ค้นหางานศิลปกรรม

ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 
 
 
 
 
 
 
แสดง 105 ถึง 112 จาก 198 รายการ, 25 หน้า
พระพุทธปัญญาอัคคะ
กรุงเทพมหานคร
ประติมากรรมพระพุทธปัญญาอัคคะ

พระพุทธรูปประทับยืนเหนือฐานสิงห์กลีบบัว ที่ฐานมีจารึกพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในการสร้างพระพุทธรูป แสดงปางประทานอภัย 2 พระหัตถ์ หรือปางห้ามสมุทร ปลายนิ้วพระหัตถ์ทั้ง 4 ยาวเท่ากัน ครองจีวรห่มคลุมพระอังสาทั้ง 2 ข้างแหวกกลางพระอุระ อย่างเดียวกับการห่มจีวรอย่างแหวกของภิกษุรามัญนิกาย จีวรเป็นริ้วอย่างธรรมชาติ แลเห็นจีวรที่ห่มทับสบงที่เป็นริ้วชั้นใน รูปแบบของการทำจีวรจึงแสดงถึงแนวคิดอย่างสมจริง พระพักตร์อ่อนเยาว์ดูสงบนิ่งคล้ายใบหน้าบุคคลจริง ใบพระกรรณหดสั้น แต่พุทธลักษณะอื่นๆยังคงไว้ ได้แก่ ขมวดพระเกศาเป็นเม็ดเล็ก รองรับพระรัศมีเปลว เหนือพระเศียรประดับด้วยฉัตรทองฉลุลาย 5 ชั้น

จิตรกรรมเรื่องชาดก 550 ชาติ
กรุงเทพมหานคร
จิตรกรรมจิตรกรรมเรื่องชาดก 550 ชาติ

ผนังรอบพระอุโบสถแบ่งเป็นช่องสี่เหลี่ยมขนาดเท่าๆกัน เขียนลายกระหนกเป็นกรอบ ภายในช่องเขียนภาพชาดกแตกต่างกัน และมีข้อความกำกับใต้ภาพแต่ละเรื่อง ชาดกแต่ละเรื่องนำเสนอผ่านฉากเหตุการณ์สำคัญในแต่ละตอน ภาพบุคคลสำคัญเช่นพระโพธิสัตว์ เทวดา กษัตริย์ปิดทองที่เครื่องทรง มีกิริยาอย่างนาฏลักษณ์ ภาพอาคารมีที่เป็นรูปแบบอาคารอย่างไทยประเพณี อาคารแบบจีน บ้านเรือนผู้คนที่มีรูปแบบตามสมัยนิยม

พระสัมพุทธพรรณีจำลองและภาพศากยสมาคม
กรุงเทพมหานคร
ประติมากรรมพระสัมพุทธพรรณีจำลองและภาพศากยสมาคม

พระสัมพุทธพรรณีจำลองมีรูปแบบเดียวกับพระสัมพุทธพรรณีที่ประดิษฐานในพระบรมมหาราชวัง กล่าวคือ เป็นพระพุทธรูปประทับนั่งขัดสมาธิราบบนฐานสิงห์แสดงปางสมาธิโดยปลายนิ้วพระหัตถ์ทั้ง 4 ยาวเสมอกัน พุทธลักษณะโดยทั่วไปคล้ายกับพระพุทธรูปในสมัยรัชกาลที่ 3 ที่มีพระพักตร์สงบนิ่งคล้ายหุ่น พระเนตรเรียวเล็ก พระขนงโก่ง มีอุณาโลม พระกรรณยาว พระนาสิกแหลม และพระโอษฐ์บาง ครองจีวรห่มเฉียงและเริ่มทำริ้วจีวรอย่างเป็นธรรมชาติที่ฐานของพระสัมพุทธพรรณีมีจารึกข้อความด้วยอักษรมอญ ภาษาบาลี จำนวน 4 บรรทัด ประดับด้วยลวดลายคล้ายผ้าม่านม้วนและพวงมาลาแบบตะวันตก รวมทั้งมีลวดลายสลักเป็นพรรณพฤกษาและซุ้มศัตราวุธที่หน้ากระดานล่างของฐาน ภาพศากยวงศ์หรือกษัตริย์ในราชวงศ์ศากยะ เขียนเป็นภาพบุคคลที่มีขนาดใกล้เคียงกับพระพุทธรูป แสดงลักษณะกล้ามเนื้อทางกายวิภาค แสดงสีหน้าและอารมณ์ และไม่มีการปิดทองที่เครื่องทรง แต่แสดงสถานภาพด้วยอาภรณ์ที่สวมใส่และเครื่องประดับต่างๆ

พระพุทธสิหังคปฏิมากร
กรุงเทพมหานคร
ประติมากรรมพระพุทธสิหังคปฏิมากร

พระพุทธรูปประทับนั่งขัดสมาธิราบบนฐานสิงห์ ชั้นบนเป็นรูปกลีบบัวซ้อนชั้น แสดงปางสมาธิ พระพักตร์ค่อนข้างกลม ขมวดพระเกศาเล็ก มีอุษณีษะรองรับเปลวรัศมี ครองจีวรห่มเฉียง ชายสังฆาฏิยาวเป็นแผ่นจรดพระนาภี

