ค้นหางานศิลปกรรม

ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 
 
 
 
 
 
 
แสดง 177 ถึง 184 จาก 383 รายการ, 48 หน้า
พระสัมพุทธพรรณี
กรุงเทพมหานคร
ประติมากรรมพระสัมพุทธพรรณี

พระสัมพุทธพรรณีเป็นพระพุทธรูปประทับนั่งขัดสมาธิราบ ปางสมาธิ พระพักตร์ค่อนข้างกลม ขมวดพระเกศาเล็ก รัศมีเป็นเปลว ไม่มีพระเกตุมาลา พระขนงโก่ง มีพระอุณาโลมอยู่ระหว่างพระขนง พระเนตรเหลือบต่ำ ครองจีวรห่มเฉียงมีริ้วตามริ้วผ้าธรรมชาติ ชายสังฆาฏิใหญ่ปลายตัดตรงยาวถึงพระนาภี ประทับนั่งบนฐานหน้ากระดานเกลี้ยงเหนือขาสิงห์ตกแต่งด้วยพรรณพฤกษาและลายเครือเถาแบบฝรั่ง ผ้าทิพย์ทำเป็นรูปม่านแหวกออก มีคำจารึกอักษรมอญภาษาบาลีด้านหน้ากล่าวถึงพระนามของพระพุทธรูปองค์นี้พระพุทธรูปองค์นี้ถือเป็นพระพุทธรูปองค์แรกที่ไม่ทำอุษณีษะและเริ่มมีริ้วจีวรยับย่นอย่างสมจริง ซึ่งแนวความคิดในการสร้างพระพุทธรูปเช่นนี้มีการอธิบาย 3 แนวทาง คือ 1. เพื่อให้มีลักษณะถูกต้องตามพุทธลักษณะที่ปรากฏในอรรถกถาบาลี2. เพื่อให้พระพุทธรูปมีรูปแบบที่เข้ากับวิธีคิดตามแนวสัจนิยมให้สมจริงเหมือนมนุษย์ยิ่งขึ้น 3. เป็นการมองพระพุทธเจ้าในฐานะมนุษย์มากขึ้นตามบริบทสังคมที่เริ่มคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผลและมีความเป็นมนุษย์นิยมมากขึ้น

พระพุทธนวราชบพิตร
กรุงเทพมหานคร
ประติมากรรมพระพุทธนวราชบพิตร

พระพุทธรูปนี้เป็นพระพุทธรูปนั่งขัดสมาธิราบปางมารวิชัย พระพักตร์รูปไข่ รัศมีเป็นเปลว เม็ดพระศกขมวดเป็นก้นหอย พระพักตร์แย้มสรวล พระวรกายบอบบาง สังฆาฏิเป็นเส้นเล็กยาวลงมาถึงพระอุทร ประทับบนฐานบัวคว่ำบัวหงายที่มีกลีบบัวขนาดใหญ่และปลายกลีบบัวอ่อนโค้ง มีการบรรจุ พระสมเด็จจิตรลดาซึ่งเป็นพระพิมพ์ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงสร้างด้วยพระองค์เองประกอบด้วยผงศักดิ์สิทธิ์จากทั่วราชอาณาจักร

ปูนปั้นประดับวิหารวัดนางพญา
สุโขทัย
ประติมากรรมปูนปั้นประดับวิหารวัดนางพญา

งานปูนปั้นประดับผนังวิหารด้านใต้ของวัดนางพญากำลังชำรุดหลุดล่วงลงตามกาลเวลา เดิมทีคงมีงานปูนปั้นประดับทั้งด้าน แต่ปัจจุบันเหลือชัดเจนเพียงแค่ผนังระหว่างช่วงเสากลางเท่านั้น ผนังวิหารก่อด้วยศิลาแลง ทำช่องแสงหรือช่องลมไว้ตรงกลาง ตกแต่งผนังด้วยปูนปั้นเลียนแบบฝาไม้ลูกฟัก ภายในลูกฟักและช่องแสงประดับด้วยงานปูนปั้น ออกแบบเป็นลวดลายประเภทเครือเถาหรือพรรณพฤกษา ซึ่งประกอบด้วยก้าน ใบ และดอก พันเกี่ยวกันเต็มพื้นที่ผนัง

