ค้นหางานศิลปกรรม
ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ประติมากรรมสังคโลก
เครื่องประดับสถาปัตยกรรมมีหลายส่วน ที่สำคัญได้แก่ มกร ใช้ประดับปลายหน้าจั่ว จะพัฒนาเป็นหางหงส์ ครอบอกไก่ซึ่งจะพัฒนาเป็นช่อฟ้า บราลี ใช้ประดับสันหลังคา ครอบแปร ลูกกรง และกระเบื้องพื้น
ประติมากรรมพระพุทธรูปปางมารวิชัย
พระพุทธรูปนั่งขัดสมาธิราบบนฐานหน้ากระดาน พระหัตถ์ทำปางมารวิชัย จุดสังเกตหลักที่แสดงความเกี่ยวข้องกับพระพุทธรูปล้านนาแบบเชียงแสนสิงห์หนึ่ง อันเป็นเหตุผลให้กำหนดเรียกพระพุทธรูปองค์นี้ว่าหมวดวัดตะกวน ได้แก่ พระพักตร์กลมและคางนูนเป็นปม สำหรับส่วนอื่นๆ ที่แสดงความเกี่ยวข้องกับพระพุทธรูปสุโขทัยหมวดใหญ่ทั่วไป ได้แก่ พระรัศมีเปลวไฟ ทั้งนี้แลดูแข็งกระด้างกว่าพระรัศมีในศิลปะสุโขทัย ครองจีวรห่มเฉียง เรียบไม่มีริ้ว ชายจีวรหรือชายสังฆาฏิพาดผ่านพระอังสาซ้ายยาวจรดพระนาภี ปลายเป็นริ้วซึ่งนิยมเรียกว่าเขี้ยวตะขาบ ขัดสมาธิราบ นั่งบนฐานหน้ากระดาน
ประติมากรรมพระพุทธบาท
รอยพระพุทธบาทสลักลงบนแผ่นหินสี่เหลี่ยมผืนผ้า สภาพชำรุดเป็นบางส่วน รอยพระพุทธบาทมีทั้งสิ้น 4 รอยซ้อนกันอยู่ สังเกตได้จากแนวเส้นที่ด้านข้างและแนวที่ส้นพระบาท รูปแบบของรอยพระพุทธบาทศึกษาได้จากรอยที่เล็กที่สุด เพราะรอยที่เหลืออีก 3 รอยปรากฏแต่เพียงด้านข้างและสั้นเพียงเล็กน้อย รอยพระพุทธบาทรอยเล็กที่สุดทำนิ้วพระบาทยาวไม่เท่ากัน แต่ละนิ้วมีลายก้นหอยประดับอยู่ กลางฝ่าพระบาทมีสัญลักษณ์รูปจักรที่ประดับตกแต่งด้วยลายมงคล 108 ประการ บิบริเวณที่ติดกับนิ้วพระบาทประดับลายก้นหอย 2 ตำแหน่ง ส่วนบริเวณส้นพระบาทตกแต่งด้วยลายกลีบบัว
ประติมากรรมพระพุทธรูปปางมารวิชัย
พระพุทธรูปปูนปั้นองค์นี้นั่งขัดสมาธิราบบนฐานบัว พระหัตถ์ทำปางมารวิชัย พระพักตร์กึ่งกลมกึ่งรีอาจแสดงถึงการคลี่คลายระหว่างพระพักตร์กลมแบบพระพุทธรูประยะแรกกับพระพักตร์วงรูปไข่แบบหมวดใหญ่ พระขนงโก่ง พระเนตรเหลือบต่ำ พระนาสิกโด่ง พระโอษฐ์สมส่วน เม็ดพระศกเล็ก พระพุทธรูปครองจีวรห่มเฉียง ไม่มีริ้ว ชายจีวรหรือสังฆาฏิที่พาดผ่านพระอังสาซ้ายมีรูปแบบพิเศษ กล่าวคือ ทำริ้วจีวรซ้อนทับกันตลอดแนว แตกต่างไปจากพระพุทธรูปหมวดใหญ่ทั่วไปที่ทำเป็นจีวรสี่เหลี่ยมที่มีหยักริ้วเพียงส่วนปลาย
ประติมากรรมพระพุทธรูปปางมารวิชัย
พระพุทธรูปอยู่ในอิริยาบถนั่งขัดสมาธิราบบนฐานหน้ากระดาน พระหัตถ์ทำปางมารวิชัย ลักษณะเด่นซึ่งเป็นแบบแผนของพระพุทธรูปสุโขทัยหมวดใหญ่ ได้แก่ พระพักตร์เป็นวงรูปไข่ พระขนงโก่ง พระเนตรเหลือบต่ำ พระนาสิกโด่งงุ้ม พระโอษฐ์งามสมส่วน เม็ดพะศกใหญ่ขมวดเป็นวงก้นหอย พระอุณีษะนูน พระรัศมีเปลวไฟ ครองจีวรห่มเฉียง เรียบไม่มีริ้ว ชายสังฆาฏิเป็นแถบเล็กและยาวจรดพระนาภี ปลายหยักเป็นริ้วดังที่เรียกว่าเขี้ยวตะขาบ
ประติมากรรมพระพุทธรูป
