ค้นหางานศิลปกรรม

ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 
 
 
 
 
 
 
แสดง 25 ถึง 32 จาก 51 รายการ, 7 หน้า
พระเจ้าเก้าตื้อ
เชียงใหม่
ประติมากรรมพระเจ้าเก้าตื้อ

พระพุทธรูปองค์นี้ประทับนั่งขัดสมาธิราบ แสดงปางมารวิชัย พระพักตร์รูปไข่ ขมวดพระเกศาเล็ก อุษณีษะทรงสูง รัศมีเป็นเปลวไฟค่อนข้างสูง พระเนตรหรี่เหลือบต่ำ พระโอษฐ์แย้ม พระหนุเป็นปม พระวรกายสมส่วน ครองจีวรห่มเฉียง ชายสังฆาฏิแผ่นใหญ่ยาวถึงพระนาภีปลายแตกเป็นเขี้ยวตะขาบ ประทับนั่งบนฐานหน้ากระดานเกลี้ยง

พระเจ้าล้านทอง
ลำปาง
ประติมากรรมพระเจ้าล้านทอง

พระพุทธรูปองค์นี้ประทับนั่งขัดสมาธิเพชร แสดงปางมารวิชัย พระพักตร์รูปไข่ กรอบพระพักตร์เล็ก ขมวดพระเกศาเล็ก พระรัศมีเป็นเปลว พระนลาฏแคบ พระโอษฐ์เล็กมีร่องด้านข้าง พระวรกายบอบบาง สังฆาฏิแผ่นใหญ่ปลายแตกเป็นเขี้ยวตะขาบประทับนั่งบนฐานบัหงายมีกลีบขนาดใหญ่และเกสรบัว ประดิษฐานภายในกู่ปราสาท

กู่พระเจ้าล้านทอง
ลำปาง
ประติมากรรมกู่พระเจ้าล้านทอง

กู่พระเจ้าล้านทองมีส่วนฐานที่ประกอบด้วยฐานเขียงรองรับฐานบัวสองฐานซ้อนกันในผังยกเก็จโดยไม่มีลูกแก้วอกไก่ประดับที่ท้องไม้ ส่วนฐานที่เพิ่มเข้ามาผระดับลวดลายปูนปั้นลายเครือล้านนา คือลายดอกไม้ใบไม้ และมีรูปสัตว์แทรก มีลูกแก้วมารองรับฐานบัว เรือนธาตุเป็นห้องสี่เหลี่ยมเพิ่มมุมด้านละ 3 มุม มีการยกเก็จเป็นเสาซุ้มอยู่ 2 มุม แต่ละมุมประดับลายกาบบน กาบล่าง ประจำยามอก เรือนธาตุมีฐานบัวเชิงเป็นฐานบัวลูกแก้วอกไก่ที่ด้านล่างและบัวรัดเกล้าที่ด้านบน ภายในประดิษฐานพระเจ้าล้านทอง เจาะช่องเฉพาะด้านหน้า ด้านอื่นประดับรูปเทวดาเป็นลายเส้นในซุ้มจระนำ เรือนชั้นซ้อนมีการผสมผสานกันระหว่างแบบเรือนชั้นซ้อนและแบบหลังคาลาด ซึ่งเป็นรูปแบบที่นิยมในศิลปะล้านนา แสดงตัวเรือนที่มีฐานบัวคว่ำบัวหงายลูกแก้วอกไก่รองรับเรือนธาตุที่มีช่องจระนำประดับซุ้มบรรพแถลง กรอบสามเหลี่ยมคล้ายกลีบขนุนและเสาหัวเม็ดขนาดเล็ก หลังคาเอนมีการประดับสันหลังคาด้วยมังกรหรือปัญจรูป ส่วนยอดเป็นทรงพุ่มคล้ายดอกบัวในผังยกเก็จปลายเป็นรูปกลีบบัวต่อด้วยลูกแก้วเป็นวงซ้อนกันและยอดสุดเป็นปลี