เทวดาปูนปั้น
เชียงใหม่
ประติมากรรมเทวดาปูนปั้น

การสร้างประติมากรรมรูปเทวดาที่รอบผนังวิหารใช้เทคนิคการก่อแนวอิฐหรือศิลาแลงขนาดไม่ใหญ่นักให้ยื่นล้ำออกมาจากผนังแล้วพอกปูนเพื่อให้ยึดเกาะกับผนัง จึงเกิดเป็นประติมากรรมนูนสูง รูปเทวดาประทับนั่งอยู่บริเวณผนังด้านทิศเหนือและทิศใต้ ส่วนเทวดาประทับยืนอยู่บริเวณผนังเพิ่มมุม ประติมากรรมทั้งหมดแบ่งเป็น 2 แถวตามแนวยาวของอาคาร โดยมีเสาปูนปั้นแบ่งคั่นจังหวะ เทวดาแต่ละองค์มีพระพักตร์รูปไข่ แย้มพระโอษฐ์ พระอังสาใหญ่ บั้นพระองค์เล็ก สวมเครื่องประดับ ได้แก่ กรัณฑมงกุฎซึ่งมีประภามณฑลล้อมรอบ พาหุรัด กรองศอ ธำมรงค์ อุทรพันธะ นุ่งผ้ายาวกรอมข้อเท้าชักชายผ้าแผ่ออกมาที่ด้านหน้า และมีชายผ้าพลิ้วไหวผูกเป็นโบว์ที่ข้างลำตัวซึ่งแสดงให้เห็นว่าเทวดาเหล่านั้นกำลังเหาะท่ามกลางอากาศ รูปแบบการแต่งกายสัมพันธ์กับประติมากรรมรูปเทวดาในศิลปะลังกา ใกล้กันมีลวดลายปูนปั้นประดับ เช่น ลายมุกไฟ ลายดอกไม้ร่วง เช่น ดอกจำปา และดอกโบตั๋น

หอคอยของมัสยิดกปิตันกลิง
จอร์จทาวน์
ประติมากรรมหอคอยของมัสยิดกปิตันกลิง

มัสยิดกปิตันกลิง เป็นมัสยิดที่ได้รับแรงบันดาลใจจากศิลปะโมกุลของอินเดียเป็นหลัก เป็นไปได้ที่สถาปนิกผู้ออกแบบมัสยิดพยายามที่จะแสดงความเป็นอินเดียให้มากที่สุดเพื่อให้ตอบรับกับประวัติที่ว่าผู้สร้างมัสยิดคนแรกเป็นชาวอินเดียด้วยเหตุนี้ หอคอยซึ่งแสดงอิทธิพลศิลปะโมกุลอย่างชัดเจน เช่น หอคอยทรงแปดเหลี่ยมที่ประกอบด้วยระเบียงหลายชั้น ด้านบนสุดเป็นฉัตรี (Chhatri) ซึ่งหมายถึงอาคารแปดเหลี่ยมที่มีเสาแปดต้นรอบรับโดมขนาดเล็ก

พระพรหมภายในเจดีย์นันปยะ
พุกาม
ประติมากรรมพระพรหมภายในเจดีย์นันปยะ

เจตียวิหารในระยะแรกสุดของศิลปะพุกาม ภายในอาคารปรากฏเสาสี่ต้นรองรับยอดศิขระ โดยรอบปรากฏภาพสลักพระพรหมซึ่งเป็นลักษณะพิเศษที่ปรากฏเฉพาะที่นี่เท่านั้น รูปแบบของพระพรหมและประติมานวิทยายังคล้ายคลึงกับพระพรหมในศิลปะปาละอยู่มาก จากกำหนดอายุโบราณสถานแห่งนี้อยู่ในสมัยพุกามตอนต้น

หน้าต่างของเจดีย์นันปยะ
พุกาม
ประติมากรรมหน้าต่างของเจดีย์นันปยะ

หน้าต่างของแจดีย์นันปยะถือเป็นหน้าต่างของเจตียวิหารในระยะแรกสุดของศิลปะพุกาม เป็นหนาต่างที่มีแผ่นหินมาปิดทำให้ภายในอาคารมืดทึบ ซึ่ถือเป็นสุนทรียภาพในสมัยพุกามตอนต้น ซุ้มเคล็กที่นี่เป็นเคล็กสั้นและเอียงเข้าหาจุดศูนย์กลางตามแบบพุกามตอนต้น ที่เสาติดผนังเองก็ปรากฏกาบบนแต่ไม่มีกาบล่างและประจำยามอก ซึ่งถือเป็นกาบในระยะแรกสุดของศิลปะพุกาม

พระพุทธรูปในมนูหะ
พุกาม
ประติมากรรมพระพุทธรูปในมนูหะ

แม้ว่าจะมีประวัติเก่าแก่ไปถึงรัชสมัยพราะเจ้าอโนรธา แต่พระพุทธรูปองค์นี้ก็”ด้รับการบูรณะอย่างต่อเนื่อง จนรูปแบบดั้งเดิมไม่หลงเหลืออยู่