ค้นหางานศิลปกรรม
ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
จิตรกรรมจิตรกรรมเรื่องอสุภกรรมฐาน
จิตรกรรมเรื่องอสุภกรรมฐานภายในพระอุโบสถวัดโสมนัสวิหารฯ เป็นภาพภิกษุพิจารณาซากศพประเภทต่างๆจำนวน 10 ประเภท โดยแต่ละประเภทเหมาะสมกับผู้มีจริตนิสัยแตกต่างกันไป แต่ละห้องภาพมีองค์ประกอบที่คล้ายคลึงกันคือมีภาพพระสงฆ์ 1 รูป พิจารณาซากศพ 1 ประเภท โดยอยู่ในตอนล่างของภาพซึ่งแสดงถึงระยะที่อยู่ใกล้ผู้ชม เบื้องหลังในตำแหน่งที่สูงขึ้นแสดงระยะที่อยู่ไกลออกไปเป็นภาพทิวทัศน์ ประกอบด้วยทิวเขา ป่าไม้ มีเส้นขอบฟ้าเพื่อกำหนดระยะของวัตถุอื่นๆ ในภาพที่อยู่ไกลออกไปและแสดงบรรยากาศของเวลาที่น่าจะเป็นยามเย็นหรือใกล้ค่ำ ภาพอสุภกรรมฐานทั้ง 10 ประเภท ได้แก่1.อุทธุมาตกอสุภ (ศพขึ้นอืด)2. วินีลกอสุภ (ศพสีคล้ำ) 3.วิปุพพกอสุภ (ศพที่มีน้ำเหลือง) 4.วิจฉิททกอสุภ (ศพที่ถูกตัดเป็นท่อน) 5.วิกขายิตกอสุภ (ศพที่มีสัตว์ทั้งหลายกัดกินโดยอาการต่างๆ)6.วิกขิตตกอสุภ (ศพกระจุยกระจาย) 7.หตวิกขิตตกอสุภ (ศพถูกฟัน)8.โลหิตกอสุภ (ศพที่มีเลือดไหล) 9.ปุฬุวกอสุภ (ศพมีหนอน) 10.อัฏฐิกอสุภ (ศพที่เป็นร่างกระดูก)
ประติมากรรมเทพารักษ์สำหรับพระนคร
เทพารักษ์ทั้ง 5 องค์ มีรูปแบบเป็นเทวดาอย่างไทยประเพณี พระเศียรทรงมงกุฎยอดชัย ทรงสนับเพลามีภูษาทับ ประดับชายไหวชายแครงที่ด้านหน้าประดับสุวรรณกระถอบ คาดปั้นเหน่ง สวมกรองศอ พาหุรัด สังวาล ตาบทิศ ทับทรวง ทองพระกร ทองพระบาท ฉลองพระบาท แต่มีลักษณะเฉพาะและสิ่งของที่ทรงถือแตกต่างกัน ดังนี้1.พระเสื้อเมือง เป็นรูปเทวดาประทับยืน พระหัตถ์ซ้ายท้าวที่บั้นพระองค์ทรงคทาวุธหรือกระบอง พระหัตถ์ขวาทรงจักราวุธ2.พระทรงเมืองเป็นรูปเทวดาประทับยืน พระหัตถ์ซ้ายท้าวที่บั้นพระองค์ทรงพระขรรค์ พระหัตถ์ขวาทรงสังข์3.พระกาฬไชยศรี เป็นรูปเทวดา 4 กร ประทับนั่งบนหลังนกแสก พระหัตถ์ซ้ายบนทรงบ่วงบาศก์ พระหัตถ์ซ้ายล่างยกเสมอพระนาภี พระหัตถ์ขวาบนทรงชวาลาหรือโคมไฟ พระหัตถ์ขวาล่างทรงพระขรรค์4. เจ้าเจตคุปต์เป็นรูปเทวดาประทับยืนมีรูปนาครัดที่ข้อพระพาหาไพล่ไปเบื้องหลัง พระหัตถ์ขวาถือเหล็กจาร พระหัตถ์ซ้ายถือใบลาน 5.เจ้าหอกลอง เป็นรูปเทวดาประทับยืน มีรูปนาครัดที่ข้อพระพาหาไพล่ไปเบื้องหลัง พระหัตถ์ขวาถือดอกบัว พระหัตถ์ซ้ายถือเขาสัตว์
ประติมากรรมหลักเมืองกรุงเทพฯ
เสาหลักเมืองที่สร้างในรัชกาลที่ 1 เป็นเสาทรงกระบอกสอบขึ้น ส่วนโคนเสามีขนาดใหญ่กว่าส่วนปลายยอดเสาเป็นรูปดอกบัวตูม เสาทำด้วยไม้ชัยพฤกษ์มีไม้แก่นจันทน์ประกับนอก ฐานเสาเป็นรูปกลีบบัว ลงรักปิดทองคำเปลวโดยตลอด เสาหลักเมืองที่สร้างขึ้นในรัชกาลที่ 4 เป็นเสาไม้ชัยพฤกษ์ปิดทองทึบทั้งต้น ยอดเสาเม็ดทรงมัณฑ์ปิดทองประดับกระจก ฐานเสาทำด้วยไม้สัก เป็นรูปกลีบบัวฐานสิงห์หกเหลี่ยมปิดทองประดับกระจก
