ค้นหางานศิลปกรรม

ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 
 
 
 
 
 
 
แสดง 145 ถึง 152 จาก 522 รายการ, 66 หน้า
สังคโลก
สุโขทัย
ประติมากรรมสังคโลก

เครื่องประดับสถาปัตยกรรมมีหลายส่วน ที่สำคัญได้แก่ มกร ใช้ประดับปลายหน้าจั่ว จะพัฒนาเป็นหางหงส์ ครอบอกไก่ซึ่งจะพัฒนาเป็นช่อฟ้า บราลี ใช้ประดับสันหลังคา ครอบแปร ลูกกรง และกระเบื้องพื้น

พระพุทธรูปปางมารวิชัย
สุโขทัย
ประติมากรรมพระพุทธรูปปางมารวิชัย

พระพุทธรูปนั่งขัดสมาธิราบบนฐานหน้ากระดาน พระหัตถ์ทำปางมารวิชัย จุดสังเกตหลักที่แสดงความเกี่ยวข้องกับพระพุทธรูปล้านนาแบบเชียงแสนสิงห์หนึ่ง อันเป็นเหตุผลให้กำหนดเรียกพระพุทธรูปองค์นี้ว่าหมวดวัดตะกวน ได้แก่ พระพักตร์กลมและคางนูนเป็นปม สำหรับส่วนอื่นๆ ที่แสดงความเกี่ยวข้องกับพระพุทธรูปสุโขทัยหมวดใหญ่ทั่วไป ได้แก่ พระรัศมีเปลวไฟ ทั้งนี้แลดูแข็งกระด้างกว่าพระรัศมีในศิลปะสุโขทัย ครองจีวรห่มเฉียง เรียบไม่มีริ้ว ชายจีวรหรือชายสังฆาฏิพาดผ่านพระอังสาซ้ายยาวจรดพระนาภี ปลายเป็นริ้วซึ่งนิยมเรียกว่าเขี้ยวตะขาบ ขัดสมาธิราบ นั่งบนฐานหน้ากระดาน

พระพุทธบาท
สุโขทัย
ประติมากรรมพระพุทธบาท

รอยพระพุทธบาทสลักลงบนแผ่นหินสี่เหลี่ยมผืนผ้า สภาพชำรุดเป็นบางส่วน รอยพระพุทธบาทมีทั้งสิ้น 4 รอยซ้อนกันอยู่ สังเกตได้จากแนวเส้นที่ด้านข้างและแนวที่ส้นพระบาท รูปแบบของรอยพระพุทธบาทศึกษาได้จากรอยที่เล็กที่สุด เพราะรอยที่เหลืออีก 3 รอยปรากฏแต่เพียงด้านข้างและสั้นเพียงเล็กน้อย รอยพระพุทธบาทรอยเล็กที่สุดทำนิ้วพระบาทยาวไม่เท่ากัน แต่ละนิ้วมีลายก้นหอยประดับอยู่ กลางฝ่าพระบาทมีสัญลักษณ์รูปจักรที่ประดับตกแต่งด้วยลายมงคล 108 ประการ บิบริเวณที่ติดกับนิ้วพระบาทประดับลายก้นหอย 2 ตำแหน่ง ส่วนบริเวณส้นพระบาทตกแต่งด้วยลายกลีบบัว

พระพุทธรูปปางมารวิชัย
สุโขทัย
ประติมากรรมพระพุทธรูปปางมารวิชัย

พระพุทธรูปปูนปั้นองค์นี้นั่งขัดสมาธิราบบนฐานบัว พระหัตถ์ทำปางมารวิชัย พระพักตร์กึ่งกลมกึ่งรีอาจแสดงถึงการคลี่คลายระหว่างพระพักตร์กลมแบบพระพุทธรูประยะแรกกับพระพักตร์วงรูปไข่แบบหมวดใหญ่ พระขนงโก่ง พระเนตรเหลือบต่ำ พระนาสิกโด่ง พระโอษฐ์สมส่วน เม็ดพระศกเล็ก พระพุทธรูปครองจีวรห่มเฉียง ไม่มีริ้ว ชายจีวรหรือสังฆาฏิที่พาดผ่านพระอังสาซ้ายมีรูปแบบพิเศษ กล่าวคือ ทำริ้วจีวรซ้อนทับกันตลอดแนว แตกต่างไปจากพระพุทธรูปหมวดใหญ่ทั่วไปที่ทำเป็นจีวรสี่เหลี่ยมที่มีหยักริ้วเพียงส่วนปลาย

พระพุทธรูปปางมารวิชัย
สุโขทัย
ประติมากรรมพระพุทธรูปปางมารวิชัย

พระพุทธรูปอยู่ในอิริยาบถนั่งขัดสมาธิราบบนฐานหน้ากระดาน พระหัตถ์ทำปางมารวิชัย ลักษณะเด่นซึ่งเป็นแบบแผนของพระพุทธรูปสุโขทัยหมวดใหญ่ ได้แก่ พระพักตร์เป็นวงรูปไข่ พระขนงโก่ง พระเนตรเหลือบต่ำ พระนาสิกโด่งงุ้ม พระโอษฐ์งามสมส่วน เม็ดพะศกใหญ่ขมวดเป็นวงก้นหอย พระอุณีษะนูน พระรัศมีเปลวไฟ ครองจีวรห่มเฉียง เรียบไม่มีริ้ว ชายสังฆาฏิเป็นแถบเล็กและยาวจรดพระนาภี ปลายหยักเป็นริ้วดังที่เรียกว่าเขี้ยวตะขาบ

