐานเดียวกัน ปราสาทประธานมีขนาดใหญ่ที่สุดในขณะที่อีก 4 หลังตั้งอยู่ที่มุม ทั้ง 4 ปราสาทล้อมรอบด้วยคูน้ำยกเว้นทางด้านทิศตะวันออกซึ่งเป็นทางเข้าปราสาทแห่งนี้สร้างขึ้นในพุทธศตวรษที่ 17 ซึ่งตรงกับศิลปะร่วมแบบนครวัด โดยสามารถกำหนดอายุได้จากลวดลายบนกรอบประตูและทับหลังของปราสาทประธาน อย่างไรก็ดี ปราสาทแห่งนี้ยังคงสร้างด้วยอิฐ อันแตกต่างไปจากปราสาทสมัยนครวัดในประเทศกัมพูชาที่นิยมสร้างด้วยหินทรายเสมอแผนผังของปราสาทศรีขรภูมิ มีความพิเศษที่แตกต่างไปจากปราสาทหลังอื่นๆในประเทศไทย เนื่องจากเป็นปราสาท 5 หลังที่ตั้งอยู่บนฐานไพทีเดียวกัน โดยปราสาทประธานตั้งอยู่ตรงกลางและล้อมรอบไปด้วปราสาทบริวารอีก 4 มุม ลักษระเช่นนี้แตตก่งไปจากปราสาทที่พบในประทศไทยโดยทั่วไปที่มักเป็นปราสาท 3 หลังเรียงกันอยู่บนฐานไพทีปราสาทประธานของปราสาทศีขรภูมิ รวมถึงปราสาทหลังอื่นๆ มีลักษณะเป็นปราสาทเดี่ยวที่ไม่มีการต่อเชื่อมมณฑป ส่วนที่เป็นผนังเรียบๆ มักใช้อิฐเป็นวัสดุหลัก ส่วนที่ต้องสลัก เช่น ทับหลัง เสาประดับกรอบประตูและเสากรอบประตู มักใช้หินทรายในการสลัก การปะปนกันของวัสดุสองประเภทนี้ ปรากฏมาก่อนแล้วตั้งแต่ปราสาทสระกำแพงใหญ่ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกัน และถือเป็นลักษณะพื้นเมืองของปราสาทขอมในดินแดนไทยเอง เนื่องจากปราสาทสมัยนครวัดในประเทศกัมพูชาย่อมสลักด้วยหินทรายเสมอ เนื่องจากปราสาทประธานปรากฏทับหลังรูปศิวนาฏราช จึงเป็นไปได้สูงที่ปราสาทหลังนี้สร้างขึ้นในลัทธิไศวนิกาย ปราสาททั้งห้าหลังนี้จึงอาจเคยประดิษฐานศิวลึงค์อันเป็นสัญลักษณ์ของพระศิวะก็ได้ ในระยะหลัง ปราสาทแห่งนี้ถูกเปลี่ยนแปลงเป็นศาสนสถานในพุทธศาสนาเถรวาทโดยชาวลาวที่อพยพเข้ามาภายหลัง หลักฐานที่สำคัญได้แก่จารึกกรอบประตูและการซ่อมแปลงยอดของปราสาทบริวารหลังตะวันตกเฉียงใต้มีลักษณะคล้ายพระธาตุศิลปะล้านช้างในพุทธศาสนา มีการก่อยอดขึ้นไปใหม่เลียนแบบยอดปราสาทในศิลปะขอมแต่มีรูปแบบแตกต่างไปจากต้นแบบอย่างชัดเจน ส่วนกลีบขนุนก็มีการนำขึ้นไปจัดเรียงใหม่ด้วย