พระพุทธรูปองค์นี้ชำรุดเสียหายหลายส่วนจนไม่ทราบว่าเดิมทีอยู่ในอิริยาบถใดและทำปางใด ทั้งนี้จากการเป็นประติมากรรมนูนสูงจึงเชื่อว่าน่าจะเคยใช้ประดับศาสนสถานโดยก่ออิงกับผนัง พระพักตร์กลม พระเนตรเหลือบต่ำ พระขนงโก่ง พระนาสิกโด่ง พระโอษฐ์สมส่วนและหยักเป็นคลื่น พระเกศาเป็นเม็ดเล็กๆ พระอุษณีษะนูน พระรัศมีชำรุดสูญหาย พระอุระนูน ครองจีวรห่มเฉียง เรียบไม่มีริ้ว ชายสังฆาฏิเล็กและสั้นเหนือพระถัน มีชายทบซ้อนกันดังที่เรียกกันว่าเขี้ยวตะขาบ
ประติมากรรมพระวิษณุ
พระวิษณุอยู่ในอิริยาบถยืนตรงบนฐานหน้ากระดาน สวมมงกุฎทรงกระบอกหรือกิรีฏมกุฏเกลี้ยง ซึ่งเป็นลักษณะสำคัญที่เห็นได้ชัดของพระวิษณุรุ่นแรกๆ ในดินแดนไทย สัมพันธ์กับพระวิษณุในศิลปะอินเดียแบบปัลลวะพระองค์มี 4 พระกร พระกรขวาหน้าทอดลงจรดพระโสณี (สะโพก) เชื่อว่าเดิมทีเชื่อว่าเคยถือสัญลักษณ์ก้อนดินไว้ในพระหัตถ์ แต่ปัจจุบันชำรุดไปแล้ว พระกรซ้ายหน้าทอดลงจรดพระโสณีและถือตะบองไว้ในพระหัตถ์ แต่ปัจจุบันตะบองชำรุดไปแล้วเหลือแต่เพียงส่วนปลายที่ติดกับฐานหน้ากระดานและโคนที่ติดกับพระหัตถ์ พระกรขวาหลังและพระกรซ้ายหลังหักหายไปหมดแล้ว เมื่อเทียบกับประติมากรรมพระวิษณุอื่นๆ เชื่อว่าทั้ง 2 ข้างยกขึ้น ข้างขวาถือจักร ข้างซ้ายถือสังข์ การถือสิ่งของทั้ง 4 ชนิดในตำแหน่งพระหัตถ์ข้างต้นนี้เป็นแบบแผนของศิลปะอินเดียแบบปัลลวะ พระวรกายช่วงบนเปล่าเปลือย ช่วงล่างสวมผ้านุ่งยาวหรือที่เรียกว่า “โธตี” มีผ้าภูษาคาดพระโสณี (สะโพก) เป็นแนวตรง ประติมากรผู้สลักพระวิษณุองค์นี้คงมีกังวลว่าจะชำรุดแตกหักได้ง่าย พระกรปกติทั้ง 2 ข้างจึงเชื่อมติดกับพระโสณี (สะโพก) และยังใช้จุดรับน้ำหนัก 5 จุด ได้แก่ พระบาท 2 ข้าง แถบหน้านางอยู่ตรงกลาง ชายผ้าภูษาพันรอบพระโสณี (สะโพก) อยู่ทางขวา และตะบองอยู่ทางซ้าย
ประติมากรรมพระวิษณุ
พระวิษณุอยู่ในอิริยาบถยืนตรงบนฐานหน้ากระดาน สวมมงกุฎทรงกระบอกหรือกิรีฏมกุฏเกลี้ยง ซึ่งเป็นลักษณะสำคัญที่เห็นได้ชัดของพระวิษณุรุ่นแรกๆ ในดินแดนไทย ทั้งสัมพันธ์กับพระวิษณุในศิลปะอินเดียแบบปัลลวะพระองค์มี 4 พระกร พระกรขวาหน้าทอดลงจรดผ้าภูษาคาดพระโสณี เชื่อว่าเดิมทีเชื่อว่าเคยถือสัญลักษณ์ก้อนดินไว้ในพระหัตถ์ แต่ปัจจุบันชำรุดไปแล้ว พระกรซ้ายหน้าทอดลงและถือตะบองไว้ในพระหัตถ์ แต่ปัจจุบันตะบองชำรุดไปแล้วเหลือแต่เพียงส่วนปลายที่ติดกับฐานหน้ากระดานและโคนที่ติดกับพระหัตถ์ พระกรขวาหลังและพระกรซ้ายหลังหักหายไปหมดแล้ว เมื่อเทียบกับประติมากรรมพระวิษณุอื่นๆ เชื่อว่าทั้ง 2 ข้างยกขึ้น ข้างขวาถือจักร ข้างซ้ายถือสังข์ การถือสิ่งของทั้ง 4 ชนิดในตำแหน่งพระหัตถ์ข้างต้นนี้เป็นแบบแผนของศิลปะอินเดียแบบปัลลวะ พระวรกายช่วงบนเปล่าเปลือย ช่วงล่างสวมผ้านุ่งยาวหรือที่เรียกว่า “โธตี” มีผ้าภูษาคาดพระโสณี (สะโพก) เป็นแนวเฉียงประติมากรผู้สลักพระวิษณุองค์นี้คงมีกังวลว่าจะชำรุดแตกหักได้ง่าย พระกรปกติข้างหนึ่งจึงยึดติดกับชายผ้าคาดพระโสณี และอีกข้างหนึ่งจึงยึดติดกับตะบองซึ่งเชื่อมต่อกับพระโสณีและฐานอีกทอดหนึ่ง นอกจากนี้แถบหน้านางที่พาดผ่านตรงกลางผ้านุ่งแทนที่จะมีส่วนปลายสิ้นสุดเพียงตำแหน่งชายผ้านุ่ง แต่กลับตั้งใจให้ยาวจรดฐาน ทำให้พระวิษณุองค์นี้มีจุดรับน้ำหนัก 4 จุด ได้แก่ พระบาท 2 ข้าง แถบหน้านาง และตะบอง