ค้นหางานศิลปกรรม

ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 
 
 
 
 
 
 

พระพุทธบาท

คำสำคัญ : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ รามคำแหง, พระพุทธบาท

ชื่อหลักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ รามคำแหง
ประเภทงานศิลปะประติมากรรม
ตำบลเมืองเก่า
อำเภอเมือง
จังหวัดสุโขทัย
ภาคภาคกลาง
ประเทศไทย
พิกัดภูมิศาสตร์
ค่าองศาทศนิยม
Lat : 17.018304
Long : 99.707273
พิกัดภูมิศาสตร์
พิกัดกริด
Zone : 47 Q
Hemisphere : N
E : 575278.74
N : 1881715.86
ตำแหน่งงานศิลปะภายในห้องจัดแสดงพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ รามคำแหง

ประวัติการสร้าง

ไม่พบประวัติการสร้างที่เป็นหลักฐานลายลักษณ์อักษร

กระบวนการสร้าง/ผลิต

สลักหิน

ประวัติการอนุรักษ์

ค้นพบจากวัดเขาพระบาทน้อย นอกเมืองเก่าสุโขทัยไปทางทิศตะวันตก

ลักษณะทางศิลปกรรม

รอยพระพุทธบาทสลักลงบนแผ่นหินสี่เหลี่ยมผืนผ้า สภาพชำรุดเป็นบางส่วน รอยพระพุทธบาทมีทั้งสิ้น 4 รอยซ้อนกันอยู่ สังเกตได้จากแนวเส้นที่ด้านข้างและแนวที่ส้นพระบาท

รูปแบบของรอยพระพุทธบาทศึกษาได้จากรอยที่เล็กที่สุด เพราะรอยที่เหลืออีก 3 รอยปรากฏแต่เพียงด้านข้างและสั้นเพียงเล็กน้อย รอยพระพุทธบาทรอยเล็กที่สุดทำนิ้วพระบาทยาวไม่เท่ากัน แต่ละนิ้วมีลายก้นหอยประดับอยู่ กลางฝ่าพระบาทมีสัญลักษณ์รูปจักรที่ประดับตกแต่งด้วยลายมงคล 108 ประการ บิบริเวณที่ติดกับนิ้วพระบาทประดับลายก้นหอย 2 ตำแหน่ง ส่วนบริเวณส้นพระบาทตกแต่งด้วยลายกลีบบัว



ข้อมูลที่สำคัญทางวิชาการ

เป็นตัวอย่างรอยพระพุทธบาทซ้อนกัน 4 รอย เพื่อหมายถึงรอยพระพุทธบาทของพระพุทธเจ้า 4 พระองค์ ได้แก่ พระกกุสันทะ พระโกนาคมนะ พระกัสสปะ และพระโคตมะ

ข้อสังเกตอื่นๆ

พระพุทธบาทซ้อนกัน 4 รอย เกิดจากความเชื่อว่าพระพุทธเจ้ามีมากมายนับไม่ถ้วน ลงมาตรัสรู้ในช่วงเวลาที่แตกต่างกัน พระสมณโคดมพุทธเจ้าถือว่าเป็นพระปัจจุบันพุทธ ดังนั้นพระพุทธเจ้าที่ตรัสรู้มาก่อนหน้าจึงเรียกว่าพระอดีตพุทธ และที่จะตรัสรู้ในภายหน้าจึงเรียกว่าพระอนาคตพุทธ

มีความเชื่อว่าพระพุทธเจ้าแต่ละพระองค์จะมีพระพุทธกิจหลายอย่างที่เหมือนกัน เช่น เสด็จยังสวรรค์ชั้นดาวดึงส์เพื่อเทศนาโปรดพุทธมารดา การทำพระพุทธบาท 4 รอยเกิดขึ้นจากความเชื่อว่าตำแหน่งแห่งหนที่พระสมณโคดมพุทธเจ้าได้ประทานรอยพระพุทธบาทไว้นั้น พระอดีตพุทธเจ้าอีก 3 พระองค์ที่ตรัสรู้มาก่อนในกัปป์นี้ได้เคยประทานไว้ให้แล้ว จึงนับรวมได้ 4 รอย รอยใหญ่ที่สุดเป็นของพระกกุสันธะ จากนั้นไล่ลำดับมายังรอยของพระโกนาคมนะ พระกัสสปะ และพระโคตมะเป็นรอยเล็กที่สุด เพราะเชื่อว่าพระพุทธเจ้าแต่ละพระองค์ขนาดพระวรกายไม่เท่ากัน โดยพระกกุสันธะมีขนาดใหญ่ที่สุด จากนั้นลำดับขนาดพระวรกายเล็กลงตามลำดับจนถึงพระโคตมมีพระวรกายเล็กที่สุด

ยุคประวัติศาสตร์
สมัย/รูปแบบศิลปะสุโขทัย
อายุพุทธศตวรรษที่ 20
ศาสนาพุทธ
ศาสนา/ความเชื่อที่เกี่ยวข้องพุทธศาสนา

รูปแบบลิขสิทธิ์Attribution-NonCommercial-NoDerivs (CC BY-NC-ND)
เจ้าของสิทธิ์ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
วันที่จัดทำข้อมูล2015-09-30
ผู้จัดทำข้อมูลรุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง
บรรณานุกรม

นันทนา ชุติวงศ์. รอยพระพุทธบาทในศิลปะเอเชียใต้และเอเชียอาคเนย์. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, 2533.

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ, กอง. พุทฺธปาทลกฺขณ และรอยพระพุทธบาทในประเทศไทย. กรุงเทพฯ : กองพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ, 2536.

สันติ เล็กสุขุม. ศิลปะสุโขทัย. พิมพ์ครั้งที่ 3, กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, 2555.