ค้นหางานศิลปกรรม

ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 
 
 
 
 
 
 
แสดง 257 ถึง 264 จาก 522 รายการ, 66 หน้า
ซุ้มประตูโขง วัดพระธาตุลำปางหลวง
ลำปาง
สถาปัตยกรรมซุ้มประตูโขง วัดพระธาตุลำปางหลวง

ซุ้มประตูโขงก่อด้วยอิฐฉาบปูน ช่องทางเข้ามีลักษณะเป็นวงโค้ง ตัวอาคารอยู่ในผังยกเก็จ ส่วนยอดของโขงประกอบด้วยชุดหลังคาลาดซ้อนชั้นลดหลั่นกันในผังยกเก็จ ประดับลวดลายปูนปั้นรูปนาคที่หน้าบัน ประดับมุมอาคารด้วยลวดลายปูนปั้นที่เรียกว่า ลายเครือล้านนา ในตำแหน่งกาบบน กาบล่าง ประจำยามอก ซึ่งมีขนาดใหญ่ ลักษณะคล้ายลายฉลุโปร่ง ตัวลายประกอบด้วยลายคดโค้ง มีลายดอกโบตั๋นประกอบด้วยก้านใบ ลวดลายเหล่านี้ได้รับอิทธิพลจากเครื่องถ้วยจีนและเป็นที่นิยมในการประดับสถาปัตยกรรมในล้านนา โดยเฉพาะในช่วงพุทธศตวรรษที่ 21

พระธาตุลำปางหลวง
ลำปาง
สถาปัตยกรรมพระธาตุลำปางหลวง

พระธาตุลำปางหลวงเป็นเจดีย์ทรงกลมก่ออิฐหุ้มด้วยทองจังโก องค์ประกอบสำคัญลำดับจากส่วนฐานถึงส่วนยอดได้ดังนี้ ฐานบัวสี่เหลี่ยมเพิ่มมุมขนาดใหญ่ ซึ่งออกแบบคล้ายฐานบัวซ้อนกันสองชั้นแบบที่นิยมในล้านนาช่วงพุทธศตวรรษที่ 20-21 ถัดขึ้นไปเป็นบัวถลาซ้อนลดหลั่นกัน 3 ชั้น ซึ่งเป็นลักษณะของสุโขทัย องค์ระฆังกลมซึ่งตกแต่งด้วยเส้นรัดอกดุนนูน ถัดขึ้นไปเป็นแกนปล้องไฉน ปล้องไฉน ปลี และฉัตร

พระธาตุศรีสองรัก
เลย
สถาปัตยกรรมพระธาตุศรีสองรัก

พระธาตุศรีสองรักสร้างด้วยอิฐ ฉาบปูน มีองค์ประกอบทางศิลปกรรมลำดับจากส่วนล่างไปยังส่วนบน ได้แก่ ฐาน องค์บัวเหลี่ยม และยอดฐาน ประกอบด้วยฐานเขียงในผังสี่เหลี่ยมซ้อนลดหลั่นกัน ถัดขึ้นไปเป็นฐานบัวลูกแก้วอกไก่ในผังเพิ่มมุม องค์ประกอบของฐานส่วนนี้เป็นแบบแผนของล้านช้าง คือ มีลูกแก้วขนาดใหญ่ (บัวเข่าพรหม) ซึ่งพัฒนามาจากฐานสิงห์ในศิลปะอยุธยาอยู่ด้านล่างของฐานบัว และบัวคว่ำมีส่วนปลายตวัดงอนขึ้น เป็นที่มาของการเรียกฐานบัวศิลปะล้านช้างว่า ฐานบัวงอน องค์บัวเหลี่ยม มุมทั้งสี่ประดับด้วยปูนปั้นรูปกาบ ทรวดทรงเตี้ย ส่วนล่างใหญ่จากนั้นตอนบนค่อยๆสอบเล็กลง ยอด ประกอบด้วยบัลลังก์สี่เหลี่ยมเตี้ยๆ และยอดกรวยในผังสี่เหลี่ยม ซึ่งเทียบได้กับตำแหน่งของปล้องไฉนและปลีของเจดีย์ทรงกลม

ปราสาทเมืองสิงห์
กาญจนบุรี
สถาปัตยกรรมปราสาทเมืองสิงห์

ปราสาทเมืองสิงห์ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์แล้ว ศิลาแลงเป็นวัสดุหลักในการก่อสร้าง ฉาบปูนและประดับด้วยปูนปั้นซึ่งปัจจุบันหลุดล่วงไปเกือบหมดแล้ว หันหน้าไปทางทิศตะวันออกรูปแบบปราสาทมีลักษณะเป็นกลุ่มอาคารตั้งอยู่บนฐานยกพื้นสูง ปราสาทประธานตั้งอยู่กึ่งกลางของฐานยกพื้น ยอดปรักหักพังหมดแล้ว ด้านหน้าปราสาทประธานทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือมีบรรณาลัยตั้งอยู่ ทั้งหมดล้อมรอบด้วยระเบียงคด กลางด้านทั้งสี่ของระเบียงคดเป็นโคปุระที่ทำยอดเป็นทรงปราสาท ด้านหน้าทางทิศตะวันออกของฐานยกพื้นมีลานศิลาแลง เดิมทีคงเคยมีหลังคาเครื่องไม้มุงด้วยกระเบื้องคลุมอยู่ แต่ปัจจุบันได้ปรักหักพังหมดแล้ว ถัดออกไปทางทิศตะวันออกมีร่องรอยของโคปุระ ทางด้านเหนือและใต้ของโคปุระเชื่อมต่อกับแนวกำแพงล้อมรอบศาสนสถาน เบื้องหน้าของโคปุระมีชาลารูปกากบาท

