ค้นหางานศิลปกรรม
ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
จิตรกรรมเรื่องธุดงควัตร
คำสำคัญ : จิตรกรรมฝาผนัง, วัดมหาพฤฒาราม, วัดท่าเกวียน , วัดตะเคียน, จิตรกรรมเรื่องธุดงควัตร, เรื่องธุดงควัตร 13
ชื่อเรียกอื่น | เรื่องธุดงควัตร 13 |
---|---|
ชื่อหลัก | วัดมหาพฤฒาราม |
ชื่ออื่น | วัดท่าเกวียน วัดตะเคียน |
ประเภทงานศิลปะ | จิตรกรรม |
ตำบล | มหาพฤฒาราม |
อำเภอ | เขตบางรัก |
จังหวัด | กรุงเทพมหานคร |
ภาค | ภาคกลาง |
ประเทศ | ไทย |
พิกัดภูมิศาสตร์ ค่าองศาทศนิยม | Lat : 13.732559 Long : 100.516446 |
พิกัดภูมิศาสตร์ พิกัดกริด | Zone : 47 P Hemisphere : N E : 663967.23 N : 1518663.82 |
ตำแหน่งงานศิลปะ | ผนังระหว่างช่องหน้าต่าง ภายในพระอุโบสถ |
ประวัติการสร้าง | วัดมหาพฤฒารามสันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยอยุธยา เดิมชื่อวัดท่าเกวียน หรือวัดตะเคียน ต่อมาในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงปฏิสังขรณ์ใหม่ เนื่องจากเคยได้เสด็จมาที่วัดนี้เมื่อทรงผนวช ในคราวนั้นพระอธิการแก้วเจ้าอาวาสได้ทูลถวายพยากรณ์ว่าจะได้เป็นพระมหากษัตริย์ พระองค์จึงมีรับสั่งว่าถ้าได้ครองแผ่นดินจริงจะมาสร้างวัดให้อยู่ใหม่ เมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์จึงโปรดเกล้าฯให้สถาปนาวัดขึ้นใหม่ โดยโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ (ทัต บุนนาค) เป็นแม่กองในการก่อสร้าง พระราชทานนามว่า "วัดมหาพฤฒาราม" |
---|---|
กระบวนการสร้าง/ผลิต | ภาพเขียนสีฝุ่น |
ลักษณะทางศิลปกรรม | จิตรกรรมฝาผนังเรื่องธุดงควัตรเขียนอยู่บริเวณหนังระหว่างช่องหน้าต่างโดยรอบพระอุโบสถ โดย 1 ห้องภาพได้เขียนรายละเอียดของข้อวัตร 1 ข้อ เรียงลำดับกันไปจนครบทั้ง 13 ข้อ โดยมีข้อความเขียนอธิบายข้อวัตรแต่ละข้อที่ใต้ภาพ ธุดงควัตรทั้ง 13 ข้อ ได้แก่ 1. ถือการนุ่งห่มผ้าบังสุกุลเป็นวัตร 2. ถือการนุ่งห่มผ้าสามผืนเป็นวัตร 3. ถือการบิณฑบาตเป็นวัตร 4. ถือการบิณฑบาตไปโดยลำดับแถวเป็นวัตร 5. ถือการฉันจังหันมื้อเดียวเป็นวัตร 6. ถือการฉันในภาชนะเดียวคือบาตรเป็นวัตร 7. ถือการห้ามภัตตาหารที่เขานำมาถวายภายหลังเป็นวัตร 8. ถือการอยู่ป่าเป็นวัตร 9. ถือการอยู่โคนต้นไม้เป็นวัตร 10. ถือการอยู่ที่แจ้งเป็นวัตร 11. ถือการอยู่ป่าช้าเป็นวัตร 12. ถือการอยู่ในเสนาสนะตามมีตามได้เป็นวัตร 13. ถือการไม่นอนเป็นวัตร การเขียนภาพเริ่มใช้เทคนิคอย่างตะวันตกแล้ว สังเกตได้จากการกำหนดเส้นขอบฟ้า การแรเงา การใช้เส้นนำสายตาเพื่อให้เห็นระยะและมิติของภาพวัตถุและบุคคลต่างๆ ภาพต้นไม้ที่มีลักษณะเป็นพุ่มไล่สีเพื่อแสดงความอ่อนแก่ของใบไม้ ภาพคลื่นน้ำที่มีลักษณะเป็นธรรมชาติ ฉากส่วนใหญ่เป็นภาพอาคารสถานที่ในวัดและภาพทิวทัศน์ของป่าเขาอันเงียบสงบซึ่งเป็นที่ปฏิบัติศาสนกิจ ในขณะเดียวกันก็ยังปรากฏเทคนิคการเขียนภาพแบบไทยประเพณีอยู่ด้วย เช่นการเขียนภาพเทวดาทรงเครื่องประดับต่างๆ ซึ่งแสดงให้เห็นแนวคิดและพัฒนาการของงานช่างจิตรกรรมไทยในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สืบเนื่องจากสมัยก่อน |
