ค้นหางานศิลปกรรม
ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
สถาปัตยกรรมมัสยิดบางหลวง
มัสยิดแห่งนี้มีผังพื้นเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีหลังคาพาไลยื่นออกมาข้างหน้า ด้านอื่นเป็นหลังคาปีกนก มีเสารองรับหลังคา บันไดทางขึ้นอยู่ทางทิศเหนือและใต้ของพาไลด้านหน้า หลังคาทรงจั่วมุงกระเบื้องว่าวสีเขียว หน้าบันปูนปนั้นผสมผสานศิลปะไทย ตะวันตก และจีน ภายในห้องละหมาดมีมิมบัรและมิห์รอบที่สร้างขึ้นใหม่โดยเจ้าสัวพุกในสมัยรัชกาลที่ 6 แทนที่ของเดิมที่ชำรุดลง มิห์รอบเป็นซุ้มก่ออิฐถือปูนทรงสามยอดประดับกระจกสี สันนิษฐานว่ามีที่มาจากซุ้มประตูวัดอนงคารามมีการแกะสลักอักษรอาหรับเป็นพระนามขององค์อัลลอฮ์และมีโองการสำคัญติดตั้งอยู่ภายในซุ้ม
สถาปัตยกรรมอาสนวิหารอัสสัมชัญ
โบสถ์อัสสัมชัญนี้ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาโดยหันแท่นบูชาสู่แม่น้ำ ตัวโบสถ์มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืมผ้า ตัวอาคารสร้างเลียนแบบสถาปัตยกรรมแบบโรมาเนสก์ ด้านหน้ามีหลังคาทรงจั่ว มีหน้าต่างกลมลายกลีบดอกไม้(Rose Window) ขนาดใหญ่ขนาบสองข้างด้วยหอคอยทรงสี่เหลี่ยม ผนังด้านข้างมีเสาอิงเลียนแบบเสายัน(Buttress) ด้านหลังเป็นผนังโค้งหลังคาทรงกรวยผ่าครึ่ง ภายในมีการแบ่งพื้นที่เป็น 3 ส่วนคือระเบียงโล่งด้านหน้า โถงชุมนุมใหญ่ มีเฉลียงด้านข้าง และส่วนศักดิ์สิทธิ์ด้านในอันเป็นที่ตั้งของพระแท่นหินอ่อนขนาดใหญ่ ด้านหลังมีการเจาะหน้าต่างให้แสงเข้า ตกแต่งหน้าต่างด้วยกระจกเคลือบสีต่อด้วยรูปนักบุญ เพดานโค้งทรงประทุนเป็นลายตารางสี่เหลี่ยมจัตุรัสติดดาวสีทอง หัวเสาเป็นแบบไอโอนิคผสมโครินเธียน ตกแต่งภายในด้วยจิตรกรรมปูนเปียกและประติมากรรมปูนปั้น ส่วนโถงทางเข้ามีการชั้นลอยสำหรับนักขับร้องและออร์แกนขนาดใหญ่
สถาปัตยกรรมโบสถ์ซางตาครู้ส
โบสถ์วัดซางตาครู้สหันหน้าลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ผังของโบสถ์เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่มีด้านสกัดหลังเป็นรูปหกเหลี่ยมอาคารเป็นสถาปัตยกรรมสมัยฟื้นฟูเรเนซองส์(Renaissance Revival) หลังคาไม้มุงกระเบื้อง ด้านหน้ามีช่องประตู 3 ช่อง หลังคาประตูโค้ง มีการตกแต่งด้วยหน้าต่างกลมลายกลีบดอกไม้ (Rose Window) ตรงกลางมีหอระฆังสูงยอดโดมเป็นรูปไข่ ด้านบนสุดเป็นไม้กางเขน ด้านสกัดหลังเป็นรูปหกเหลี่ยมหลังคาปั้นหยามุงกระเบื้อง ภายในมีฝ้าเพดานทรงประทุนบรรจุลายดาวเพดานในช่องสี่เหลี่ยมจัตุรัส ด้านในเป็นที่ตั้งไม้กางเขน ด้านหลังเป็นซุ้มหลังคาทรงจั่วแบบคลาสสิตกแต่งด้วยปูนปั้นแบบคอรินเธียน
สถาปัตยกรรมศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
รูปแบบสถาปัตยกรรมของศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์นี้ ใช้การวางผังแบบหมู่เรือนไทยโดยมีห้องประชุมใหญ่อยู่ตรงกลาง ตัวอาคารเป็นทรงสี่เหลี่ยมคางหมูหลังคาปลายตัด ด้านหน้ามีทางเข้าทำเป็นจั่วสามเหลี่ยมซ้อนกัน ภายในมีการแบ่งออกเป็นโซนต่างๆ การออกแบบภายในใช้เอกลักษณ์ของภูมิภาคต่างๆ เป็นแนวความคิดในการออกแบบ ได้แก่ โถงอเนกประสงค์ใช้รูปแบบของภาคเหนือ ลานอเนกประสงค์ใช้รูปแบบของภาคใต้ โถงต้อนรับใช้รูปแบบของภาคอีสาน และภัตตาคาร ร้านอาหารใช้รูปแบบของภาคกลาง
สถาปัตยกรรมสถานีรถไฟกรุงเทพ
สถานีรถไฟหัวลำโพงนี้เป็นสถานีรถไฟแบบปลายตัน ประกอบด้วยอาคาร 2 ส่วนเชื่อมต่อกัน คือโถงระเบียงหน้าสถานีและโถงชานชาลา โถงระเบียงหน้าออกแบบโดยนายมาริโอ ตามาญโญในปี พ.ศ. 2455 แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2459 มีผังเป็นรูปตัว E มีมุขกลางขนาดใหญ่มีหลังคาโค้ง ปลายสองด้านเป็นป้อมรูปสี่เหลี่ยมเชื่อมต่อกันด้วยระเบียงยาวชั้นเดียว ใช้เสาไอโอนิครับน้ำหนัก ส่วนโถงชานชาลาสร้างขึ้นก่อนโดยนายเกอร์เบอร์ แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2455 เป็นอาคารโถงหลังคาโค้งกว้างทำด้วยเหล็ก ผนังด้านหน้ากรุแผ่นกระจกเล็กๆเรียงกัน มีหอคอยสี่เหลี่ยมจัตุรัสที่ปลายปีกทั้งสองด้าน
สถาปัตยกรรมศาลาเฉลิมกรุง
ศาลาเฉลิมกรุงมีผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าตัดมุมด้านตะวันตกเฉียงเหนือ ตัวอาคารเป็นทรงกล่องสี่เหลี่ยมเรียบเกลี้ยงสูง 3 และ 4 ชั้น มีทางเข้า 3 ช่อง มีการเจาะช่องหน้าต่างที่มีขนาดแตกต่างกันตามหน้าที่การใช้งาน มีลวดลายฉลุลายไทยประยุกต์แบบเรขาคณิตเป็นรูปหัวลิง ยักษ์ และฤๅษี ภายในแบ่งพื้นที่เป็น 2 ส่วน คือโถงหน้าและโรงหนัง ตกแต่งแบบเรียบง่ายด้วยลายไทยประยุกต์ และรูปเทวดาขนาดใหญ่ ภายในโรงภาพยนตร์มีเพดานสูง 15 เมตร ที่นั่งผู้ชมลดหลั่นตามขั้นบันได
สถาปัตยกรรมตึกแถวถนนหน้าพระลาน
เป็นอาคารสองชั้น ผังอาคารมีลักษณะเป็นรูปตัว E ขนานไปกับแนวถนน มี 3 มุขคือ มุขกลางและหัวท้ายโดยเชื่อมต่อกันด้วยปีก มีการแบ่งเป็นห้องๆ มุขกลางมี 3 ห้อง มีหน้าบันครึ่งวงกลมขนาดใหญ่ตกแต่งด้วยปูนปั้นรูปดอกบัวขนาบด้วยแจกัน คอสองประดับเฟื่องอุบะ ระเบียงชั้นสองมีเสาลอยรับหน้าบัน หน้าต่างโค้งแบบบานแฝดในกรอบวงโค้งคู่กับซุ้มโค้งด้านล่างที่มีชุดบานเฟี้ยม หลังคามุงด้วยกระเบื้องว่าว
สถาปัตยกรรมตึกแถวถนนราชดำเนินกลาง
อาคารบนถนนราชดำเนินกลางนี้มีลักษณะที่ผสมผสานสถาปัตยกรรมตะวันตกที่ใช้รูปทรงเรขาคณิตมาประกอบกัน วางอาคารยาวตามแนวของถนน อาคารเป็นทรงตึกสูง 3 ชั้นครึ่ง แบ่งอาคารออกเป็นช่วงๆ บริเวณมุมก่อมุขโค้งครึ่งวงกลม มีทางเข้าอยู่ตรงกลาง มีแนวครีบคอนกรีตทางตั้งระหว่างหน้าต่างและกันสาดบริเวณทางเข้า ส่วนหน้าต่างอื่นๆมีกันสาดคอนกรีตเสริมเหล็กด้านบนและปูนปั้นด้านล่าง ลวดลายตกแต่งทางสถาปัตยกรรมมีการลดทอดจนเหลือเพียงเค้าโครงเส้นรอบนอก ผนังด้านนอกฉาบปูนไม่เรียบและเซาะร่องเลียนแบบการเรียงหิน หลังคาตัดเป็นดาดฟ้าบริเวณส่วนโค้งบริเวณมุมหรือปลายอาคารเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก ตรงกลางเป็นหลังคาจั่วโค้งโครงไม้มุงกระเบื้องโดยมีการยกขอบสูงเพื่อบังและทำเป็นกันสาดไม่ให้เห็นจากภายนอก