ค้นหางานศิลปกรรม
ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
จิตรกรรมเรื่องเวสสันดรชาดก
คำสำคัญ : วัดราชาธิวาส, จิตรกรรมฝาผนัง, วัดสมอราย, จิตรกรรมเรื่องเวสสันดรชาดก
ชื่อหลัก | วัดราชาธิวาส |
---|---|
ชื่ออื่น | วัดสมอราย |
ประเภทงานศิลปะ | จิตรกรรม |
ตำบล | วชิรพยาบาล |
อำเภอ | เขตดุสิต |
จังหวัด | กรุงเทพมหานคร |
ภาค | ภาคกลาง |
ประเทศ | ไทย |
พิกัดภูมิศาสตร์ ค่าองศาทศนิยม | Lat : 13.775429 Long : 100.503323 |
พิกัดภูมิศาสตร์ พิกัดกริด | Zone : 47 P Hemisphere : N E : 662518.13 N : 1523397.61 |
ตำแหน่งงานศิลปะ | ผนังภายในพระอุโบสถ |
ประวัติการสร้าง | ในสมัยรัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้บูรณปฏิสังขรณ์พระอุโบสถวัดราชาธิวาสขึ้นใหม่ โดยสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์เป็นผู้ออกแบบ และนาย ซี. อาเลกรี (C. Alegri) วิศวกรกรมโยธาธิการเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้าง ในส่วนจิตรกรรมฝาผนังนั้นสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงออกแบบและร่างภาพไว้ และให้นายคาร์โล ริโกลี (Carlo Rigoli) จิตรกรชาวอิตาเลียนเป็นผู้ขยายแบบและระบายสี โดยภาพเรื่องมหาเวสสันดรชาดกทั้ง 13 กัณฑ์นั้น ทรงร่างภาพเองจำนวน 12 กัณฑ์ และให้นายคาร์โล ริโกลี ร่างภาพกัณฑ์ที่ 13 ตามคำแนะนำของพระองค์ |
---|---|
กระบวนการสร้าง/ผลิต | ภาพปูนเปียก หรือ Fresco |
ลักษณะทางศิลปกรรม | ภาพมหาเวสสันดรชาดกมีฉากใหญ่ที่ผนังเหนือช่องหน้าต่างและประตูรวม 3 ด้าน เรียงลำดับจากด้านขวาของพระประธาน ได้แก่ ผนังด้านทิศใต้เป็นฉากกัณฑ์หิมพานต์ เล่าเหตุการณ์ตอนพระเวสสันดรทรงบริจาคช้างปัจจัยนาเคนทร์แก่พราหมณ์เมืองกลิงคราษฎร์ ซึ่งเป็นเหตุให้ชาวเมืองสีพีไม่พอใจ ทำให้พระเวสสันดร พระนางมัทรีและพระโอรสธิดาต้องถูกเนรเทศออกจากเมือง ผนังด้านทิศตะวันออกเป็นฉากทานกัณฑ์ เล่าเหตุการณ์ขณะพระเวสสันดรเสด็จออกจากกรุงสีพีและได้ทรงบริจาคทางตลอดเส้นทางที่มุ่งหน้าสู่ป่าหิมพานต์แม้กระทั่งม้าเทียมรถและราชรถ ผนังด้านทิศเหนือเป็นฉากนครกัณฑ์ เล่าเหตุการณ์ในตอนจบที่กษัตริย์ทั้งหกเสด็จกลับสู่เมืองสีพีด้วยกระบวนอิสริยยศ โดยมีฉากพระราชวังที่ละม้ายคล้ายกับพระมหาปราสาทในพระบรมมหาราชวัง ส่วนภาพเหตุการณ์สำคัญจากกัณฑ์อื่นๆ อยู่บริเวณผนังระหว่างช่องหน้าต่าง ซึ่งมีการจัดวางองค์ประกอบโดยให้บุคคลสำคัญของเรื่องอยู่ใจกลางภาพ แวดล้อมด้วยฉากสถานที่หรือทิวทัศน์อย่างสมจริงตามเรื่องราวในชาดก |
ข้อมูลที่สำคัญทางวิชาการ | จิตรกรรมฝาผนังในพระอุโบสถวัดราชาธิวาสเป็นภาพเขียนสีบนปูนเปียกแบบตะวันตก ผนังด้านหน้าพระประธานและด้านข้างทั้ง 2 ฝั่งเขียนภาพเรื่องมหาเวสสันดรชาดก รวม 13 กัณฑ์ ซึ่งสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงออกแบบและร่างภาพไว้ รูปแบบของภาพจิตรกรรมมีลักษณะที่สมจริง จัดองค์ประกอบโดยให้แสงเงาและแสดงมิติของวัตถุ ภาพทิวทัศน์ที่แสดงให้เห็นบรรยากาศต่างๆตามท้องเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นท้องฟ้าที่เต็มไปด้วยก้อนเมฆ ภาพต้นไม้ ทิวเขา หรือแม้แต่บ้านเรือน กระท่อมและปราสาทราชวัง ภาพบุคคลมีขนาดใหญ่ แสดงลักษณะกล้ามเนื้อทางกายวิภาค แสดงสีหน้าและอารมณ์ และไม่มีการปิดทองที่เครื่องทรงหรือภาพบุคคลสำคัญ แต่ใช้วิธีการจำแนกชนชั้นของภาพบุคคลด้วยอาภรณ์ที่สวมใส่และเครื่องประดับต่างๆ โดยสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ได้ทรงศึกษาและทรงแยกลักษณะเด่นของบุคคลไว้ 4 ประเภทตามวรรณะต่างๆ เพื่อนำมาใช้ในการเขียนภาพจิตรกรรม ได้แก่ กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ และศูทร ซึ่งองค์ประกอบต่างๆเหล่านี้ ทำให้จิตรกรรมในพระอุโบสถวัดราชาธิวาส มีความแตกต่างจากจิตรกรรมไทยประเพณี และเป็นตัวอย่างสำคัญของงานช่างจิตรกรรมแบบตะวันตกฝีพระหัตถ์สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ |
ยุค | ประวัติศาสตร์ |
สมัย/รูปแบบศิลปะ | รัตนโกสินทร์ |
อายุ | พุทธศตวรรษที่ 25 |
ศาสนา | พุทธ |
ลัทธิ/นิกาย | เถรวาท |
ศาสนา/ความเชื่อที่เกี่ยวข้อง | พุทธศาสนาเถรวาท |
ตำนานที่เกี่ยวข้อง | เวสสันดรชาดก, ทศชาดก |
รูปแบบลิขสิทธิ์ | Attribution-NonCommercial-NoDerivs (CC BY-NC-ND) |
---|---|
เจ้าของสิทธิ์ | ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) |
วันที่จัดทำข้อมูล | 2016-04-01 |
ผู้จัดทำข้อมูล | พัสวีสิริ เปรมกุลนันท์ |
บรรณานุกรม | จารุณี อินเฉิดฉาย. ศิลปกรรมวัดราชาธิวาส. กรุงเทพฯ : สมาคมนักเรียนเก่าราชาธิวาส, 2546. พระราชกวีและคณะ.ประวัติวัดราชาธิวาส.กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์สุรวัฒน์, 2543. ประชุมพงศาวดาร เล่ม 15. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภา, 2507. สุรศักดิ์ เจริญวงศ์. สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ “สมเด็จครู”นายช่างใหญ่แห่งกรุงสยาม. กรุงเทพฯ : มติชน, 2549. |