ค้นหางานศิลปกรรม
ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
จิตรกรรมเรื่องวิปัสสนาญาณ
คำสำคัญ : จิตรกรรมเรื่องวิปัสสนาญาณ, วัดโพธิ์บางโอ
ชื่อหลัก | วัดโพธิ์บางโอ |
---|---|
ประเภทงานศิลปะ | จิตรกรรม |
ตำบล | บางกรวย |
อำเภอ | บางกรวย |
จังหวัด | นนทบุรี |
ภาค | ภาคกลาง |
ประเทศ | ไทย |
พิกัดภูมิศาสตร์ ค่าองศาทศนิยม | Lat : 13.8091 Long : 100.47212 |
พิกัดภูมิศาสตร์ พิกัดกริด | Zone : 47 P Hemisphere : N E : 659121.37 N : 1527102.38 |
ตำแหน่งงานศิลปะ | ภายในพระอุโบสถ |
ประวัติการสร้าง | ไม่ปรากฏหลักฐานการสร้างวัดโพธิ์บางโอที่แน่ชัด กระทั่งในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว กรมหลวงเสนีบริรักษ์ (ต้นตระกูลเสนีวงศ์) ได้รับมอบหมายจากสมเด็จพระศรีสุลาลัย พระราชมารดาในรัชกาลที่ 3 ให้ปฏิสังขรณ์และเป็นผู้ดูแลวัด จึงสันนิษฐานว่าจิตรกรรมฝาผนังในพระอุโบสถน่าจะเขียนขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 |
---|---|
กระบวนการสร้าง/ผลิต | ภาพเขียนสีฝุ่น |
ลักษณะทางศิลปกรรม | จิตรกรรมเรื่องวิปัสสนาญาณเขียนอยู่ที่ผนังระหว่างช่องหน้าต่าง ด้านซ้ายของพระพุทธรูปประธาน ฉากหลังเป็นภาพแนวป่าไม้โขดหินสีโทนน้ำตาล ซึ่งมีภาพบุคคล ได้แก่ ภิกษุ ชาวบ้าน อยู่ในอิริยาบถต่างๆ แต่งกายตามสมัยนิยม โดยผู้ชายนุ่งผ้าโจง มีผ้าคาดเอว ผู้หญิงนุ่งผ้า ห่มสไบ สีผิวออกขาวนวลโดยไล่สีอ่อนแก่แตกต่างกันในแต่ละบุคคล การเขียนภาพแม้จะเริ่มมีการแรเงาบ้างแล้ว แต่ยังขาดมิติตามหลักทัศนียวิทยา เช่นเดียวกับงานจิตรกรรมไทยประเพณีในสมัยก่อนมีข้อความที่เขียนอธิบายสั้นๆ ใต้ภาพบุคคลบางแห่ง มีทั้งชื่อญาณและกิเลสประเภทต่างๆ |
ข้อมูลที่สำคัญทางวิชาการ | จิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถวัดโพธิ์บางโอ แม้ไม่ปรากฏหลักฐานการเขียนภาพที่แน่ชัด แต่จากเนื้อหาที่เป็นภาพเรื่องวิปัสสนาญาณ ภาพปริศนาธรรมและภาพจริยวัตรสงฆ์อย่างเรื่องธุดงควัตร ทำให้สันนิษฐานได้ว่าน่าจะมีอายุไม่เก่าไปกว่าในสมัยรัชกาลที่ 3 เนื่องจากเป็นช่วงที่เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงเรื่องราวของภาพจิตรกรรม จากที่นิยมเขียนภาพพุทธประวัติและชาดก มาสู่เรื่องอื่นๆ ที่ยังคงเกี่ยวเนื่องกับพุทธศาสนาอย่างกว้างขวางขึ้น มีตัวอย่างเช่นที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม เรื่องหนึ่งที่โดดเด่นและไม่พบมากนักในแห่งอื่นคือจิตรกรรมเรื่องวิปัสสนาญาณ 9 ประการ ซึ่งมีอยู่ในคัมภีร์วิสุทธิมรรคที่กล่าวถึงข้ออภิธรรมและใช้เป็นคัมภีร์ศึกษาสำหรับพระสงฆ์ในสมัยรัชกาลที่ 3 เป็นต้นมา เรื่องวิปัสสนาญาณ 9 ประการมีเนื้อหาที่เป็นเรื่องนามธรรม กล่าวถึงสภาวะจิตของญาณแต่ละระดับ ช่างเขียนได้อุปมาเนื้อหาจากคัมภีร์ให้เกิดเป็นภาพจิตรกรรมที่แฝงไว้ด้วยแง่คิดทางธรรมเพื่อให้ผู้พบเห็นเข้าใจได้ง่าย พร้อมกับมีข้อความสั้นๆ กำกับไว้ เช่น ภาพชายผู้หนึ่งกำลังวิ่งหนีจากกลุ่มบุคคลที่มีอาวุธในมือมุ่งหน้าไปหาพระภิกษุ โดยกลุ่มบุคคลที่มีอาวุธเปรียบได้กับกิเลส ได้แก่ โลภะ โทสะ โมหะ เป็นต้น เปรียบเสมือนการหลีกหนีออกจากกิเลสไปสู่การปฏิบัติธรรมเพื่อบรรลุญาณต่อไป |
ยุค | ประวัติศาสตร์ |
สมัย/รูปแบบศิลปะ | รัตนโกสินทร์ |
อายุ | พุทธศตวรรษที่ 24 |
ศาสนา | พุทธ |
ลัทธิ/นิกาย | เถรวาท |
ศาสนา/ความเชื่อที่เกี่ยวข้อง | พุทธศาสนาเถรวาท |
รูปแบบลิขสิทธิ์ | Attribution-NonCommercial-NoDerivs (CC BY-NC-ND) |
---|---|
เจ้าของสิทธิ์ | ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) |
วันที่จัดทำข้อมูล | 2016-09-15 |
ผู้จัดทำข้อมูล | พัสวีสิริ เปรมกุลนันท์ |
บรรณานุกรม | ธาดา สุทธิเนตร. “ภาพจิตรกรรมฝาผนังในอุโบสถวัดโพธิ์บางโอ อ.บางกรวย จ.นนทบุรี”สารนิพนธ์ศิลปศาสตรบัณฑิต ภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2527. |