ค้นหางานศิลปกรรม
ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ประติมากรรมพระพุทธมนุสสนาค
พระพุทธรูปประทับยืนเหนือฐานสิงห์กลีบบัว ที่ฐานมีจารึกพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวในการสร้างพระพุทธรูป แสดงปางประทานอภัย 2 พระหัตถ์ หรือปางห้ามสมุทร ปลายนิ้วพระหัตถ์ทั้ง 4 ยาวไม่เสมอกัน ครองจีวรห่มคลุมพระอังสาทั้ง 2 ข้าง จีวรเป็นริ้วอย่างธรรมชาติ แลเห็นจีวรที่ห่มทับสบงที่เป็นริ้วชั้นใน รูปแบบของการทำจีวรจึงแสดงถึงแนวคิดอย่างสมจริง แต่พุทธลักษณะอื่นๆยังคงไว้ ได้แก่ พระพักตร์ที่สงบ พระเนตรเหลือบต่ำ พระกรรณยาว ขมวดพระเกศาเป็นเม็ดเล็ก มีอุษณีษะเตี้ยๆรองรับพระรัศมีเปลว เหนือพระเศียรประดับด้วยฉัตรทองฉลุลาย 5 ชั้น
สถาปัตยกรรมสำเภาและเจดีย์ทรงเครื่อง
เรือสำเภาก่ออิฐถือปูน ลักษณะคล้ายเรือสำเภาแต้จิ๋ว หัวเรือหันสู่ทิศใต้ไปสู่ปากแม่น้ำเจ้าพระยา ท้ายเรือหันไปทางทิศเหนือ ห้องท้ายเรือเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปและรอยพระพุทธบาท กลางลำเรือประดิษฐานเจดีย์ทรงเครื่องขนาดใหญ่ 1 องค์ และทางหัวเรือประดิษฐานเจดีย์ทรงเครื่องขนาดเล็กกว่าอีก 1 องค์ รูปแบบของเจดีย์ทรงเครื่องประกอบด้วยชุดฐานสิงห์ 3 ฐาน มีบัวทรงคลุ่มรองรับองค์ระฆังเพิ่มมุม ส่วนยอดเป็นบัวทรงคลุ่มเถา ปลี และเม็ดน้ำค้าง เจดีย์ทรงเครื่องเป็นรูปแบบที่มีมาตั้งแต่ในสมัยอยุธยาตอนปลายและเป็นที่นิยมอย่างมากในสมัยรัชกาลที่ 3
สถาปัตยกรรมพระพุทธปรางค์
ปรางค์ 3 องค์ ตั้งอยู่บนฐานไพทีเดียวกัน ส่วนล่างของปรางค์ทั้ง 3 องค์ เป็นชุดฐานบัวลูกแก้วอกไก่ ส่วนเรือนธาตุของปรางค์ประธานเป็นอาคารแบบมณฑปจัตุรมุข ภายนอกมีประติมากรรมยักษ์ยืนกุมกระบองที่มุมย่อย ผนังมุมย่อยประดับกาบพรหมศร หลังคาจัตุรมุขซ้อน 3 ชั้นมุงกระเบื้อง ที่ตำแหน่งช่อฟ้าประดับนกเจ่า ใบระกา และหางหงส์ลดหลั่นลงมาตามลำดับ ส่วนยอดเป็นปรางค์ซ้อน 6 ชั้นประดับกลีบขนุนที่แนบชิดติดกัน มีชั้นเทพนมและยักษ์แบก ปรางค์อีก 2 องค์ที่ขนาบข้างมีรูปแบบเหมือนกัน แตกต่างจากปรางค์ประธานเนื่องจากมีขนาดเล็กกว่า หลังซ้อน 2 ชั้น หน้าบันเป็นสามเหลี่ยมเรียบ ไม่ประดับนกเจ่า ใบระกาและหางหงส์
ประติมากรรมประติมากรรมเรื่องสามก๊ก
ประติมากรรมหินสลักในกรอบรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า เล่าเรื่องราวตอนต่างๆจากวรรณคดีเรื่องสามก๊ก ภาพบุคคลแต่งกายอย่างจีน ภาพทิวทัศน์ประกอบด้วยต้นไม้ ท้องฟ้า ยานพาหนะและสัตว์ เป็นกระบวนลายสลักอย่างจีน
