ค้นหางานศิลปกรรม
ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เทวดาปูนปั้น
คำสำคัญ : วิหารมหาโพธิ์, วัดมหาโพธาราม, ศิลปะล้านนา, เทวดา, วัดโพธารามมหาวิหาร
ชื่อหลัก | วัดโพธาราม มหาวิหาร |
---|---|
ชื่ออื่น | วัดเจ็ดยอด |
ประเภทงานศิลปะ | ประติมากรรม |
ตำบล | ช้างเผือก |
อำเภอ | เมือง |
จังหวัด | เชียงใหม่ |
ภาค | ภาคเหนือ |
ประเทศ | ไทย |
พิกัดภูมิศาสตร์ ค่าองศาทศนิยม | Lat : 18.80906 Long : 98.971712 |
พิกัดภูมิศาสตร์ พิกัดกริด | Zone : 47 Q Hemisphere : N E : 497019.35 N : 2079700.91 |
ตำแหน่งงานศิลปะ | ผนังของวิหารเจ็ดยอด หรือวิหารมหาโพธิ์ |
ประวัติการสร้าง | ตำนานทางล้านนา เช่น ชินกาลมาลีปกรณ์ ให้ข้อมูลว่าวัดมหาโพธารามแห่งนี้สร้างขึ้นโดยพระเจ้าติโลกราช โดยพระองค์ได้สดับธรรมบรรยายถึงอานิสงส์ของการปลูกต้นพระศรีมหาโพธิ์ จึงโปรดให้สร้างวัดมหาโพธารามขึ้นเพื่อปลูกต้นพระศรีมหาโพธิ์ เมื่อ พ.ศ. 1999 นอกจากนี้พระองค์ยังโปรดให้สร้างสิ่งก่อสร้างต่างๆ ขึ้นอีก คือ สร้างเวทีให้เห็นเหมือนต้นพระศรีมหาโพธิ์ที่พระพุทธองค์ผจญมาร และสัตตมหาสถาน ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2020 โปรดให้สร้างมหาวิหารขึ้นในวัดนี้ ซึ่งอาจหมายถึงอาคารที่เรียกกันในปัจจุบันว่าวิหารเจ็ดยอดก็เป็นได้ ส่วนพงศาวดารโยนกเอ่ยถึงประวัติได้อย่างสังเขปว่า พ.ศ. 1998 พระเจ้าติโลกราชโปรดให้ปลูกโพธิ์ลังกาและสร้างมหาอาราม พร้อมทั้งผูกพัทธสีมา เรียกนามอารามว่า วัดโพธารามหาวิหาร |
---|---|
ประวัติการอนุรักษ์ | ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษาเล่มที่ 52 ตอนที่ 75 วันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2478 กรมศิลปากรดำเนินการบูรณะและอนุรักษ์ประติมากรรมปูนปั้นตั้งแต่ปีพ.ศ. 2517 -2518โดยรักษาสภาพเดิมเป็นหลักเพื่อให้มั่นคงแข็งแรงตามลักษณะและแนวเดิม ในปีพ.ศ. 2535 มีการอนุรักษ์ประติมากรรมอีกครั้ง โดยทำการบันทึกสภาพทั้งก่อน ระหว่างและหลังอนุรักษ์ ประติมากรรมที่เป็นชิ้นใหญ่จะใช้การเสริมความมั่นคงด้วยแกนเหล็กไร้สนิม เมื่อทำความสะอาดแล้วจึงเสริมความมั่นคงของชั้นปูน |
ลักษณะทางศิลปกรรม | การสร้างประติมากรรมรูปเทวดาที่รอบผนังวิหารใช้เทคนิคการก่อแนวอิฐหรือศิลาแลงขนาดไม่ใหญ่นักให้ยื่นล้ำออกมาจากผนังแล้วพอกปูนเพื่อให้ยึดเกาะกับผนัง จึงเกิดเป็นประติมากรรมนูนสูง รูปเทวดาประทับนั่งอยู่บริเวณผนังด้านทิศเหนือและทิศใต้ ส่วนเทวดาประทับยืนอยู่บริเวณผนังเพิ่มมุม ประติมากรรมทั้งหมดแบ่งเป็น 2 แถวตามแนวยาวของอาคาร โดยมีเสาปูนปั้นแบ่งคั่นจังหวะ เทวดาแต่ละองค์มีพระพักตร์รูปไข่ แย้มพระโอษฐ์ พระอังสาใหญ่ บั้นพระองค์เล็ก สวมเครื่องประดับ ได้แก่ กรัณฑมงกุฎซึ่งมีประภามณฑลล้อมรอบ พาหุรัด กรองศอ ธำมรงค์ อุทรพันธะ นุ่งผ้ายาวกรอมข้อเท้าชักชายผ้าแผ่ออกมาที่ด้านหน้า และมีชายผ้าพลิ้วไหวผูกเป็นโบว์ที่ข้างลำตัวซึ่งแสดงให้เห็นว่าเทวดาเหล่านั้นกำลังเหาะท่ามกลางอากาศ รูปแบบการแต่งกายสัมพันธ์กับประติมากรรมรูปเทวดาในศิลปะลังกา ใกล้กันมีลวดลายปูนปั้นประดับ เช่น ลายมุกไฟ ลายดอกไม้ร่วง เช่น ดอกจำปา และดอกโบตั๋น |
