ค้นหางานศิลปกรรม
ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
จิตรกรรมจิตรกรรมฝาผนังวัดคงคาราม
จิตรกรรมฝาผนังในพระอุโบสถ วัดคงคาราม จ.ราชบุรี มีการจัดวางองค์ประกอบภาพดังเช่นที่นิยมในจิตรกรรมสมัยรัชกาลที่ 3 ในกรุงเทพ กล่าวคือ ผนังด้านหลังพระประธานเขียนเรื่องไตรภูมิโลกสัณฐาน ด้านตรงข้ามพระประธานเขียนเรื่องมารผจญ ผนังระหว่างช่องหน้าต่างทั้ง 2 ข้างเขียนเรื่องทศชาดก ผนังเหนือช่องหน้าต่างเขียนเรื่องพุทธประวัติ บานประตูหน้าต่างเขียนภาพทวารบาลเหยียบมาร ตัวละครสำคัญ เช่น พระโพธิสัตว์ พระอินทร์ และเทวดาต่างๆ แสดงออกด้วยท่าทางอย่างนาฏลักษณ์ ส่วนภาพบุคคลประกอบอื่นๆ อย่าง ภาพทหาร ชาวบ้าน แสดงกิริยาอาการอย่างเป็นธรรมชาติ ภาพปราสาทราชวังเป็นแบบไทยประเพณี โดยมีภาพป้อมปราการและกำแพงพระราชวังที่เสมือนจริง มีการใช้เส้นสินเทาแบ่งภาพในบางตอน แต่ส่วนใหญ่ใช้ภาพแนวพุ่มไม้ โขดหิน แนวกำแพงวังเพื่อแบ่งตอนต่างๆ ของภาพ
จิตรกรรมจิตรกรรมเรื่องนมัสการพระพุทธบาทสระบุรี
ภาพเขียนสีฝุ่นแสดงภาพมณฑปพระพุทธบาทที่อยู่ด้านบนกึ่งกลางภาพ แวดล้อมด้วยอาคารต่างๆภายในวัด เบื้องล่างลงมาเป็นภาพการเดินทางของผู้คนที่มุ่งหน้าไปยังพระพุทธบาทด้วยวิธีการต่างๆ เช่น เดินทางด้วยเรือ สัตว์เทียมเกวียน และเดินเท้า มีทั้งภิกษุและฆราวาส ผ่านเส้นทางที่เป็นป่าเขา การเขียนภาพใช้เทคนิคอย่างตะวันตก ให้แสงเงา แสดงถึงมิติและระยะใกล้-ไกล ไม่ใช้เส้นสินเทาในการแบ่งภาพ แต่ใช้แนวพุ่มไม้ และแถวการเดินทางของผู้คนเป็นเส้นนำสายตาไปสูภาพมณฑปพระพุทธบาท ภาพต้นไม้ใช้การระบายให้เป็นพุ่มและไล่สีอ่อนแก่ เช่นเดียวกับภาพท้องฟ้าที่มีปุยเมฆขาวและแรเงาให้เห็นบรรยากาศของท้องฟ้าอย่างเป็นธรรมชาติ
จิตรกรรมหนังพระนครไหว
หนังพระนครไหวประกอบด้วยหนัง 2 ประเภทใหญ่ ได้แก่ หนังชุดเบิกโรง คือชุดจับลิงหัวค่ำ ประกอบด้วยตัวหนังพระฤษี ลิงขาว และลิงดำ อีกประเภทหนึ่งคือหนังเล่าเรื่อง สำหรับการแสดงเรื่องรามเกียรติ์ตอนต่างๆ เช่น ตอนศึกอินทรชิตตอนหักคอช้างเอราวัณ ตอนหนุมานอาสา ตอนทศกัณฐ์สั่งเมือง และตอนพระรามเสี่ยงม้าอุปการเป็นต้น ตัวหนังทำจากหนังโคเป็นผืนขนาดใหญ่ ฉลุลายด้วยสิ่วและค้อนให้เป็นรูปตัวละครจากเรื่องรามเกียรติ์และองค์ประกอบต่างๆ ตามท้องเรื่อง ตัวละครแต่งกายยืนเครื่องและสวมศิราภรณ์เช่นเดียวกับการแสดงโขน โดยแผ่นหนังทั้งผืนไม่ขาดจากกัน ระบายสีผืนหนังในบางแห่ง หนังแต่ละตัวมีไม้คีบหนัง 2 ข้าง สำหรับผนึกตัวหนังและเชิดประกอบการแสดง
จิตรกรรมอวมงคล
เป็นผลงานจิตรกรรมไทยประเพณีร่วมสมัยของเฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาและวิถีการดำรงชีวิตของคนไทยที่เกี่ยวข้องกับขนบธรรมเนียมประเพณี ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากประสบการณ์การศึกษาจิตรกรรมไทยประเพณีโบราณผสมผสานกับการศึกษาวิถีชีวิตและสังคมไทยในปัจจุบัน
จิตรกรรมน้ำเงินเขียว
