ค้นหางานศิลปกรรม
ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
สถาปัตยกรรมปราสาทหัวล่าย
ปราสาทมีเสาติดผนังสี่ต้นตามระบบศิลปะจามระยะต้น กึ่งกลางเสามีแถบลายซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะสมัยหัวล่าย ที่ฐานปราสาทประดับด้วยปราสาทจำลองซึ่งคล้ายคลึงกับศิลปะอินเดียและศิลปะขอมก่อนเมืองพระนคร ส่วนด้านบนของปราสาทนั้นเป็นเรือนธาตุจำลองซ้อนกันตามระบบวิมานอินเดียใต้
สถาปัตยกรรมเสาติดผนังของปราสาทหัวล่าย
ปราสาทมีเสาติดผนังสี่ต้นตามระบบศิลปะจามระยะต้น กึ่งกลางเสามีแถบลายซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะสมัยหัวล่าย ซึ่งคล้ายคลึงกับศิลปะอินเดียที่มีมาก่อน ที่บัวหัวเสาปรากฏครุฑยุดนาคซึ่งเป็นลักษณะที่โดดเดนสำหรับปราสาทแห่งนี้ ครุฑมีจะงอยปากนกแล้วอันแตกต่างไปจากครุฑหน้าคนแบบอินเดีย
สถาปัตยกรรมปราสาทหลังเหนือของปราสาทหัวล่าย
ปราสาทหลังเหนือของปราสาทหัวล่าย แม้ว่ายังสลักลวดลายประดับเสาไม่เสร็จ แต่ลักษณะที่โดเด่นก็คือปราสาทจำลองซึ่งประดับที่โคนเสาติดผนังแต่ละต้น เนื่องจากปราสาทจำลองเหล่านี้ปรากฏทั้งเรือนธาตุและชั้นหลังคาแบบวิมานอย่างซับซ้อน และถือเป็นปราสาทจำลองที่ซับซ้อนที่สุดในศิลปะจาม จากรูปแบบของปราสาทจำลองซึ่งยังคล้ายคลึงกับศิลปะอินเดียและศิลปะขอมสมัยก่อนเมืองพระนคร ทำให้กำหนดอายุได้ว่าปราสาทหลังนี้อยู่ในระยะแรกของศิลปะจาม
สถาปัตยกรรมที่ตั้งของปราสาทโพกลวงการาย
ที่ตั้งของปราสาทแห่งนี้ ได้แก่ยอดเนินเขา โดยมีการยกกลุ่มอาคารทั้งหมดขึ้นไปไว้ด้านบน ทั้งปราสาทประธาน บรรณาลัย มณฑป โคปุระ ที่ตั้งของปราสาทแห่งนี้ทำให้นึกถึงปราสาทบาญอี๊ดในจังหวัดบิญดิ่น การเลือกตั้งปราสาทอยู่บนยอดเขานั้น ปรากฏความนิยมมาก่อนแล้วตั้งแต่สมัยบิญดิ่น และดูเหมือนว่าในสมัยหลัง ก็ยังคงสืบทอดความนิยมดังกล่าวด้วย
สถาปัตยกรรมปราสาทประธานของปราสาทโพกลวงการาย
ปราสาทหลังนี้ มีลักษณะหลายประการคล้ายคลึงกับปราสาทสมัยบิญดิ่นอตนปลายอยู่ ทั้งรูปแบบเสาติดผนังที่มี 5 ต้น ไม่มีร่องไม่มีลาย รวมถึงซุ้มที่ยังคงเป็นใบหอกแบบบิ่ญดิ่น อย่างไรก็ตาม การที่ปราสาทจำลองที่ชั้นหลังคากลายเป็น “ทรงพุ่ม” นั้นแสดงให้เห็นว่าปราสาทหลังนี้สร้างขึ้นในสมัยหลังแล้ว
สถาปัตยกรรมปราสาทจำลองของปราสาทโพกลวงการาย
ปราสาทจำลองทรงพุ่ม ถือเป็นลักษณะเฉพาะของสถาปัตยกรรมสมัยหลังของจาม พัฒนามาจากปราสาทจำลองทรงถะจีนซึ่งนิยมมาก่อนในศิลปะบิญดิ่นตอนปลาย เช่นปราสาทจำลองของปราสาทแก๋งเตียนในจังหวัดบิญดิ่น ปราสาทจำลองแบบนี้ทำให้สามารถกำหนดอายุว่า ปราสาทโพกลวงการายควรสร้างในราวพุทธศตวรรษที่ 19 ลงมา
ประติมากรรมศิวนาฏราชบนหน้าบันของปราสาทโพกลวงการาย
แม้ว่าปราสาทโพกลวงการายจะมีอายุอยู่ในพุทธศตวรรษที่ 19 แต่หน้าบันรูปพระศิวนาฏราชชิ้นนี้กลับมีอายุเก่ากว่าเล็กน้อย คืออยู่ในศิลปะบิ่ญดิ่น แสดงให้เห็นถึงการนำเอาศิลปกรรมเก่ากลับมาใช้ใหม่ รูปแบบของมงกุฎพระศิวะนั้นสามารถเทียบได้กับมงกุฎในศิลปะบิญดิ่นโดยทั่วไป คือประกอบด้วยตาบเล็กๆ ซ้อนขึ้นไปเป็นชั้นๆ ในรูปสามเหลี่ยม ส่วนผ้านุ่งมีการชักชายผ้ารูปสามเหลี่ยมซึ่งเป็นลักษณะประจำของศิลปะบิญดิ่นเช่นกัน
ประติมากรรมประติมากรรมประธานในปราสาทโพโรเม
ประติมากรรมโพโรเม ถือเป็นตัวอย่างของประติมากรรมในสมัยหลังได้ดีที่สุดชิ้นหนึ่ง มีลักษณะสำคัญคือประทับนั่งเห็นเพียงครึ่งพระองค์ ด้านล่างจมหายไปกับแผ่นหลัง พระหัตถ์จำนวนมากก็เข้าไปติดยึดกับแผนหลังเช่นกัน พระพักตร์มีเคราตามอิทธิพลจีน/เวียดนามส่วนมงกุฎมักเป็นทรงกระบอก