ข้อมูลที่สำคัญทางวิชาการ | 1. ประติมากรรมปูนปั้นรูปเทวดาประดับผนังวิหารมหาโพธิ์เป็นงานปูนปั้นที่มีลักษณะเด่นและมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันดี มีความสำคัญทางศิลปะเนื่องจากถือได้ว่าเป็นต้นแบบในการกำหนดอายุของศิลปกรรมล้านนาในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 21 2.การประดับรูปเทวดาที่ผนังโดยรอบวิหารน่าจะหมายถึงพุทธประวัติตอนที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้และมีเหล่าเทวดามาชุมนุมกันเพื่อแสดงความยินดีพร้อมกับมีดอกไม้ทิพย์จากสรวงสวรรค์ร่วงหล่นลงมา ซึ่งคล้ายกันกับการแสดงภาพเทพชุมนุมในงานจิตรกรรมไทย แต่ในที่นี้เป็นการประดับอยู่ภายนอกอาคาร ซึ่งจะสังเกตได้ว่าเทวดาทุกองค์เบนพระพักตร์ไปทางที่ตั้งของต้นพระศรีมหาโพธิ์ที่อยู่ท้ายวิหารอันหมายถึงสถานที่ประทับตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า |
ยุค | ประวัติศาสตร์ |
สมัย/รูปแบบศิลปะ | ล้านนา |
อายุ | พุทธศตวรรษที่ 20-21 |
ศาสนา | พุทธ |
ลัทธิ/นิกาย | เถรวาท |
ศาสนา/ความเชื่อที่เกี่ยวข้อง | พุทธศาสนาเถรวาท |
งานศิลปะที่เกี่ยวข้อง | 1.รูปแบบศิลปะของประติมากรรมเทวดามีความสัมพันธ์กับศิลปะลังกาเช่น เทวดาที่ประดับผนังวิหารเหนือหรือวิหารติวังกะ ศิลปะสมัยโปลนนารุวะ ราวพุทธศตวรรษที่ 17-18 2.ลายปูปั้นอื่นๆ เช่น ลายดอกโบตั๋น ลายเมฆ ลายมุกไฟ เป็นอิทธิพลศิลปะจีนที่นิยมในล้านนาช่วงพุทธศตวรรษที่ 21 |
รูปแบบลิขสิทธิ์ | Attribution-NonCommercial-NoDerivs (CC BY-NC-ND) |
---|---|
เจ้าของสิทธิ์ | ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) |
วันที่จัดทำข้อมูล | 2015-07-09 |
ผู้จัดทำข้อมูล | รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง |
บรรณานุกรม | ธวัชชัย ปุณณลิมปกุล.วัดเจ็ดยอด จังหวัดเชียงใหม่ . กรุงเทพฯ: ฝ่ายอนุรักษ์จิตรกรรมและประติมากรรมติดที่ กองโบราณคดี, 2537. ศิลปากร, กรม.การขึ้นทะเบียนโบราณสถานภาคเหนือในความรับผิดชอบของหน่วยศิลปากรที่ 4 ตามโครงการสำรวจและขึ้นทะเบียนโบราณสถานของกองโบราณคดี. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, 2525. ศักดิ์ชัย สายสิงห์. ศิลปะล้านนา. กรุงเทพฯ : มติชน, 2556. สันติ เล็กสุขุม. ศิลปะภาคเหนือ : หริภุญชัย-ล้านนา. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, 2549. |