เป็นภาพผู้หญิงเปลือยที่ได้รับอิทธิพลจากศิลปะคิวบิสม์ (Cubism) อันมีลักษณะการวิเคราะห์โครงสร้างของรูปทรงที่คมคาย ซึ่งเกิดขึ้นภายหลังจากอาจารย์เฟื้อ หริพิทักษ์เดินทางไปศึกษาต่อที่อิตาลี เมื่อ พ.ศ.2497 และเกิดความคิดริเริ่มในการเขียนภาพเปลือย (nude) อาจารย์เฟื้ออธิบายเพิ่มเติมว่า "ให้กรรมวิธีที่มันสะเทือนเลยเบี่ยงเข้าหาจุดที่แสงสว่างจัด เงาจัด รูปคนสักแต่ว่ารูป ไม่ดูว่าเป็นคน คนแค่อาศัยดูว่าเส้นสี อะไรแดงๆ เลย อะไรเหลืองๆ เลย อะไรโค้งได้โค้งเลย กำหนดแสงสว่างเงาอ่อนแก่ จัดรูปโดยแยกไปจากรูปอีกที"
จิตรกรรมจิตรกรรมภาพเหมือนพระอารามหลวง
ภาพเล่าเรื่องการเข้าไปทำสังฆกรรมภายในพระอุโบสถและการทำบุญตักบาตรของชาวบ้าน โดยใช้วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามเป็นฉากหลัง โดยมีกลุ่มภิกษุกำลังเดินเข้าไปในลานและยืนอยู่รอบๆ นอกกำแพงวัดมีภาพบุคคลกำลังใส่บาตรพระภิกษุ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามแสดงภาพของอุโบสถของวัดพร้อมแนวระเบียงคดล้อมรอบ โดยมีเจดีย์ทรงกลมอยู่ตรงกลาง ถัดขึ้นไปด้านบนแสดงภาพของสุสานหลวง
จิตรกรรมจิตรกรรมฝาผนังที่พระพุทธรัตนสถาน
จิตรกรรมฝาผนังภายในพระพุทธรัตนสถานแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ผนังเหนือช่องประตูและหน้าต่างเป็นงานจิตรกรรมดั้งเดิมสมัยรัชกาลที่ 4 เขียนเรื่องประวัติพระพุทธบุษยรัตนจักรพรรดิพิมลมณีมัย ตั้งแต่อัญเชิญเสด็จจากลพบุรีสู่เมืองหริภุญชัยไปจนถึงการเสด็จสู่กรุงรัตนโกสินทร์และการสมโภช มีการผสมผสานระหว่างเทคนิคการเขียนแบบไทยประเพณีดั้งเดิมเข้ากับเทคนิคการเขียนจิตรกรรมแบบตะวันตกที่เพิ่งจะเข้ามาในสมัยนั้น ทำให้ภาพจิตรกรรมฝาผนังมีความสมจริงมากขึ้นกว่างานแบบไทยประเพณีดั้งเดิม จิตรกรรมฝาผนังระหว่างช่องหน้าต่างเล่าประวัติของพระพุทธรัตนสถานตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 ถึงรัชกาลที่ 9 โดยมีการแทรกเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์หรือบริบทสังคมในสมัยนั้นๆ ลงไปในฉาก เป็นงานที่ผสมผสานจิตรกรรมแบบไทยประเพณีและทัศนียวิทยาแบบตะวันตก มีการแสดงรูปบุคคล เครื่องแต่งกาย พาหนะ สถาปัตยกรรม วัฒนธรรมประเพณีตรงตามยุคสมัยในฉากนั้นๆเพื่อให้เกิดความสมจริง
จิตรกรรมจิตรกรรมฝาผนังเรื่องพุทธประวัติ
ผนังด้านหลังพระพุทธรูปประธานเขียนภาพพระพุทธเจ้าแสดงปางมารวิชัยอยู่ภายในซุ้มเรือนแก้วทรงกลีบบัวล้อมรอบด้วยพระสาวก พรหม และประชาชน ขนาบข้างด้วยพระพุทธรูปทรงเครื่องและพระพุทธรูปลีลาผนังด้านขวามือของพระพุทธรูปประธานเป็นพระพุทธเจ้าปางประสูติ ด้านบนเขียนภาพสันดุสิตเทพบุตร ผนังด้านหน้าเขียนภาพพุทธประวัติตอนมารผจญ ผนังระหว่างหน้าต่างเขียนภาพเทพชุมนุม เหนือช่องหน้าต่างมีพระอดีตพุทธเจ้านั่งเรียงแถวกันใต้ลายพวงมาลัยและพวงอุบะ แม้การแสดงออกของฉากและตัวบุคคล เช่น หนุมาน ยักษ์ สัตว์หิมพานต์จะคงลักษณะตามแบบไทยประเพณี แต่ก็มีการแทรกรูปสัตว์และรูปบุคคลที่มีอิริยาบถ เครื่องแต่งกาย รวมถึงการจัดวางภาพตามแบบแผนสมัยปัจจุบันเข้าไปผสมผสาน