ปราสาทตาเมือนธม
สุรินทร์
สถาปัตยกรรมปราสาทตาเมือนธม

ปราสาทตาเมือนธม เป็นปราสาทขนาดใหญ่ก่อสร้างด้วยหินทรายและศิลาแลง 3 องค์ ประกอบด้วยปราสาทประธานขนาดใหญ่ แผนผังรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสย่อมุม ภายในห้องกลางปราสาทประดิษฐานศิวลึงค์ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แทนพระศิวะ เทพเจ้าสูงสุดในศาสนาพราหมณ์ ลัทธิไศวนิกาย ลักษณะของศิวลึงค์นี้ตกแต่งจากแท่งหินทรายธรรมชาติที่มีรูปร่างคล้ายศิวลึงค์ที่ตั้งอยู่บริเวณนี้มาแต่เดิม ภายหลังจึงสร้างปราสาทครอบ สันนิษฐานว่านี้น่าจะเป็นศิวลึงค์ที่เกิดขึ้นเอง เรียกว่า “สวายัมภูลึงค์” ซึ่งเป็นศิวลึงค์ที่สำคัญที่สุดของลัทธิไศวนิกาย ตัวปราสาทมีซุ้มประตู 4 ทิศ ประตูมุขด้านทิศใต้ต่อเข้ากับมุขหน้าหรือมณฑปยื่นออกมา โดยแบ่งเป็น 3 คูหา หลังคาทำด้วยหินทราย ปราสาทประธานมีการสลักลวดลายที่บริเวณฐาน โดยสลักเป็นรูปเทวรูปยืน นอกจากนี้ยังพบทับหลังหินทรายสลักภาพเทวดานั่งชันเข่าอยู่ภายในซุ้มบนแท่นเหนือหน้ากาลที่คายท่อนพวงมาลัยปราสาทบริวาร หรือ ปรางค์น้อยมี 2 องค์ สร้างด้วยหินทราย ตั้งอยู่ด้านหลังเยื้องไปทางซ้ายและขวาของปราสาทประธาน แผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสย่อมุม มีซุ้มประตูเข้าออกอยู่ด้านทิศใต้ ส่วนอีก 3 ด้านทำเป็นประตูหลอกบรรณาลัย จำนวน 2 หลัง สร้างด้วยศิลาแลง หลังหนึ่งตั้งอยู่ด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของปราสาทประธาน แผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ส่วนอีกหลังหนึ่งตั้งอยู่ด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ของปราสาทประธาน แผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสปราสาทประธาน ปรางค์บริวาร และบรรณาลัย มีระเบียงคดล้อมรอบ ซุ้มประตูหรือโคปุระสร้างด้วยหินทราย มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีช่องทางเดินภายในกว้างประมาณ 1.40 เมตร มีซุ้มประตูทั้ง 4 ด้าน โดยซุ้มประตูด้านทิศเหนือ ตะวันออก และตะวันตก มีลักษณะเหมือนกัน ส่วนซุ้มประตูด้านทิศใต้จะมีขนาดใหญ่ที่สุด เป็นซุ้มประตูหลัก โดยแบ่งออกเป็น 3 คูหา คูหากลางมีแผนผังเป็นรูปกากบาท มีหน้าต่างติดลูกกรงหินและบริเวณระเบียงคดนี้ได้พบศิลาจารึกอักษรขอมโบราณ ภาษาสันสกฤตและเขมร ซึ่งเป็นตัวอักษรที่ใช้ในราวปลายพุทธศตวรรษที่ 16 มีเนื้อหากล่าวสรรเสริญพระศิวะและกล่าวถึงนามของทาสและเจ้าหน้าที่ผู้ดูแลรักษาเทวสถานแห่งนี้ นอกจากนี้ยังพบท่าน้ำสร้างด้วยหินทรายนอกระเบียงคดด้านทิศใต้ ห่างออกไปประมาณ 10 เมตร และสระน้ำกรุด้วยศิลาแลงสอบลงไปถึงก้นสระ อยู่บริเวณนอกระเบียงคดทิศตะวันตกเฉียงเหนือ