ประติมากรรมพระศรีอาริยเมตไตรย
พระพุทธรูปทรงเครื่อง ครองจีวรห่มเฉียง ประทับนั่งขัดสมาธิราบ แสดงปางสมาธิ พระพักตร์ค่อนข้างกลม พระขนงโก่ง ระหว่างพระขนงและขอบเปลือกพระเนตรเป็นแผ่น พระเนตรค่อนข้างเล็ก เปิดเล็กน้อยและเหลือบต่ำ พระโอษฐ์เล็ก ขมวดพระเกศาเล็ก พระวรกายเพรียวบาง ซึ่งเป็นรูปแบบของพระพุทธรูปในสมัยรัชกาลที่ 3 โดยสามารถศึกษาเปรียบเทียบได้กับพระพุทธรูปทรงเครื่องสมัยเดียวกันที่วัดนางนอง
ประติมากรรมพระพุทธเจ้า 4 พระองค์
พระพุทธรูปทั้ง 4 องค์ มีรูปแบบเหมือนกัน กล่าวคือ เป็นพระพุทธรูปประทับนั่งขัดสมาธิราบ แสดงปางสมาธิ ประทับนั่งเหนือฐานบัวแข้งสิงห์ ส่วนบัวหงายเป็นบัวแวง มีผ้าทิพย์ที่ด้านหน้า พระพักตร์ค่อนข้างกลม พระขนงโก่ง ระหว่างพระขนงและขอบเปลือกพระเนตรเป็นแผ่น พระเนตรค่อนข้างเล็ก เปิดเล็กน้อยและเหลือบต่ำ พระโอษฐ์เล็ก ขมวดพระเกศาเล็ก พระรัศมีเป็นเปลวสูง พระวรกายเพรียวบาง ซึ่งเป็นรูปแบบของพระพุทธรูปในสมัยรัชกาลที่ 3
ประติมากรรมพระพุทธไตรรัตนนายก
พระพุทธไตรรัตนนายกมีรูปแบบเฉพาะอย่างพระพุทธรูปที่สร้างในสมัยรัชกาลที่ 3 กล่าวคือ พระวรกายค่อนข้างเพรียว พระพักตร์ค่อนข้างกลมกึ่งรูปไข่ ขมวดพระเกศาเล็ก พระรัศมีเป็นเปลว พระขนงโก่ง เส้นขอบเปลือกพระเนตรและพระขนงป้ายเป็นแผ่นเช่นเดียวกับพระพุทธรูปอยุธยาตอนปลาย พระเนตรเปิดและมองตรง พระนาสิกค่อนข้างเล็กและโด่ง พระโอษฐ์เล็ก เส้นพระโอษฐ์อ่อนโค้งเล็กน้อยเกือบเป็นเส้นตรง คล้ายเรือประทุน พระพักตร์อย่างหุ่น ประทับนั่งแสดงปางมารวิชัย นิ้วพระหัตถ์เรียวยาวเสมอกัน สังฆาฏิเป็นแผ่นใหญ่พาดอยู่กึ่งกลางพระวรกาย
ประติมากรรมพระพุทธปัญญาอัคคะ
พระพุทธรูปประทับยืนเหนือฐานสิงห์กลีบบัว ที่ฐานมีจารึกพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในการสร้างพระพุทธรูป แสดงปางประทานอภัย 2 พระหัตถ์ หรือปางห้ามสมุทร ปลายนิ้วพระหัตถ์ทั้ง 4 ยาวเท่ากัน ครองจีวรห่มคลุมพระอังสาทั้ง 2 ข้างแหวกกลางพระอุระ อย่างเดียวกับการห่มจีวรอย่างแหวกของภิกษุรามัญนิกาย จีวรเป็นริ้วอย่างธรรมชาติ แลเห็นจีวรที่ห่มทับสบงที่เป็นริ้วชั้นใน รูปแบบของการทำจีวรจึงแสดงถึงแนวคิดอย่างสมจริง พระพักตร์อ่อนเยาว์ดูสงบนิ่งคล้ายใบหน้าบุคคลจริง ใบพระกรรณหดสั้น แต่พุทธลักษณะอื่นๆยังคงไว้ ได้แก่ ขมวดพระเกศาเป็นเม็ดเล็ก รองรับพระรัศมีเปลว เหนือพระเศียรประดับด้วยฉัตรทองฉลุลาย 5 ชั้น