พระพุทธรูป
ลำพูน
ประติมากรรมพระพุทธรูป

แผ่นเงินดุนนูนพระพุทธรูปกลุ่มนี้ล้วนอยู่ไหนสภาพชำรุดมากบ้างน้อยบ้างต่างกันไป บ้างเหลือแต่พระเศียร บ้างเหลือแต่พระวรกาย มีทั้งพระพุทธรูปยืนและพระพุทธรูปนั่ง รูปแบบโดยรวมแสดงให้เห็นถึงความเป็นศิลปะหริภุญชัย ขณะเดียวกันก็แสดงความเกี่ยวข้องกับศิลปะพม่าสมัยพุกามด้วย เช่น การทำพระพุทธรูปสวมมงกุฏทรงเทริดขนนก การนั่งขัดสมาธิเพชร

เศียรพระพุทธรูป
ลำพูน
ประติมากรรมเศียรพระพุทธรูป

เศียรพระพุทธรูปองค์นี้มีรูปพระพักตร์ค่อนข้างยาว รูปแบบอันเป็นเอกลักษณ์ของประติมากรรมดินเผาศิลปะหริภุญชัย ได้แก่ พระขนงต่อเป็นปีกกาและเป็นสันนูน พระเนตรโปน เปลือกพระเนตรหลี่ลงต่ำเพียงครึ่งหนึ่ง พระนาสิกบาน พระโอษฐ์แบะ มีพระมัสสุ (หนวด) มีการร่องเพื่อเน้นเส้นขอบตามส่วนต่างๆ ที่กล่าวถึงข้างต้น มีพระอุณาโลมกลางพระนลาฏ พระเกศาขมวดเป็นวงก้นหอย มีไรพระศกเป็นแถบนูน

พระพุทธรูป
ลำพูน
ประติมากรรมพระพุทธรูป

พระพุทธรูปสำริดองค์นี้ชำรุดมาก พบไม่ครบทุกส่วน โดยพบเพียงพระเศียร พระวรกายช่วงบน พระหัตถ์ และพระบาท ลักษณะเด่นของพระพุทธรูปองค์นี้ที่แสดงความเกี่ยวข้องกับศิลปะก่อนกรุงศรีอยุธยาหรืออู่ทองทางภาคกลาง ได้แก่ พระพักตร์สี่เหลี่ยม ในขณะที่ส่วนอื่นๆ แสดงการสืบเนื่องจากงานศิลปะหริภุญชัยที่สร้างขึ้นก่อนหน้าเอง เช่น พระขนงต่อกันเป็นปีกกสและคมเป็นสัน มีพระมัสสุ (หนวด) เหนือพระโอษฐ์ พระเนตรหลี่ต่ำเพียงครึ่งหนึ่ง ครองจีวรห่มคลุมไม่มีริ้ว พระหัตถ์ทั้งสองที่หลุดแยกออกจากพระวรกายแล้วทำปางแสดงธรรม อันแสดงถึงร่องรอยความสัมพันธ์กับศิลปะทวารวดีภาคกลาง

พระตำหนักดอยตุง
เชียงราย
สถาปัตยกรรมพระตำหนักดอยตุง

พระตำหนักดอยตุงเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กสองชั้น ผสมผสานสถาปัตยกรรมล้านนาและชาเลต์ของสวิสส์ ผนังด้านนอกปิดด้วยปีกไม้สักทอง ผนังด้านในบุด้วยไม้สนภูเขา ชั้นบนจะเสมอกับลานกว้างของยอดเนินเขา ชั้นล่างจะลดหลั่นไปตามเนินเขา ชั้นบนแบ่งเป็น 4 ส่วน เป็นท้องพระโรงซึ่งมีชั้นยกใต้หลังคาสำหรับเก็บของ ที่ประทับของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ที่ประทับของสมเด็จพระพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ และที่ประทับของท่านผู้หญิงทัศนาวลัย ศรสงครามเหนือจั่วหลังคาพระตำหนักเป็นกาแลจำหลักลาย เชิงชายแกะลายเมฆไหล ตามขอบหน้าต่างและระเบียงแกะสลักเป็นภาพการดำเนินชีวิตของชาวเหนือเกี่ยวกับช้างและป่าไม้ ภายในห้องประดับด้วยไม้แกะสลักศิลปะพื้นบ้านเป็นรูปดอกไม้ กลุ่มดาวและสัตว์ผนังเชิงบันไดสู่ชั้นล่างแกะเป็นตัวอักษรภาษาไทย ตรงลูกกรงเป็นไม้จำหลักรูปเลขไทย ภายในท้องพระโรงบุฝาผนังด้านหนึ่งด้วยผ้าไหมปักรูปดอกไม้ และประดับภาพสีน้ำมันขนาดใหญ่ เสาบางต้นแขวนผ้าครอสติชเป็นรูปต่างๆ หน้าประตูห้องบรรทมเป็นผ้าตัวอักษรภาษาอังกฤษล้อมด้วยดอกไม้ตามอักษรขึ้นต้น ด้านหลังพระตำหนักเป็นระเบียงยาว บริเวณกระบะสำหรับปลูกดอกไม้แกะสลักภาพโขลงช้างในป่าและช้างทำงาน ด้านหน้าพระตำหนักเป็นสนามหญ้าและสวนดอกไม้ ชั้นล่างเป็นส่วนที่พักและที่ทำการของข้าราชบริพาร บนผนังจารึกบทกวีของสุนทรภู่เรื่องสุนทรภู่ ด้านหน้าสวนหน้าพระตำหนักไปทางด้านที่ประทับมีสวนครัวเล็กๆส่วนพระองค์ ทำแปลงผัก