จิตรกรรมเรื่องศรีธนญชัย
กรุงเทพมหานคร
จิตรกรรมจิตรกรรมเรื่องศรีธนญชัย

จิตรกรรมฝาผนังเรื่องศรีธนญชัยอยู่บริเวณผนังระหว่างช่องหน้าต่างของพระวิหารวัดปทุมวนาราม เทคนิคการเขียนภาพและรูปแบบเป็นเช่นเดียวกับจิตรกรรมในสมัยรัชกาลที่ 4 แห่งอื่นๆ กล่าวคือ เริ่มใช้หลักทัศนียวิทยาแสดงระยะและมิติของภาพ คำนึงถึงความสมจริง โดยมีภาพสถาปัตยกรรมตามสมัยนิยมในขณะนั้น อย่างภาพปราสาทราชวังที่จำลองอาคารบางแห่งจากพระบรมมหาราชวัง ภาพวัดซึ่งจำลองภาพวัดปทุมวนาราม ภาพผู้คนแต่งกายอย่างสมจริง เช่น ทหารที่ใส่เครื่องแบบที่ได้รับอิทธิพลตะวันตก ภาพชาวบ้านที่แต่งกายอย่างไทย ลาว ภาพบรรยากาศและทิวทัศน์ต่างๆแสดงออกอย่างเป็นธรรมชาติ เช่น ผืนน้ำที่มีเรือใบ และท้องฟ้าที่มีก้อนเมฆ

วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม
กรุงเทพมหานคร
สถาปัตยกรรมวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม

ภายในวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมารามมีสถาปัตยกรรมที่สำคัญหลายแห่ง แบ่งเป็นพื้นที่เขตพุทธาวาสและสังฆาวาส ในส่วนพุทธาวาสมีอาคารสำคัญ ได้แก่ พระวิหารหลวงที่มีรูปแบบอย่างไทยประเพณี ตัวอาคารประดับด้วยหินอ่อน หลังคาเครื่องไม้มุงกระเบื้องประดับเครื่องลำยอง หน้าบันเป็นรูปพระมหามงกุฎและพระขรรค์ประดิษฐานบนพานแว่นฟ้า เบื้องล่างมีรูปช้างสำคัญ ขนาบด้วยฉัตร เบื้องหลังพระวิหารหลวงเป็นที่ตั้งของ ปาสาณเจดีย์ ซึ่งเป็นเจดีย์ประธานของวัด มีรูปแบบเป็นเจดีย์ทรงระฆังแบบพระราชนิยมในรัชกาลที่ 4 สร้างจากหินอ่อน นอกจากนี้ยังมีอาคารสำคัญอื่นอีก เช่น หอพระจอม รูปแบบและแผนผังของวัดที่มีองค์ประกอบหลักอย่างเรียบง่ายคือพระวิหารและพระเจดีย์เช่นนี้ พบได้ในวัดที่สร้างขึ้นตามพระราชประสงค์ของรัชกาลที่ 4 ส่วนเขตสังฆาวาสของวัดนี้ซึ่งเป็นที่อยู่ของสงฆ์นั้นมีข้อกำหนดไว้ว่าเป็นเขตหวงห้ามสำหรับสตรี

ตำหนักจิตรลดา
กรุงเทพมหานคร
สถาปัตยกรรมตำหนักจิตรลดา

ตำหนักจิตรลดาเป็นอาคารแบบอิตาเลียนวิลล่า แผนผังเป็นรูปตัว U อย่างไม่สมมาตร มีระเบียงทางด้านหน้าและหลัง และมีโถงกลางอาคารเพื่อระบายอากาศ หลังคาทรงปั้นหยา ชายคายื่นพอประมาณ ป ระตูหน้าต่างประดับลวดลายปูนปั้นพรรณพฤกษาแบบเรขาคณิต ช่องประตูหน้าต่างเป็นสี่เหลี่ยมที่ประดับด้านบนด้วยแนววงโค้ง ภายในแบ่งเป็นห้องชุดได้แก่ ห้องพระบรรทม ห้องทรงงาน การตกแต่งภายในเป็นศิลปกรรมแบบบาร็อค เน้นความหรูหรา ส่วนห้องที่ไม่ใช้งานสำคัญตกแต่งอย่างเรียบง่าย รูปแบบศิลปะคล้ายกับการตกแต่งพระที่นั่งอัมพรสถานเนื่องจากเป็นงานออกแบบของสถาปนิกคนเดียวกันและอยู่ภายในพระราชวังดุสิตเช่นกัน

พระพุทธชัมภูนุทมหาบุรุษลักขณาอสีตยานุบพิตร
กรุงเทพมหานคร
ประติมากรรมพระพุทธชัมภูนุทมหาบุรุษลักขณาอสีตยานุบพิตร

พระพุทธชัมภูนุทมหาบุรุษลักขณาอสีตยานุบพิตรมีรูปแบบเฉพาะอย่างพระพุทธรูปที่สร้างในสมัยรัชกาลที่ 3 กล่าวคือ พระวรกายค่อนข้างเพรียว พระพักตร์ค่อนข้างกลมกึ่งรูปไข่ ขมวดพระเกศาเล็ก พระรัศมีเป็นเปลว พระขนงโก่ง เส้นขอบเปลือกพระเนตรและพระขนงป้ายเป็นแผ่นเช่นเดียวกับพระพุทธรูปอยุธยาตอนปลาย พระเนตรเปิดและมองตรง พระนาสิกค่อนข้างเล็กและโด่ง พระโอษฐ์เล็ก เส้นพระโอษฐ์อ่อนโค้งเล็กน้อยเกือบเป็นเส้นตรง คล้ายเรือประทุน พระพักตร์อย่างหุ่น ประทับนั่งแสดงปางมารวิชัย นิ้วพระหัตถ์เรียวยาวเสมอกัน สังฆาฏิเป็นแผ่นใหญ่พาดอยู่กึ่งกลางพระวรกาย