ค้นหางานศิลปกรรม

ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 
 
 
 
 
 
 
แสดง 17 ถึง 24 จาก 36 รายการ, 5 หน้า
ปราสาทประธาน : ปราสาทบันทายสรี
อังกอร์
ประติมากรรมปราสาทประธาน : ปราสาทบันทายสรี

ปราสาทบันทายสรีเป็นปราสาทบนพื้นราบที่เรียงกันสามหลัง หลังกลางอุทิศให้กับพระศิวะ ส่วนหลังข้างนั้น แม้ว่าจะไม่ปรากฏจารึกว่าสร้างขึ้นเพื่ออุทิศให้ใคร แต่อาจเป็นไปได้ว่าอุทิศหับพระเทวีสององค์ของพระศิวะ คือพระอุมากับพระคงคา เนื่องจากทวารบาลของปราสาททั้งสองหลังล้วนแต่เป็นนางอัปสรทั้งสิ้นปราสาททั้งสามหลังมีลักษณะตามแบบศิลปะพระนครตอนปลายโดยทั่วไปท่สร้างด้วยหิน อย่างไรก็ตามปราสาทยังคงเว้นประตูสามด้านไว้เป็นประตูหลอก ด้านบนของชั้นวิมานยังคงประดับด้วยปราสาทจำลองซึ่งแตกต่างไปจากปราสาทในศิลปะนครวัดที่ต่อมาจะเปลี่ยนเป็นกลีบขนุน

บรรณาลัยของปราสาทบันทายสรี
อังกอร์
สถาปัตยกรรมบรรณาลัยของปราสาทบันทายสรี

บรรณาลัยของปราสาทบันทายสรี สร้างขึ้นทางด้านทิศเหนือและทิศใต้ของปราสาทประธาน ทางทิศใต้มีภาพเล่าเรื่องที่เกี่ยวกับพระสิวะเท่านั้น ส่วนทางดานเหนือมีภาพเล่าเรื่องเกี่ยวกับพระกฤษณะ บรรณาลัยมีชั้นเชิงของหน้าบันที่น่าสนใจ เป็นหน้าบันกรองคดโค้งที่มีปลายเป็นรูปนาค ครุฑและสิงห์ ซึ่งต่อมา หน้าบันรูปคดโค้งนี้จะได้รับความนิยมเป็นอย่างยิ่งในศิลปะบาปวนจนถึงบายน ชั้นเชิงการจัดวางหน้าบันกลางที่ซ้อนกันถึงสามชั้น โดยที่หน้าบันชั้นที่สองมีปีกนกยื่นออกมาทำให้บรรณาลัยแห่งนี้มีความงดงามทางสถาปัตยกรรมเป็นอย่างยิ่ง

ที่ตั้งของปราสาทโพกลวงการาย
ฟานรัง
สถาปัตยกรรมที่ตั้งของปราสาทโพกลวงการาย

ที่ตั้งของปราสาทแห่งนี้ ได้แก่ยอดเนินเขา โดยมีการยกกลุ่มอาคารทั้งหมดขึ้นไปไว้ด้านบน ทั้งปราสาทประธาน บรรณาลัย มณฑป โคปุระ ที่ตั้งของปราสาทแห่งนี้ทำให้นึกถึงปราสาทบาญอี๊ดในจังหวัดบิญดิ่น การเลือกตั้งปราสาทอยู่บนยอดเขานั้น ปรากฏความนิยมมาก่อนแล้วตั้งแต่สมัยบิญดิ่น และดูเหมือนว่าในสมัยหลัง ก็ยังคงสืบทอดความนิยมดังกล่าวด้วย

ปราสาทจำลองของปราสาทโพกลวงการาย
ฟานรัง
สถาปัตยกรรมปราสาทจำลองของปราสาทโพกลวงการาย

ปราสาทจำลองทรงพุ่ม ถือเป็นลักษณะเฉพาะของสถาปัตยกรรมสมัยหลังของจาม พัฒนามาจากปราสาทจำลองทรงถะจีนซึ่งนิยมมาก่อนในศิลปะบิญดิ่นตอนปลาย เช่นปราสาทจำลองของปราสาทแก๋งเตียนในจังหวัดบิญดิ่น ปราสาทจำลองแบบนี้ทำให้สามารถกำหนดอายุว่า ปราสาทโพกลวงการายควรสร้างในราวพุทธศตวรรษที่ 19 ลงมา

บรรณาลัย (?) ของปราสาทโพกลวงการาย
ญาจาง
สถาปัตยกรรมบรรณาลัย (?) ของปราสาทโพกลวงการาย