ปราสาทกู่สวนแตง
บุรีรัมย์
สถาปัตยกรรมปราสาทกู่สวนแตง

ปราสาทกู่สวนแตง เป็นกลุ่มปราสาท 3 หลัง บนฐานเดียวกัน ส่วนฐานก่อด้วยศิลาแลง มีบันไดทางขึ้นบริเวณหน้าปราสาทองค์กลางเพียงแห่งเดียว องค์ปราสาททั้งสามหลังนี้ก่อด้วยอิฐ หันหน้าไปทางด้านทิศตะวันออก องค์ปราสาทเรียงตัวกันในแนวเหนือใต้ ขนาดของปราสาทองค์กลางมีขนาดใหญ่กว่าปราสาทที่ตั้งอยู่ขนาบข้าง ลักษณะแผนผังของปราสาทอยู่ในผังเพิ่มมุม โดยมุมประธานมีขนาดใหญ่ที่สุด ด้านทิศตะวันออกของปราสาท มีส่วนฐานของอาคาร 2 หลัง มีผังในรูปสี่เหลี่ยม สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นบรรณาลัยสภาพในปัจจุบัน ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์แล้ว โดยปราสาทที่อยู่ตรงกลางมีสภาพสมบูรณ์ที่สุด ฐานด้านล่างเป็นฐานบัวลูกฟักก่อด้วยศิลาแลง 1 ฐาน ถัดขึ้นไปจึงเป็นองค์ปราสาทที่ก่อด้วยอิฐทั้งหลัง มีมุขยื่นออกไปทางทิศตะวันออก ปัจจุบันส่วนของมุขที่ยื่นออกมาพังทลายลงแล้ว เหลือเพียงกรอบประตูที่ทำจากหินทราย ส่วนยอดยังคงมีเค้าโครงให้เห็นถึงชั้นบนสุดแต่ไม่เหลือรายละเอียดให้เห็นมากนักส่วนปราสาทขนาบข้างส่วนยอดได้พังทลายลงมาจนเกือบหมดแล้ว ปราสาทองค์ทิศเหนือมีฐานด้านล่างเป็นฐานเตี้ยๆ ก่อด้วยศิลาแลง 1 ฐาน ถัดขึ้นไปจึงเป็นองค์ปราสาทที่ก่อด้วยอิฐทั้งหลัง มีประตูทางเข้าออกด้านทิศตะวันออก ส่วนชั้นหลังคาพังทลายลงบางส่วน แต่ไม่เหลือรายละเอียดให้ศึกษามากนัก ขณะที่ส่วนยอดของปราสาทองค์ทิศใต้พังทลายลงมากกว่า ในการกำหนดอายุ หากสังเกตุจากแผนผังของปราสาทแต่ละองค์มีแผนผังแบบเพิ่มมุม ซึ่งนิยมในช่วงราวพุทธศตวรรษที่ 16 เป็นต้นมา แต่จากการพบทับหลัง และการประดับนาคปักบนส่วนยอด จึงกำหนดอายุปราสาทหลังนี้ว่าน่าจะอยู่ในช่วงราวพุทธศตวรรษที่ 17