ข้อมูลที่สำคัญทางวิชาการ | จิตรกรรมฝาผนังในช่วงรัชกาลที่ 4 มีการเปลี่ยนแปลงเนื้อหาจากภาพพุทธประวัติและชาดก มาเขียนภาพเกี่ยวกับข้อวัตรปฏิบัติของพระสงฆ์ การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวทำให้ในบางแห่งนิยมเขียนคำอธิบายไว้ใต้ภาพเพื่อให้พุทธศาสนิกชนเข้าใจ วัตรปฏิบัติที่สำคัญเรื่องหนึ่งที่เขียนอยู่ภายในพระอุโบสถวัดมหาพฤฒารามคือเรื่องธุดงควัตร เป็นข้อถือปฏิบัติสำหรับพระสงฆ์เพื่อให้ห่างไกลจากกิเลส มีทั้งสิ้น 13 ข้อ จิตรกรรมฝาผนังได้ถ่ายทอดรายละเอียดของข้อปฏิบัติเหล่านั้นผ่านภาพพระสงฆ์ที่ปฏิบัติศาสนกิจต่างๆ รวมทั้งภาพพุทธศาสนิกชนซึ่งมีส่วนช่วยทำให้พุทธศาสนาดำรงมั่นคงในสังคมไทย ความสมจริงที่แสดงออกในงานจิตรกรรม ไม่เพียงแต่จะถ่ายทอดผ่านภาพวัดวาอารามและผู้คนอย่างที่เห็นในบ้านเมืองขณะนั้น แต่ยังแสดงออกผ่านรายละเอียดของธุดงควัตรในแต่ละข้อ ตรงตามที่กล่าวไว้ในพระคัมภีร์ ดังเช่นภาพเรื่องการรับผ้าบังสุกุลของพระสงฆ์ซึ่งได้ให้รายละเอียดของผ้าแต่ละประเภทที่จะสามารถรับมาทำผ้าจีวรได้ ตามที่ระบุไว้ในคัมภีร์ว่ามีผ้าทั้งสิ้น 23 ประเภท |
ยุค | ประวัติศาสตร์ |
สมัย/รูปแบบศิลปะ | รัตนโกสินทร์ |
อายุ | พุทธศตวรรษที่ 25 |
ศาสนา | พุทธ |
ลัทธิ/นิกาย | เถรวาท |
ศาสนา/ความเชื่อที่เกี่ยวข้อง | พุทธศาสนาเถรวาท |
ตำนานที่เกี่ยวข้อง | เรื่องธุดงควัตรในคัมภีร์วิสุทธิมรรค |
งานศิลปะที่เกี่ยวข้อง | จิตรกรรมเรื่องธุดงควัตรมีเขียนแทรกไว้ในวัดแห่งอื่นๆด้วย เช่น วัดมกุฏกษัตริยาราม วัดโสมนัสวิหาร เป็นต้น |
รูปแบบลิขสิทธิ์ | Attribution-NonCommercial-NoDerivs (CC BY-NC-ND) |
---|---|
เจ้าของสิทธิ์ | ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) |
วันที่จัดทำข้อมูล | 2016-04-01 |
ผู้จัดทำข้อมูล | พัสวีสิริ เปรมกุลนันท์ |
บรรณานุกรม | นวลจันทร์ มงคลเจริญโชค. “จิตรกรรมฝาผนังเรื่องธุดงควัตรสิบสามภายในพระอุโบสถวัดมหาพฤฒารามวรวิหาร”วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาประวัติศาสตร์ศิลปะ มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2549. พัสวีสิริ เปรมกุลนันท์. “จิตรกรรมฝาผนัง : พระราชประสงค์รัชกาลที่ 4 เรื่องจริยวัตรสงฆ์” วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาประวัติศาสตร์ศิลปะ มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2552. |