ค้นหางานศิลปกรรม

ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 
 
 
 
 
 
 

เทพารักษ์สำหรับพระนคร

คำสำคัญ : ศาลหลักเมือง, ศาลเทพารักษ์, เทพารักษ์สำหรับพระนคร

ชื่อหลักศาลเทพารักษ์
ชื่ออื่นศาลหลักเมือง
ประเภทงานศิลปะประติมากรรม
ตำบลพระบรมมหาราชวัง
อำเภอเขตพระนคร
จังหวัดกรุงเทพมหานคร
ภาคภาคกลาง
ประเทศไทย
พิกัดภูมิศาสตร์
ค่าองศาทศนิยม
Lat : 13.752552
Long : 100.494237
พิกัดภูมิศาสตร์
พิกัดกริด
Zone : 47 P
Hemisphere : N
E : 661552.02
N : 1520862.37
ตำแหน่งงานศิลปะภายในศาลเทพารักษ์

ประวัติการสร้าง

สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1 แต่เดิมศาลเทพารักษ์เหล่านี้เป็นอาคารเครื่องไม้ โดยศาลพระเสื้อเมือง ศาลพระทรงเมือง ศาลพระกาฬไชยศรี อยู่ในบริเวณพื้นที่ระหว่างหน้าวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามกับคลองคูเมืองเดิม ซึ่งเป็นที่ตั้งของกรมการรักษาดินแดนในปัจจุบัน ใกล้กันเป็นที่ตั้งของศาลเจ้าเจตคุปต์หรือเจตคุกซึ่งอยู่ที่หน้าคุกของกรมพระนครบาล และศาลเจ้าหอกลองอยู่ที่หน้าหอกลองประจำเมือง

ในสมัยรัชกาลที่ 4 ได้ปรับปรุงศาลเหล่านี้ให้เป็นอาคารยอดปรางค์ตามแบบอย่างศาลพระกาฬที่พระนครศรีอยุธยา ในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้โปรดเกล้าฯ ให้เชิญเทพารักษ์ทั้งหมดมาประดิษฐานรวมกันไว้ในบริเวณศาลหลักเมือง

ในรัชกาลปัจจุบันโปรดเกล้าฯ ให้ประดิษฐานเทพารักษ์ทั้ง 5 องค์โดยจัดให้พระเสื้อเมืองและพระทรงเมืองอยู่บนแท่นฐานชั้นบน และชั้นล่างประดิษฐานเจ้าหอกลอง พระกาฬไชยศรี และเจ้าเจตคุปต์ตามลำดับ
กระบวนการสร้าง/ผลิต

พระเสื้อเมือง พระทรงเมือง พระกาฬไชยศรี และเจ้าหอกลอง หล่อด้วยโลหะปิดทอง เจ้าเจตคุปต์แกะสลักจากไม้

ประวัติการอนุรักษ์

พ.ศ. 2525 คณะกรรมการดำเนินการปรับปรุงศาลหลักเมือง ได้มอบหมายให้กองหัตถศิลป์ กรมศิลปากร ดำเนินการอนุรักษ์ และได้จัดสร้างวัตถุในพระหัตถ์ของเทวรูปแต่ละองค์ที่ชำรุดสูญหาย

ขนาดพระเสื้อเมือง สูง 93 เซนติเมตร พระทรงเมืองสูง 88 เซนติเมตร พระกาฬไชยศรีสูง 86 เซนติเมตร เจ้าเจตคุปต์สูง 133 เซนติเมตร เจ้าหอกลองสูง 105 เซนติเมตร
ลักษณะทางศิลปกรรม

เทพารักษ์ทั้ง 5 องค์ มีรูปแบบเป็นเทวดาอย่างไทยประเพณี พระเศียรทรงมงกุฎยอดชัย ทรงสนับเพลามีภูษาทับ ประดับชายไหวชายแครงที่ด้านหน้าประดับสุวรรณกระถอบ คาดปั้นเหน่ง สวมกรองศอ พาหุรัด สังวาล ตาบทิศ ทับทรวง ทองพระกร ทองพระบาท ฉลองพระบาท แต่มีลักษณะเฉพาะและสิ่งของที่ทรงถือแตกต่างกัน ดังนี้