บรรณาลัยของปราสาทโพกลางการาย เป็นอาคารในผังสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีหลังคาเป็นทรงประทุน หรือทรงศาลา ในศัพท์สถาปัตยกรรมอินเดีย อนึ่ง บรรณาลัยปรากฏมาแล้วตั้งแต่ปราสาทมิเซิน โดยอยู่ในผังและมีหลังคาทรงนี้เสมอ รวมถึงตั้งอยู่ทางด้านข้างของปราสาทประธานเสมอๆ เนื่องจากบรรณาลัยแห่งนี้ตั้งอยู่ในกลุ่มปราสาทซึ่งกำหนดอายุอยู่ในสมัยหลัง ด้วยเหตุนี้ บรรณาลัยดังกล่าวจึงควรมีอายุอยู่ในระยะเดียวกัน ส่วนปราสาทจำลองทรงถะจีนที่มุมนั้นอาจแสดงถึงการสืบทอดรูปแบบมาจากสมัยบิญดิ่นตอนปลาย

ปราสาทโพโรเม
ญาจาง
สถาปัตยกรรมปราสาทโพโรเม

ปราสาทหลังนี้ เป็นปราสาทในระยะสุดท้ายของศิลปะจาม รายละเอียดต่างๆได้ถูกลดทอนจนหมดสิ้น ดังปรากฏเสาติดผนังเพียงสองต้น และมีซุ้มจระนำรูปใบหอก ด้านบนประดับปราสาทจำลองทรงพุ่มเช่นเดียวกับปราสาทโพกลวงการาย

เทวาลัยพระศิวะ: จันทิปรัมบะนัน
กลาเตน
สถาปัตยกรรมเทวาลัยพระศิวะ: จันทิปรัมบะนัน

เทวาลัยพระศิวะ ถือว่าเป็นเทวาลัยที่มีขนาดใหญ่ที่สุด มีแผนผังกากบาทและมีห้องเล็กๆจำนวนห้าห้อง ซึ่งแสดงให้เห็นแผนผังที่สืบมาจากเทวาลัยในพุทธศาสนามหายานที่สร้างขึ้นในระยะร่วมสมัย อย่างไรก็ตาม เทวาลัยแห่งนี้อุทิศให้กับเทพเจ้าในศาสนาอินดูทั้งหมด อันได้แก่ห้องกลางนั้นอุทิศให้กับพระศิวะ ด้านทิศใต้อุทิศให้กับพระอคัสตยะ ด้านตะวันตกอุทิศให้กับพระคเณศ และด้านทิศเหนืออุทิศให้กับนางมหิษาสูรมรรทนี ตัวอาคารประกอบด้วยฐานประดับรูปเทพประจำทิศ เรือนธาตุแบ่งออกเป็นสองชั้นซึ่งแสดงให้เห็นพัฒนาการที่แตกต่างไปจากจันทิหลังอื่นๆในระยะก่อนหน้า เรือนธาตุในแต่ละด้านประดับด้วยซุ้มจระนำยอดปราสาทที่เหมือนกันทั้งหมด สำหรับยอดปราสาทนั้น เนื่องจากเทวาลัยดังกล่าวมีแผนผังกากบาทตั้งแต่ฐานยันยอดวิมาน ซึ่งทำให้เรือนธาตุจำลองทุกชั้นมีแผนผังกากบาทเช่นเดียวกับเรือนธาตุ แผนผังดังกล่าวทำให้ยอดปราสาทของจันทิหลังนี้มีความซับซ้อนกว่าจันทิในศิลปะชวาระยะก่อนหน้าอาคารจำลองที่ประดับชั้นวิมานยังคงมีลักษณะเป็น “อาคารจำลองยอดสถูปิกะ” ดังที่ปรากฏมาก่อนแล้วในศิลปะชวาภาคกลางตอนปลาย อย่างไรก็ตาม สถูปิกะยอดอาคารจำลองเหล่านี้กลับมีริ้วกลีบมะเฟืองอันคล้ายคลึงกับอมลกะในศิลปะอินเดียเหนือเป็นอย่างยิ่ง

พระกรรติเกยะประทับบนนกยูง
ดานัง
ประติมากรรมพระกรรติเกยะประทับบนนกยูง

พระกรรติเกยะ ทรงเป็นโอรสของพระศิวะ ด้วยเหตุนี้จึงแสดงความเป็น “พระกุมาร” หรือเป็นเด็กเสมอ นอกจากนี้ยังทรงนกยูงเป็นพาหนะและถือวัชระอันเป็นอาวุธของพระอินทร์มาก่อน