เจดีย์ประธานวัดช้างรอบกำแพงเพชร
กำแพงเพชร
สถาปัตยกรรมเจดีย์ประธานวัดช้างรอบกำแพงเพชร

เจดีย์วัดช้างรอบสร้างขึ้นจากศิลาแลงเป็นวัสดุหลัก ฉาบปูน และตกแต่งด้วยปูนปั้น องค์ประกอบสำคัญ คือ ฐานประทักษิณสูงใหญ่ผังสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีทางขึ้นที่ด้านทั้งสี่ ฐานนี้ประดับด้วยประติมากรรมรูปช้างเห็นครึ่งตัวยืนเรียงราย ช้างแต่ละตัวตกแต่งด้วยเครื่องประดับปูนปั้น ระหว่างช้างแต่ละตัวประดับด้วยปูนปั้นรูปต้นไม้ บนลานประทักษิณมีเจดีย์ทรงกลมซึ่งชำรุดเหลือแต่ฐาน ส่วนล่างของเจดีย์ทรงกลมประดับด้วยปูนปั้นเล่าเรื่องชาดก ร่องรอยชำรุดทำให้เห็นว่ามีเจดีย์องค์เล็กถูกสร้างครอบทับไว้ภายในด้วย

มณฑปพระสี่อิริยาบถ
กำแพงเพชร
สถาปัตยกรรมมณฑปพระสี่อิริยาบถ

สภาพปัจจุบันของมณฑปพระสี่อิริยาบถเหลือให้เห็นเฉพาะศิลาแลงที่เป็นแกนกลางของมณฑป หลังคาเครื่องไม้มุงกระเบื้องพังทลายลงแล้ว ด้านทิศตะวันออกประดิษฐานพระพุทธรูปปางลีลา ด้านทิศตะวันตกประดิษฐานพระพุทธรูปประทับยืน ด้านทิศเหนือประดิษฐานพระพุทธรูประทับนอน และด้านทิศใต้ประดิษฐานพระพุทธรูปประทับนั่ง พระพุทธรูปทั้งสี่องค์เป็นงานก่ออิฐฉาบปูนแบบนูนสูง

พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม
กรุงเทพมหานคร
สถาปัตยกรรมพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม

พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามเป็นอาคารหลังคาคลุมแบบไทยประเพณี ผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า หันหน้าไปทางทิศตะวันออกและมีกำแพงแก้วล้อมรอบส่วนหลังคาเป็นเครื่องไม้มุงกระเบื้องพื้นสีน้ำเงิน ขอบมุงกระเบื้องสีส้มและเหลือง หลังคาซ้อน 3 ชั้น 4 ตับ ปิดทองประดับกระจก ประดับช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ นาคสะดุ้ง หน้าบันทั้ง 2 ด้าน ประดับรูปพระนารายณ์ทรงครุฑ พื้นหลังประดับลายก้านขดตัวอาคารก่ออิฐถือปูน ผนังอาคารด้านนอกปิดทองประดับกระจก ลวดลายทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ ฐานโดยรอบอาคารประดับประติมากรรมรูปครุฑยุดนาค มีซุ้มประตูเรือนยอดที่ด้านหน้าและด้านหลังพระอุโบสถ ด้านละ 3 ซุ้มประตู มีประติมากรรมสิงโตสำริด 3 คู่ ประดับที่บันไดทางขึ้นด้านหน้าระเบียงโดยรอบพระอุโบสถมีเสาพาไลย่อมุมไม้สิบสองปิดทองประดับกระจก ประดับบัวแวงที่หัวเสา มีคันทวยรองรับบริเวณชายคา

ปราสาทพระเทพบิดร
กรุงเทพมหานคร
สถาปัตยกรรมปราสาทพระเทพบิดร

อาคารทรงปราสาทจัตุรมุขยอดปรางค์ มุขหน้าเป็นมุขลดโถงอยู่ทางทิศตะวันออก ตัวอาคารประดับกระเบื้องเคลือบลายพุ่มข้าวบิณฑ์บนพื้นสีฟ้าเข้ม หลังคาซ้อนชั้นประดับด้วยช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ นาคสะดุ้ง มุงกระเบื้องเคลือบสี ส่วนยอดเป็นทรงปรางค์ทำด้วยปูนปั้นประดับกระเบื้องเคลือบสี หน้าบันทั้ง 4 ด้านประดับตราพระบรมราชสัญลักษณ์ 4 รัชกาล ได้แก่ หน้าบันมุขทิศเหนือเป็นรูปอุณาโลม ในรัชกาลที่ 1 มุขทิศใต้รูปครุฑยุดนาค ในรัชกาลที่ 2 มุขทิศตะวันตกรูปพระวิมาน ในรัชกาลที่ 3 และมุขทิศตะวันออกรูปพระมหามงกุฎ ในรัชกาลที่ 4 ซุ้มประตูและหน้าต่างมีเครื่องยอดทรงมงกุฎปิดทองประดับกระจก ผนัง 2 ข้างของบานประตูและหน้าต่างประดับลายปูนปั้นปิดทองรูปตราพระบรมราชสัญลักษณ์ในรัชกาลที่ 1-5