ค้นหางานศิลปกรรม
ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
สถาปัตยกรรมพระมหาธาตุเจดีย์นภเมทนีดล
เจดีย์เป็นทรงระฆังแปดเหลี่ยมมีลวดบัวรัดแบ่งองค์เจดีย์ออกเป็น 3 ชั้น ผิวภายนอกองค์เจดีย์ประดับด้วยโมเสกแก้วสีน้ำตาล ส่วนยอดสุดเป็นปลียอดสีทองรองรับด้วยดอกบัวบาน 8 กลีบ เหนือปลียอดกั้นฉัตรโลหะสีเงิน 9 ชั้น ตัวเจดีย์ตั้งอยู่บนระเบียงกว้าง 2 ระดับ ประดับด้วยซุ้มภาพดินเผาเป็นเรื่องทศชาติชาดกและภาพป่าหิมพานต์ ซุ้มระเบียงด้านล่างเป็นสัญลักษณ์กองทัพอากาศ ในขณะที่ทางเข้าเจดีย์ประดิษฐานพระปรมาภิไธยย่อ ภปร. ทั้ง 4 ด้านภายในเป็นห้องโถง ประดิษฐานพระพุทธรูปนั่งปางประทานพรแกะสลักจากหินแกรนิตสีเขียวจากอินโดนีเซียไว้ที่กึ่งกลางโถง พระบาทสมเด็จพระปรมิรทรมหาภูมิพลอดุลยเดชพระราชทานนามว่า “พระพุทธบรมศาสดานวมินทรมหาจักรีราชานุสรณ์ สัฐิพรรษาสถาพรพิพัฒน์” ผนังภายในมีภาพแกะสลักจากหินแกรนิตสีเขียวเป็นภาพสังเวชนียสถาน เพดานห้องโถงตกแต่งด้วยโมเสกแก้วเป็นรูปดอกสาละเจดีย์องค์นี้สร้างโดยผสมผสานข้อธรรมะสำคัญในพุทธศาสนามาเป็นแนวคิดในการออกรายละเอียดต่างๆ ได้แก่ 1) ทรงแปดเหลี่ยมของเจดีย์หมายถึงมรรค 8 2) การแบ่งเจดีย์เป็น 3 ชั้น หมายถึงการบำเพ็ญบารมี 3 ขั้น ได้แก่ บารมี อุปบารมี และปรมัตถบารมี โดยแต่ละขั้นจะมีขั้นละ 10 ทัศ รวมเป็น 30 ทัศ 3) ดอกบัวบานรองรับยอดปลี หมายถึงการตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณและเสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน นอกจากแนวคิดเรื่องพระพุทธศาสนาแล้วยังมีบางแนวคิดที่สัมพันธ์กับพระบาทสมเด็จพระปรมิรทรมหาภูมิพลอดุลยเดชด้วย คือ เจดีย์มีความสูง 60 เมตร หมายถึงการสร้างเมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมพรรษา 60 พรรษา
สถาปัตยกรรมบ้านดำ
ตัวอาคารแต่ละหลังได้รับการออกแบบให้มีแนวคิด และความน่าสนใจที่แตกต่างกันออกไป รวมถึงสิ่งที่สะสมและจัดแสดงภายในบ้าน เช่น บ้านล้านนา บ้านล้านช้าง ภายในจัดแสดงเครื่องเงิน เขาสัตว์ กระดูกสัตว์ต่างๆ อาคารมหาวิหาร สร้างขึ้นเพื่อใช้ประโยชน์ในจัดการแสดงศิลปะ ทั้งถาวรและหมุนเวียน หรืออูบหัวนกกกที่ได้แรงบันดาลใจจากนกเงือก ด้านในเป็นที่อยู่อาศัย อาคารทั้งหมดล้วนทาสีดำ
สถาปัตยกรรมอุโบสถวัดร่องขุ่น
มีสะพานข้ามไปยังอุโบสถซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมแบบไทยประเพณี ใช้โทนสีขาว เงินและทอง ตัวอาคารทั้งหมดประดับหน้าบันด้วย ช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์และองค์ประกอบสถาปัตยกรรมอื่นๆ ที่เป็นงานปูนปั้นประดับกระจกทั้งสิ้น ทั้งลายเครือเถา กระหนกเปลว ประติมากรรมรูปสัตว์ในคัมภีร์ผสมผสานกับจินตนาการของศิลปิน ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปประทับนั่งปางแสดงธรรม ตกแต่งด้วยจิตรกรรมฝาผนังพุทธประวัติที่มีการนำเสนอในรูปแบบใหม่ผสมผสานกับรูปทรงเชิงนามธรรมทั้งทางโลกและทางธรรมอุโบสถหลังนี้มีการผสมผสานหลักธรรมทางพุทธศาสนาเข้ากับทั้งตัวอาคาร ประติมากรรมและสี เช่นสีขาว หมายถึง พระบริสุทธิคุณของพระพุทธเจ้ากระจกขาว หมายถึง พระปัญญาธิคุณของพระพุทธเจ้าสะพาน หมายถึง การเดินข้ามวัฏสงสารสู่พุทธภูมิสันของสะพานซึ่งประดับด้วยรูปอสูรอมกันข้างละ 8 ตัว หมายถึง อุปกิเลส 18กึ่งกลางสะพาน หมายถึง เขาพระสุเมรุ ดอกบัวทิพย์ 4 ดอกใหญ่ตรงทางขึ้นพระอุโบสถ หมายถึง ซุ้มพระอริยเจ้า 4 คือ พระโสดาบัน พระสกิทาคามี พระอนาคามี พระอรหันต์บันไดทางขึ้น 3 ขั้น หมายถึง อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ช่อฟ้าบนสันหลังคา หมายถึง ศีล สมาธิ ปัญญา