ปราสาทเมืองแขก
นครราชสีมา
สถาปัตยกรรมปราสาทเมืองแขก

ปราสาทเมืองแขกมีขนาดค่อนข้างใหญ่ ก่อด้วยหินทรายและอิฐ แผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า หันหน้าไปทางทิศเหนือ สิ่งก่อสร้างสำคัญได้แก่ ปราสาทประธาน บรรณาลัย 2 หลัง ระเบียงคด ซุ้มประตูหรือโคปุระ กำแพงแก้ว สระน้ำ และปราสาทก่อด้วยอิฐขนาดเล็กลักษณะผังโบราณสถานแบ่งออกได้เป็น 3 ส่วน คือส่วนที่ 1 หรือส่วนในสุด ประกอบด้วยปราสาท 3 หลัง ก่อด้วยหินทรายและอิฐตั้งอยู่บนฐานเดียวกัน หัวหน้าไปทางทิศเหนือ เฉพาะองค์ปรางค์หรือปราสาทประธานมีมุขหรือมณฑปซึ่งมีลักษณะเป็นห้องต่อออกมาทางด้านหน้า มีบันไดขึ้นทั้งด้านหน้าและด้านข้างทั้ง 2 ข้าง พบฐานประติมากรรมหินทรายที่ครรภคฤหะของปราสาทประธานและปราสาทหลังด้านทิศตะวันออก อาคารทั้งสามหลังเหลือเพียงเฉพาะส่วนฐานและตัวอาคารบางส่วน รวมทั้งที่ปราสาทประธานยังคงหลงเหลือช่องหน้าต่างและลูกมะหวด เสาประดับกรอบประตู กรอบประตูหินทราย และทับหลังสลักภาพนารายณ์บรรทมสินธุ์ที่ด้านบนกรอบประตูหน้าสุดหรือส่วนมณฑปด้านข้างองค์ปรางค์ประธานมีฐานอาคารก่อด้วยอิฐ 2 หลัง อยู่ด้านซ้ายและขวาด้านละ 1 หลัง หันด้านหน้าเข้าสู่ปราสาทประธาน อาจเป็นวิหารหรือบรรณาลัย ในส่วนแรกนี้มีกำแพงแก้วก่อด้วยอิฐล้อมรอบ ทางด้านทิศตะวันออกของกำแพงมีอาคารอิฐผังสี่เหลี่ยมผืนผ้าก่อขนานยาวไปกับกำแพง อาคารหลังนี้มีประตูเข้าออกอยู่ด้านทิศตะวันตกและทิศเหนือ ยังคงหลงเหลือเสาประดับกรอบประตูอยู่ที่ประตูด้านทิศเหนือมีซุ้มประตูทางเข้าหรือโคปุระชั้นในอยู่ด้านเดียวคือด้านหน้าหรือด้านทิศเหนือ (มีช่องประตู 3 ช่อง) ที่ยังคงหลงเหลือกรอบประตูและเสาประดับกรอบประตูหินทราย นอกจากนี้ยังปรากฏฐานอาคารก่อด้วยอิฐอีก 2 หลังที่มุมกำแพงแก้วด้านหน้าของปราสาทประธาน ข้างโคปุระหรือซุ้มประตูชั้นในด้านหน้าหรือด้านทิศเหนือทั้ง 2 ด้าน ซ้ายและขวา โดยอาคารด้านขวามีทางเดินปูอิฐเชื่อมกับอาคารยาวที่ขนานไปกับกำแพงแก้วด้านทิศตะวันออกส่วนที่ 2 เป็นกำแพงชั้นนอก ซึ่งขุดเป็นสระเกือบจะล้อมรอบโบราณสถาน เว้นเพียงส่วนกลางด้านหน้า โดยใช้ดินที่ได้จากการขุดสระทำเป็นคันกำแพงล้อมรอบกำแพงแก้วและสระน้ำ ทางด้านทิศเหนือมีทางเดินเชื่อมกับส่วนในหรือส่วนที่หนึ่ง กำแพงชั้นนอกด้านหน้าหรือด้านทิศเหนือมีซุ้มประตูขนาดใหญ่หรือโคปุระชั้นนอกรูปกากบาท ตรงกับโคปุระชั้นใน (มีช่องประตู 3 ช่อง) ยังคงปรากฏช่องหน้าต่างและลูกมะหวดรวมทั้งกรอบประตูหินทรายส่วนที่ 3 อยู่นอกกำแพงชั้นนอกหรือส่วนที่สองออกมาทางด้านหน้าหรือด้านทิศเหนือ มีฐานอาคารก่อด้วยฐานก่อด้วยศิลาแลง หินทราย และอิฐ 2 หลัง ด้านซ้ายและขวาด้านละ 1 หลัง หันหน้าเข้าหากัน (อาคารหลังด้านขวาหันหน้าไปทางทิศตะวันตก ส่วนอาคารหลังด้านซ้ายหันหน้าไปทางทิศตะวันออก) ส่วนบนอาจจะสร้างด้วยไม้ ฐานอาคารทั้งสองหลังมีผังเป็นสี่เหลี่ยมมีมุขยื่นมาทางด้านหน้า ฐานสูง มีบันไดขึ้นสู่ด้านบนของฐานทั้ง 4 ด้าน มีกำแพงล้อมรอบ มีโคปุระที่ด้านหน้าและหลัง (ด้านหน้ามีขนาดใหญ่กว่า) ภายในห้องประธานของอาคารหลังด้านทิศตะวันตกมีฐานศิวลึงค์และโยนีหินทรายตั้งอยู่กลางห้อง เช่นเดียวกับอาคารหลังด้านทิศตะวันออกที่มีฐานประติมากรรมหินทรายตั้งอยู่กลางห้องประธาน จากการขุดค้นที่พบหลักฐานสำคัญ เช่น ศิวลึงค์ ฐานศิวลึงค์ หน้าบันสลักภาพอุมามเหศวร ทับหลังภาพพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ ทับหลังรูปพระนารายณ์บรรทมสินธุ์ ทับหลังรูปเทวดาประทับนั่งในซุ้มเหนือหน้ากาล ประติมากรรมโคนนทิ และจารึก 3 หลัก ทำให้สันนิษฐานได้ว่าศาสนสถานหลังนี้สร้างขึ้นเนื่องในศาสนาพราหมณ์ไศวนิกาย อายุราวปลายพุทธศตวรรษที่ 15 ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ 16 ในศิลปะร่วมแบบเกาะแกร์-แปรรูป ส่วนจารึกระบุมหาศักราช 896 ตรงกับ พ.ศ.1517