1.พระเสื้อเมือง เป็นรูปเทวดาประทับยืน พระหัตถ์ซ้ายท้าวที่บั้นพระองค์ทรงคทาวุธหรือกระบอง พระหัตถ์ขวาทรงจักราวุธ

2.พระทรงเมืองเป็นรูปเทวดาประทับยืน พระหัตถ์ซ้ายท้าวที่บั้นพระองค์ทรงพระขรรค์ พระหัตถ์ขวาทรงสังข์

3.พระกาฬไชยศรี เป็นรูปเทวดา 4 กร ประทับนั่งบนหลังนกแสก พระหัตถ์ซ้ายบนทรงบ่วงบาศก์ พระหัตถ์ซ้ายล่างยกเสมอพระนาภี พระหัตถ์ขวาบนทรงชวาลาหรือโคมไฟ พระหัตถ์ขวาล่างทรงพระขรรค์

4. เจ้าเจตคุปต์เป็นรูปเทวดาประทับยืนมีรูปนาครัดที่ข้อพระพาหาไพล่ไปเบื้องหลัง พระหัตถ์ขวาถือเหล็กจาร พระหัตถ์ซ้ายถือใบลาน

5.เจ้าหอกลอง เป็นรูปเทวดาประทับยืน มีรูปนาครัดที่ข้อพระพาหาไพล่ไปเบื้องหลัง พระหัตถ์ขวาถือดอกบัว พระหัตถ์ซ้ายถือเขาสัตว์
ข้อมูลที่สำคัญทางวิชาการ

เมื่อสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานี นอกจากจะสร้างหลักเมืองเพื่อเป็นสิริมงคลแล้ว พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชยังได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างศาลประดิษฐานรูปเทพารักษ์สำหรับพระนครที่สำคัญอีก 5 องค์ ได้แก่ พระเสื้อเมือง พระทรงเมือง พระกาฬไชยศรี เจ้าเจตคุปต์หรือเจตคุก ศาลเจ้าหอกลอง มีความเชื่อว่าเทพารักษ์แต่ละองค์ทำหน้าที่ปกปักรักษาบ้านเมือง กล่าวคือ พระเสื้อเมืองเป็นผู้คุ้มครองทางบกและทางน้ำ คุมกำลังไพร่พล รักษาบ้านเมืองให้ร่มเย็นเป็นสุข พระทรงเมืองเป็นผู้ปกครองดูแลประทรวงทบวงกรมต่างๆพระกาฬไชยศรีเป็นบริวารพระยมมีหน้าที่นำวิญญาณมนุษย์ผู้ทำบาปไปสู่ยมโลก เจ้าเจตคุปต์เป็นบริวารพระยมเป็นผู้จดความชั่วร้ายของชาวเมืองที่ตายไปและอ่านประวัติของผู้ตายเสนอพระยม เจ้าหอกลองเป็นผู้รักษาเวลา และดูแลป้องกันเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นในแผ่นดิน เช่น เหตุอัคคีภัยหรือเมื่อมีข้าศึกศัตรูมาประชิดพระนคร เทพารักษ์สำหรับพระนครเป็นที่เคารพสักการะของพระมหากษัตริย์และประชาชน โดยปรากฏนามเทพารักษ์เหล่านี้ในประกาศสังเวยเทวดาในการพระราชพิธีต่างๆ เช่น พระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เป็นต้น

ยุคประวัติศาสตร์
สมัย/รูปแบบศิลปะรัตนโกสินทร์
อายุพุทธศตวรรษที่ 24-25
ศาสนา/ความเชื่อที่เกี่ยวข้องความเชื่อพื้นเมือง

รูปแบบลิขสิทธิ์Attribution-NonCommercial-NoDerivs (CC BY-NC-ND)
เจ้าของสิทธิ์ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
วันที่จัดทำข้อมูล2015-05-30
ผู้จัดทำข้อมูลพัสวีสิริ เปรมกุลนันท์
บรรณานุกรม

จดหมายเหตุการปรับปรุงศาลหลักเมืองกรุงเทพมหานคร พุทธศักราช 2325-2529.กรุงเทพฯ : คณะกรรมการดำเนินการปรับปรุงศาลหลักเมือง, 2531.

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสมมตอมรพันธ์. ประกาศการพระราชพิธี เล่ม 2.กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, 2550.