พระพุทธรูป
สุโขทัย
ประติมากรรมพระพุทธรูป

พระพุทธรูปองค์นี้ชำรุดเสียหายหลายส่วนจนไม่ทราบว่าเดิมทีอยู่ในอิริยาบถใดและทำปางใด ทั้งนี้จากการเป็นประติมากรรมนูนสูงจึงเชื่อว่าน่าจะเคยใช้ประดับศาสนสถานโดยก่ออิงกับผนัง พระพักตร์กลม พระเนตรเหลือบต่ำ พระขนงโก่ง พระนาสิกโด่ง พระโอษฐ์สมส่วนและหยักเป็นคลื่น พระเกศาเป็นเม็ดเล็กๆ พระอุษณีษะนูน พระรัศมีชำรุดสูญหาย พระอุระนูน ครองจีวรห่มเฉียง เรียบไม่มีริ้ว ชายสังฆาฏิเล็กและสั้นเหนือพระถัน มีชายทบซ้อนกันดังที่เรียกกันว่าเขี้ยวตะขาบ

พระพุทธรูปนาคปรก
กรุงเทพมหานคร
ประติมากรรมพระพุทธรูปนาคปรก

พระพุทธรูปนาคปรกหล่อจากสำริดองค์นี้สามารถแยกออกจากกันเป็น 3 ส่วน ได้แก่ องค์พระพุทธรูป เศียรนาค และขนดนาคพระพุทธรูปนั่งขัดสมาธิราบพระหัตถ์ทำปางมารวิชัย นับว่าเป็นสิ่งผิดปกติเพราะโดยทั่วไปเมื่อเป็นพระพุทธรูปนาคปรกจะทำปางสมาธิ รูปแบบพิเศษอันเป็นลักษณะของสกุลช่างไชยาซึ่งเห็นในพระพุทธรูปองค์อื่นที่สร้างขึ้นภายหลังด้วย ได้แก่ พระอุษณีษะอยู่ในทรงครึ่งวงกลม เรียบไม่ตกแต่งด้วยขมวดพระเกศา มีแผงสามเหลี่ยมซึ่งเดิมทีคงเคยมีอัญมณีประดับอยู่ทางด้านหน้า ชายสังฆาฏิหรือชายจีวรที่พาดผ่านพระอังสาซ้ายยาวจรดพระนาภีเป็นแถบสี่เหลี่ยมซ้อนทับกันหลายชั้น เศียรนาค 7 เศียรรูปทรงคล้ายสามเหลี่ยมหรือใบโพธิ์ เศียรกลางใหญ่ที่สุด เศียรด้านข้างข้างละ 3 เศียรมีขนาดเล็กกว่าและหันขึ้นสู่เศียรกลาง ทั้งหมดชิดติดกันเป็นแผง เทียบได้กับเศียรนาคปรกในศิลปะลพบุรีหรือเขมรในประเทศไทยสมัยเมืองพระนคร เช่นแบบนครวัดและแบบบายน ขนดนาค 3 ชั้น เทียบได้กับขนดของพระพุทธรูปนาคปรกในศิลปะลพบุรีหรือเขมรในประเทศไทยสมัยเมืองพระนครเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในศิลปะแบบนครวัด โดยลักษณะดังกล่าวคือ นาคแต่ละขนดมีขนาดไม่เท่ากัน ขนดบนใหญ่ที่สุดจากนั้นจึงไล่ลำดับลงสู่ขนดล่างที่มีขนาดเล็กที่สุด ทำให้ขนดทั้ง 3 ชั้นเป็นทรงสอบ นอกจากนี้เหนือขนดนาคชั้นบนมีฐานกลีบบัวรองรับพระพุทธรูป

พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร
กรุงเทพมหานคร
ประติมากรรมพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร

พระโพธิสัตว์องค์นี้อยู่ในอิริยาบถยืนตรง มีแปดกรแต่ทุกพระกรเหลือเพียงช่วงบนเท่านั้น พระวรกายช่วงล่างตั้งแต่พระชานุลงไปหักหายหมดแล้วเช่นกันพระพักตร์อวบอิ่ม เครื่องประกอบพระพักตร์งามสมส่วน เปลือกพระเนตรปิดลงครึ่งหนึ่ง สวมมงกุฎที่ประดับด้วยกลุ่มเพชรพลอยทรงสามเหลี่ยม มวยพระเกศาทรงกระบอก มีรูปพระพุทธเจ้าอมิตาภะที่อยู่ภายในกรอบวงกลมประดับอยู่กึ่งกลางมวยพระเกศา ปลายพระเกศาเป็นลอนสยายปะพระอังสา สวมเครื่องประดับจำนวนมาก ได้แก่ ยัชโญปวีตที่ทำจากผ้า ยัชโญปวีตนี้ซ้อนทับโดยสังวาลไข่มุกประดับเพชรพลอยอีกชั้นหนึ่ง กรองศอมี 2 เส้น เส้นบนเป็นดั่งเม็ดไข่มุก เส้นล่างเป็นดั่งเครื่องประดับลายเพชรพลอย มีพาหุรัดประดับลายเพชรพลอย ในภาพรวมพระโพธิสัตว์องค์นี้แสดงความเกี่ยวข้องกับศิลปะอินเดียแบบปาละและศิลปะชวาภาคกลางของอินโดนีเซีย อย่างไรก็ตาม งานวิจัยของ รองศาสตราจารย์ ดร.เชษฐ์ ติงสัญชลี ชี้ให้เห็นว่ามีความสัมพันธ์กับศิลปะชวาภาคกลางมากกว่า นอกจากนี้ยังมีสิ่งที่ไม่ปรากฏทั้งในศิลปะปาละและศิลปะชวาภาคกลาง ซึ่งอาจหมายความว่าหล่อขึ้นในภาคใต้ของไทยเอง ได้แก่ ยัชโญปวีตแบบหนังสัตว์ที่ซ้อนทับด้วยสังวาลเพชรพลอย