ปราสาทพนมวัน
นครราชสีมา
สถาปัตยกรรมปราสาทพนมวัน

อยู่ในแผนผังสี่เหลี่ยมจัตุรัสหันหน้าไปทางทิศตะวันออก กลุ่มปราสาทประธานประกอบด้วยตัวปราสาทประธาน อันตราละ และมณฑปตั้งอยู่บนฐานเดียวกันปราสาทประธานมีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสออกมุม มีซุ้มมุขและประตูทางเข้าทั้งสี่ทิศ โดยมีมุขทางเข้าด้านทิศตะวันออกเชื่อมต่อกับอันตราละคือฉนวนหรือมุขกระสันซึ่งทำเป็นทางผ่านไปยังมณฑปที่อยู่ทางด้านหน้า มณฑปนั้นมีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีประตูทางเข้าทั้งสี่ทิศเช่นเดียวกับปราสาทประธาน และมีหลังคาเป็นรูปโค้งทรงประทุน ทั้งหมดนี้ล้อมรอบด้วยแนวระเบียงคดซึ่งมีโคปุระหรือซุ้มประตูอยู่ทั้ง 4 ทิศ แต่ละมุมทั้ง 4 ของระเบียงคดยังปรากฏซุ้มทิศขนาดเล็กทรงสี่เหลี่ยมออกมุมมีประตูทางเข้าและประตูที่เชื่อมต่อกับปีกโคปุระทั้ง 2 ด้านส่วนทางทิศใต้ของปราสาทประธานในเขตระเบียงคดมีปราสาทขนาดย่อมลงมาเรียกกันว่าปรางค์น้อย มีผังแบบเพิ่มมุม ส่วนฐานก่อด้วยศิลาแลง แต่ส่วนของเรือนธาตุก่อด้วยหินทราย มีประตูทางเข้าออกทางทิศตะวันออกเพียงด้านเดียว ด้านที่เหลือเป็นประตูหลอก ปัจจุบันส่วนยอดได้พังทลายลงมาแล้ว องค์ปราสาทยังไม่มีการสลักลวดลายตกแต่งลงไปเป็นเพียงโครงสร้างรูปปราสาทเท่านั้น จากลักษณะดังกล่าวข้างต้นสันนิษฐานว่าปรางค์น้อยนี้น่าจะมีอายุอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 16 เป็นต้นมา ภายในยังเป็นที่ประดิษฐานรอยพระพุทธบาทหินทราย นอกจากนี้ภายในระเบียงคดยังพบแนวฐานอาคารอิฐหลายหลังอยู่ล้อมรอบปราสาทประธานอีกด้วย

