ค้นหางานศิลปกรรม
ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
พระสัมพุทธพรรณีจำลองและภาพศากยสมาคม
คำสำคัญ : วัดราชาธิวาส, พระสัมพุทธพรรณีจำลองและภาพศากยสมาคม
ชื่อหลัก | วัดราชาธิวาส |
---|---|
ประเภทงานศิลปะ | ประติมากรรม |
ตำบล | ดุสิต |
อำเภอ | เขตดุสิต |
จังหวัด | กรุงเทพมหานคร |
ภาค | ภาคกลาง |
ประเทศ | ไทย |
พิกัดภูมิศาสตร์ ค่าองศาทศนิยม | Lat : 13.775417 Long : 100.50333 |
พิกัดภูมิศาสตร์ พิกัดกริด | Zone : 47 P Hemisphere : N E : 662517.77 N : 1523396.86 |
ตำแหน่งงานศิลปะ | ภายในพระอุโบสถ |
ประวัติการสร้าง | พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้บูรณปฏิสังขรณ์วัดราชาธิวาส และโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระสัมพุทธพรรณีจำลองเพื่อเป็นพระประธานในพระอุโบสถ สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงเป็นผู้ออกแบบพระอุโบสถ นาย ซี. อาเลกรี (C. Alegri) วิศวกรกรมโยธาธิการเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้าง ส่วนภาพจิตรกรรมฝาผนังนั้น สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงออกแบบและร่างภาพไว้นายคาร์โล ริโกลี (Carlo Rigoli) จิตรกรชาวอิตาเลียนเป็นผู้ขยายแบบและระบายสี |
---|---|
ลักษณะทางศิลปกรรม | พระสัมพุทธพรรณีจำลองมีรูปแบบเดียวกับพระสัมพุทธพรรณีที่ประดิษฐานในพระบรมมหาราชวัง กล่าวคือ เป็นพระพุทธรูปประทับนั่งขัดสมาธิราบบนฐานสิงห์แสดงปางสมาธิโดยปลายนิ้วพระหัตถ์ทั้ง 4 ยาวเสมอกัน พุทธลักษณะโดยทั่วไปคล้ายกับพระพุทธรูปในสมัยรัชกาลที่ 3 ที่มีพระพักตร์สงบนิ่งคล้ายหุ่น พระเนตรเรียวเล็ก พระขนงโก่ง มีอุณาโลม พระกรรณยาว พระนาสิกแหลม และพระโอษฐ์บาง ครองจีวรห่มเฉียงและเริ่มทำริ้วจีวรอย่างเป็นธรรมชาติ ที่ฐานของพระสัมพุทธพรรณีมีจารึกข้อความด้วยอักษรมอญ ภาษาบาลี จำนวน 4 บรรทัด ประดับด้วยลวดลายคล้ายผ้าม่านม้วนและพวงมาลาแบบตะวันตก รวมทั้งมีลวดลายสลักเป็นพรรณพฤกษาและซุ้มศัตราวุธที่หน้ากระดานล่างของฐาน ภาพศากยวงศ์หรือกษัตริย์ในราชวงศ์ศากยะ เขียนเป็นภาพบุคคลที่มีขนาดใกล้เคียงกับพระพุทธรูป แสดงลักษณะกล้ามเนื้อทางกายวิภาค แสดงสีหน้าและอารมณ์ และไม่มีการปิดทองที่เครื่องทรง แต่แสดงสถานภาพด้วยอาภรณ์ที่สวมใส่และเครื่องประดับต่างๆ |
ข้อมูลที่สำคัญทางวิชาการ | พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้จำลองพระสัมพุทธพรรณีเพื่อเป็นพระพุทธรูปประธานภายในพระอุโบสถวัดราชาธิวาส โดยจำลองจากพระสัมพุทธพรรณีที่ประดิษฐานในวัดพระศรีรัตนศาสดารามซึ่งเป็นพระพุทธรูปองค์แรกที่เจ้าฟ้ามงกุฎทรงสร้างขึ้นเมื่อยังทรงผนวชและประทับ ณ วัดสมอรายหรือวัดราชาธิวาส พระสัมพุทธพรรณีจึงเป็นพระพุทธรูปสำคัญของคณะสงฆ์ธรรมยุตินิกายที่ถือกำเนิดขึ้น ณ วัดราชาธิวาสนี้ พระสัมพุทธพรรณีจำลองในพระอุโบสถ ประดิษฐานอยู่ภายในซุ้มที่มีตราพระบรมราชสัญลักษณ์ประจำรัชกาลที่ 1-5 ที่ด้านบน ภายในซุ้มเบื้องหลังพระสัมพุทธพรรณีจำลองเขียนภาพศากยสมาคม ด้านบนเขียนภาพพระพุทธเจ้า พระสารีบุตรและเทวดา ลักษณะสำคัญประการหนึ่ง คือ การเขียนภาพศากยสมาคม โดยมีพระสัมพุทธพรรณีเป็นประธาน แวดล้อมด้วยภาพเหล่ากษัตริย์แห่งศากยวงศ์ สะท้อนให้เห็นแนวคิดที่เชื่อว่าพระสัมพุทธพรรณีเป็นรูปแทนองค์พระพุทธเจ้า โดยขนาดพระวรกายของพระพุทธเจ้าก็ไม่ได้แตกต่างจากคนธรรมดาทั่วไป ดังจะเห็นได้จากภาพกษัตริย์แห่งศากยวงศ์ที่มีขนาดใกล้เคียงกันกับพระพุทธรูป รูปแบบดังกล่าวยังช่วยเสริมแนวคิดเรื่องความสมจริงที่เกิดขึ้นร่วมกันระหว่างประติมากรรมและจิตรกรรมด้วย |
ยุค | ประวัติศาสตร์ |
สมัย/รูปแบบศิลปะ | รัตนโกสินทร์ |
อายุ | พุทธศตวรรษที่ 25 |
ศาสนา | พุทธ |
ลัทธิ/นิกาย | เถรวาท |
ศาสนา/ความเชื่อที่เกี่ยวข้อง | พุทธศาสนาเถรวาท |
รูปแบบลิขสิทธิ์ | Attribution-NonCommercial-NoDerivs (CC BY-NC-ND) |
---|---|
เจ้าของสิทธิ์ | ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) |
วันที่จัดทำข้อมูล | 2016-09-15 |
ผู้จัดทำข้อมูล | พัสวีสิริ เปรมกุลนันท์ |
บรรณานุกรม | จารุณี อินเฉิดฉาย.ศิลปกรรมวัดราชาธิวาส.กรุงเทพฯ : สมาคมนักเรียนเก่าราชาธิวาส, 2546. |