สถาปัตยกรรมพระธาตุหริภุญชัย
พระธาตุหริภุญชัยจัดเป็นรูปแบบของเจดีย์ทรงระฆังแบบล้านนา ก่ออิฐ หุ้มทองจังโก องค์ประกอบสำคัญตั้งแต่ส่วนฐานจนถึงส่วนยอด ได้แก่ ฐานบัวสองฐานซ้อนกันในผังสี่เหลี่ยมเพิ่มมุม(หรือยกเก็จ) ถัดขึ้นไปเป็นชุดฐานบัวลูกแก้วอกไก่ในผังกลมซ้อนลดหลั่นกัน 3 ชั้น ถัดขึ้นไปเป็นองค์ระฆังกลมซึ่งมีลายประจำยามและภาพดุนนูนพระพุทธรูปประดับอยู่ จากนั้นเป็นบัลลังก์เพิ่มมุมไม้สิบสอง แกนปล้องไฉน ปล้องไฉน ปลี และฉัตร
สถาปัตยกรรมรัตนเจดีย์
รัตนเจดีย์เป็นเจดีย์ทรงปราสาทยอดระฆัง สร้างด้วยอิฐ ฉาบปูน ประดับตกแต่งด้วยปูนปั้น แผนผังแปดเหลี่ยม ส่วนฐานค่อนข้างชำรุด ส่วนกลางเป็นเรือนธาตุ แต่ละด้านมีพระพุทธรูปยืนอยู่ภายในซุ้ม มุมทั้งแปดของเรือนธาตุตกแต่งด้วยเสาอิง ถัดขึ้นไปเป็นชั้นซ้อนลดหลั่นกันต่อด้วยองค์ระฆัง ยอดสุดพังทลายลงแล้ว
สถาปัตยกรรมเจดีย์กู่กุด
เจดีย์กู่กุดเป็นเจดีย์ทรงปราสาทผังสี่เหลี่ยมก่อด้วยศิลาแลง ตกแต่งด้วยปูนปั้น มีองค์ประกอบสำคัญคือ เรือนธาตุในผังสี่เหลี่ยมซ้อนลดหลั่นกัน 5 ชั้น โดยชั้นล่างมีขนาดใหญ่ที่สุด จากนั้นค่อยๆลดขนาดลงไปจนถึงชั้นที่ห้าซึ่งมีขนาดเล็กที่สุดเรือนธาตุแต่ละชั้นมีพระพุทธรูปยืนประดิษฐานอยู่ภายในซุ้มด้านละ 3 ซุ้ม รวม 4 ด้าน ทำให้มีซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูปในแต่ละชั้น 12 องค์ รวม 5 ชั้นเป็น 60 องค์ มุมทั้งสี่ของเรือนธาตชั้นที่ 1 -4 ประดับด้วยสถูปิกะ ถัดขึ้นไปจากเรือนธาตุชั้นที่ห้าเป็นปล้องไฉนในผังสี่เหลี่ยม ยอดสุดหักพังลงแล้ว
สถาปัตยกรรมซุ้มประตูโขง วัดพระธาตุลำปางหลวง
ซุ้มประตูโขงก่อด้วยอิฐฉาบปูน ช่องทางเข้ามีลักษณะเป็นวงโค้ง ตัวอาคารอยู่ในผังยกเก็จ ส่วนยอดของโขงประกอบด้วยชุดหลังคาลาดซ้อนชั้นลดหลั่นกันในผังยกเก็จ ประดับลวดลายปูนปั้นรูปนาคที่หน้าบัน ประดับมุมอาคารด้วยลวดลายปูนปั้นที่เรียกว่า ลายเครือล้านนา ในตำแหน่งกาบบน กาบล่าง ประจำยามอก ซึ่งมีขนาดใหญ่ ลักษณะคล้ายลายฉลุโปร่ง ตัวลายประกอบด้วยลายคดโค้ง มีลายดอกโบตั๋นประกอบด้วยก้านใบ ลวดลายเหล่านี้ได้รับอิทธิพลจากเครื่องถ้วยจีนและเป็นที่นิยมในการประดับสถาปัตยกรรมในล้านนา โดยเฉพาะในช่วงพุทธศตวรรษที่ 21
สถาปัตยกรรมพระธาตุลำปางหลวง
พระธาตุลำปางหลวงเป็นเจดีย์ทรงกลมก่ออิฐหุ้มด้วยทองจังโก องค์ประกอบสำคัญลำดับจากส่วนฐานถึงส่วนยอดได้ดังนี้ ฐานบัวสี่เหลี่ยมเพิ่มมุมขนาดใหญ่ ซึ่งออกแบบคล้ายฐานบัวซ้อนกันสองชั้นแบบที่นิยมในล้านนาช่วงพุทธศตวรรษที่ 20-21 ถัดขึ้นไปเป็นบัวถลาซ้อนลดหลั่นกัน 3 ชั้น ซึ่งเป็นลักษณะของสุโขทัย องค์ระฆังกลมซึ่งตกแต่งด้วยเส้นรัดอกดุนนูน ถัดขึ้นไปเป็นแกนปล้องไฉน ปล้องไฉน ปลี และฉัตร