สถาปัตยกรรมพระบรมธาตุมหาเจดีย์
เจดีย์ทรงระฆังในผังกลมขนาดใหญ่ ส่วนฐานประกอบด้วยช่องประตูวงโค้งสลับคั่นด้วยเสาหลอกอย่างตะวันตก บานประตูประดับเหล็กดัด มีบันไดทางขึ้นสู่ฐานประทักษิณด้านบน ซึ่งมีช่องประตูที่สามารถเข้าสู่บริเวณภายในองค์เจดีย์ได้ 4 ทิศ รูปแบบภายนอกของเจดีย์ประกอบด้วยส่วนรองรับองค์ระฆังที่เป็นชุดมาลัยเถาซึ่งเป็นที่นิยมในสมัยอยุธยา แต่ได้เพิ่มมาลัยเถาให้เป็น 7 ชั้น ส่งผลให้องค์ระฆังมีขนาดเล็กลงกว่าเจดีย์ทรงระฆังในสมัยอยุธยา ถัดขึ้นไปเป็นบัลลังก์สี่เหลี่ยม ก้านฉัตรหรือแกนปล้องไฉนที่มีเสาหารล้อมรอบ ปล้องไฉน ปลียอดและลูกแก้ว รอบพระเจดีย์มีระเบียงคดในผังกลม หลังคาตัดเรียบแบบดาดฟ้า ประดิษฐานเจดีย์รายซึ่งเป็นเจดีย์ทรงระฆังจำนวน 18 องค์ ล้อมรอบเจดีย์ประธาน
จิตรกรรมจิตรกรรมเรื่องเวสสันดรชาดก
ภาพมหาเวสสันดรชาดกมีฉากใหญ่ที่ผนังเหนือช่องหน้าต่างและประตูรวม 3 ด้าน เรียงลำดับจากด้านขวาของพระประธาน ได้แก่ ผนังด้านทิศใต้เป็นฉากกัณฑ์หิมพานต์ เล่าเหตุการณ์ตอนพระเวสสันดรทรงบริจาคช้างปัจจัยนาเคนทร์แก่พราหมณ์เมืองกลิงคราษฎร์ ซึ่งเป็นเหตุให้ชาวเมืองสีพีไม่พอใจ ทำให้พระเวสสันดร พระนางมัทรีและพระโอรสธิดาต้องถูกเนรเทศออกจากเมือง ผนังด้านทิศตะวันออกเป็นฉากทานกัณฑ์ เล่าเหตุการณ์ขณะพระเวสสันดรเสด็จออกจากกรุงสีพีและได้ทรงบริจาคทางตลอดเส้นทางที่มุ่งหน้าสู่ป่าหิมพานต์แม้กระทั่งม้าเทียมรถและราชรถ ผนังด้านทิศเหนือเป็นฉากนครกัณฑ์ เล่าเหตุการณ์ในตอนจบที่กษัตริย์ทั้งหกเสด็จกลับสู่เมืองสีพีด้วยกระบวนอิสริยยศ โดยมีฉากพระราชวังที่ละม้ายคล้ายกับพระมหาปราสาทในพระบรมมหาราชวัง ส่วนภาพเหตุการณ์สำคัญจากกัณฑ์อื่นๆ อยู่บริเวณผนังระหว่างช่องหน้าต่าง ซึ่งมีการจัดวางองค์ประกอบโดยให้บุคคลสำคัญของเรื่องอยู่ใจกลางภาพ แวดล้อมด้วยฉากสถานที่หรือทิวทัศน์อย่างสมจริงตามเรื่องราวในชาดก
จิตรกรรมจิตรกรรมเรื่องธุดงควัตร
จิตรกรรมฝาผนังเรื่องธุดงควัตรเขียนอยู่บริเวณหนังระหว่างช่องหน้าต่างโดยรอบพระอุโบสถ โดย 1 ห้องภาพได้เขียนรายละเอียดของข้อวัตร 1 ข้อ เรียงลำดับกันไปจนครบทั้ง 13 ข้อ โดยมีข้อความเขียนอธิบายข้อวัตรแต่ละข้อที่ใต้ภาพ ธุดงควัตรทั้ง 13 ข้อ ได้แก่1. ถือการนุ่งห่มผ้าบังสุกุลเป็นวัตร2. ถือการนุ่งห่มผ้าสามผืนเป็นวัตร3. ถือการบิณฑบาตเป็นวัตร 