พระมหาธาตุเจดีย์นภพลภูมิสิริ
เชียงใหม่
สถาปัตยกรรมพระมหาธาตุเจดีย์นภพลภูมิสิริ

เจดีย์เป็นทรงระฆังในผัง 12 เหลี่ยม พื้นผิวเจดีย์ประดับด้วยโมเสกแก้วสีม่วง ผนังด้านนอกตกแต่งด้วยภาพดินเผาเคลือบสีเป็นเรื่องของพระภิกษุณีผู้เป็นเลิศกว่าภิกษุณีทั้งมวล องค์เจดีย์ช่วงล่างมีบัวรัดรอบ แบ่งออกเป็น 4 ชั้น ช่วงบนแบ่งเป็นชั้นเล็กๆอีก 25 ชั้น ก่อนถึงยอดปลีมีฐานรองรับซึ่งแบ่งออกเป็นชั้นเล็กๆอีก 8 ชั้น ยอดปลีด้านบนประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ เหนือยอดปลีมีฉัตรโลหะสีเงิน 9 ชั้น องค์เจดีย์มีระเบียง 2 ระดับตกแต่งด้วยภาพดินเผาเคลือบสีน้ำตาลเล่าเรื่องอุบาสิกาที่พระพุทธเจ้าประกาศว่าเป็นเลิศกว่าอุบาสิกาทั้งหลายและภาพสวรรค์ 6 ชั้น บริเวณทางเข้าประดิษฐานพระนามาภิไธยย่อ สก. ทั้ง 3 ด้านภายในโถงกลางทรงโดม ผนังตอนล่างตกแต่งด้วยภาพแกะสลักหินแกรนิตสีขาวเล่าเรื่องพระราชกรณียกิจสำคัญของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ผนังตอนบนตกแต่งด้วยโมเสกแก้ว ออกแบบและลงสีด้วยคอมพิวเตอร์เล่าเรื่องพุทธประวัติที่สัมพันธ์กับพระนางสิริมหามายา พระนางปชาบดีโคตมี พระนางยโสธราพิมพา และนางวิสาขา บนเพดานตกแต่งด้วยโมเสกแก้วสีรูปดอกสาละ ประดิษฐานพระพุทธรูปปางรำพึงแกะสลักจากหยกขาว ได้รับพระราชทานนามว่า “พระพุทธสิริกิติทีฆายุมงคล” เจดีย์องค์นี้สร้างโดยผสมผสานข้อธรรมะสำคัญในพุทธศาสนามาเป็นแนวคิดในการออกรายละเอียดต่างๆ ได้แก่1) ทรง 12 เหลี่ยมหมายถึง อัจฉริยธรรม 12 ประการของพระพุทธมารดา2) การแบ่งชั้นเจดีย์น้อยใหญ่รวม 37 ชั้น หมายถึงโพธิปักขิยธรรม 37 ประการการที่เจดีย์องค์นี้เลือกใช้สีม่วงเพื่อให้มีความอ่อนหวานงดงามตามลักษณะความงามของกุลสตรีไทย เจดีย์องค์นี้มีความสูง 55 เมตรซึ่งต่ำกว่าความสูงของพระมหาธาตุเจดีย์นภเมทนีดล มีความหมายถึงพระชนมพรรษาของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ซึ่งอ่อนกว่าพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช 5 พรรษา