ปราสาทวัดพระพายหลวง
สุโขทัย
สถาปัตยกรรมปราสาทวัดพระพายหลวง

ปราสาทวัดพระพายหลวงตั้งเป็นประธานของวัดพระพายหลวง ซึ่งเป็นวัดที่มีสิ่งก่อสร้างต่างๆ จำนวนมาก โดยสิ่งก่อสร้างเหล่านี้สร้างเสริมต่อเนื่องกันมาหลายยุค นับแต่ครั้งก่อนสุโขทัย สุโขทัยตอนต้น และสุโขทัยตอนปลาย ตัววัดล้อมรอบด้วยคู้น้ำ เรียกว่า ห้วยแม่โจนตัวปราสาทวัดพระพายหลวงเป็นปราสาท 3 หลัง ก่อด้วยศิลาแลง ฉาบปูนและประดับปูนปั้น ทั้งหมดตั้งอยู่บนฐานไพทีเดียวกัน เรียงตัวตามแนวเหนือใต้ หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ทั้ง 3 หลังอยู่ในผังเพิ่มมุมปราสาทหลังกลางและใต้พังทลายลงเหลือเพียงฐานและเรือนธาตุ ปราสาทหลังเหนือยังสมบูรณ์จนถึงส่วนยอดที่เป็นชั้นซ่อนจำลองเรือนธาตุจำนวน 4 ชั้น ยอดสุดเป็นกลศ จากสภาพปัจจุบันยังคงสังเกตเห็นได้ว่าปราสาทหลังกลางมีความสูงใหญ่กว่าอีก 2 หลัง ซึ่งเป็นระเบียบโดยทั่วไปของศาสนสถานในวัฒนธรรมเขมร งานปูนปั้นประดับดั้งเดิมยังคงเห็นชัดเจนได้ที่ปราสาทหลังเหนือ (ลายปูนปั้นหลายส่วนปั้นใหม่โดยกรมศิลปากร) ที่น่าสนใจคือภาพพุทธประวัติที่หน้าบัน ทิศใต้เป็นตอนปลงพระเกศา ทิศเหนือเป็นตอนกองทัพพญามารกำลังผจญพระพุทธเจ้า และทิศตะวันตกน่าจะเป็นตอนชนะมารและตรัสรู้

ปราสาทภูมิโปน
สุรินทร์
สถาปัตยกรรมปราสาทภูมิโปน

ปราสาทภูมิโปนประกอบด้วยอาคารขนาดต่างๆ เรียงตัวกันตามแนวเหนือ-ใต้ 4 หลัง อาคารหลังอื่นๆ ยกเว้นปราสาทประธานเหลือแต่เพียงส่วนฐาน ในขณะที่ปราสาทประธานมีสภาพสมบูรณ์จนถึงยอดปราสาทปราสาทประธานก่อด้วยอิฐเป็นวัสดุหลัก หันหน้าไปทางทิศตะวันออก แผนผังสี่เหลี่ยมจัตุรัส ผนังด้านตะวันออกเป็นประตูสู่ครรภคฤหะ ผนังด้านอื่นๆ อีกสามด้านเป็นประตูหลอก มุมทั้งสี่ตกแต่งเป็นเสาอิงหรือเสาหลอก เหนือขึ้นไปเป็นหลังคาชั้นซ้อนลดหลั่นกัน 2-3 ชั้น ภายในครรภคฤหะมีสภาพเป็นหลุมขนาดใหญ่ ไม่พบแท่นฐานและรูปเคารพดั้งเดิม มุมทั้งสี่มีรอยหลุมเสา ผนังด้านเหนือมีท่อโสมสูตรหินทรายฝังอยู่ภายใน