4. ถือการบิณฑบาตไปโดยลำดับแถวเป็นวัตร5. ถือการฉันจังหันมื้อเดียวเป็นวัตร6. ถือการฉันในภาชนะเดียวคือบาตรเป็นวัตร 7. ถือการห้ามภัตตาหารที่เขานำมาถวายภายหลังเป็นวัตร 8. ถือการอยู่ป่าเป็นวัตร9. ถือการอยู่โคนต้นไม้เป็นวัตร10. ถือการอยู่ที่แจ้งเป็นวัตร11. ถือการอยู่ป่าช้าเป็นวัตร 12. ถือการอยู่ในเสนาสนะตามมีตามได้เป็นวัตร13. ถือการไม่นอนเป็นวัตร การเขียนภาพเริ่มใช้เทคนิคอย่างตะวันตกแล้ว สังเกตได้จากการกำหนดเส้นขอบฟ้า การแรเงา การใช้เส้นนำสายตาเพื่อให้เห็นระยะและมิติของภาพวัตถุและบุคคลต่างๆ ภาพต้นไม้ที่มีลักษณะเป็นพุ่มไล่สีเพื่อแสดงความอ่อนแก่ของใบไม้ ภาพคลื่นน้ำที่มีลักษณะเป็นธรรมชาติ ฉากส่วนใหญ่เป็นภาพอาคารสถานที่ในวัดและภาพทิวทัศน์ของป่าเขาอันเงียบสงบซึ่งเป็นที่ปฏิบัติศาสนกิจ ในขณะเดียวกันก็ยังปรากฏเทคนิคการเขียนภาพแบบไทยประเพณีอยู่ด้วย เช่นการเขียนภาพเทวดาทรงเครื่องประดับต่างๆ ซึ่งแสดงให้เห็นแนวคิดและพัฒนาการของงานช่างจิตรกรรมไทยในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สืบเนื่องจากสมัยก่อน
จิตรกรรมจิตรกรรมฝาผนังเรื่องปริศนาธรรม
ภาพจิตรกรรมเขียนด้วยสีฝุ่น โทนสีโดยรวมค่อนข้างมืดครึ้ม ใช้หลักทัศนียวิทยา (perspective) อย่างตะวันตก โดยกำหนดเส้นขอบฟ้าเพื่อเป็นจุดนำสายตา ก่อให้เกิดมิติเนื่องจากการแสดงระยะใกล้-ไกลของวัตถุหรือบุคคลในภาพ ใช้เทคนิคการเกลี่ยสีและให้แสงเงา ซึ่งแตกต่างจากการระบายสีแล้วตัดเส้นแบบจิตรกรรมไทยประเพณี ภาพบุคคลแต่งกายแบบตะวันตก เช่นเดียวกับอาคารบ้านเรือนที่เป็นสถาปัตยกรรมแบบยุโรป แม้ภาพโดยรวมจะมีรูปแบบอย่างตะวันตก แต่ยังคงปรากฏภาพเทวดานางฟ้าแต่งกายทรงเครื่องอย่างไทยประเพณีอยู่ในท่าเหาะบนท้องฟ้าที่มีก้อนเมฆและกลุ่มดาวต่างๆ ที่ใต้ภาพปริศนาธรรมแต่ละห้องมีข้อความอธิบายความหมายของแต่ละภาพ
ประติมากรรมพระนิรันตราย
พระนิรันตรายเป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ ประทับนั่งขัดสมาธิเพชร ครองจีวรห่มเฉียง สังฆาฏิเป็นแผ่นสี่เหลี่ยมเรียบขนาดใหญ่อย่างเหมือนจริงทับจีวรที่มีริ้วอย่างเป็นธรรมชาติ พระพักตร์มีรูปแบบคล้ายกับมนุษย์มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะใบพระกรรณที่หดสั้นลง ที่สำคัญคือไม่มีอุษณีษะ แต่ยังคงทำรัศมีเปลว ขมวดพระเกศา และมีอุณาโลมตามลักษณะมหาบุรุษ พระพุทธรูปประทับนั่งเหนือฐานสิงห์ มีรูปศีรษะโคที่ด้านล่าง ซึ่งมีความหมายถึงโคตมะ รอบองค์พระพุทธรูปประดับด้วยซุ้มเรือนแก้วประกอบกับซุ้มไม้โพธิ์ซึ่งมีคาถาพระพุทธคุณหรือบทอิติปิโส ซึ่งเป็นคาถาพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 4