ค้นหางานศิลปกรรม
ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ประติมากรรมพระพุทธมหาโลกาภินันทปฏิมากร
พระพุทธมหาโลกาภินันทปฏิมากรมีรูปแบบเฉพาะของพระพุทธรูปที่สร้างในสมัยรัชกาลที่ 3 อย่างแท้จริง กล่าวคือ พระวรกายเพรียวบาง พระพักตร์ค่อนข้างกลมกึ่งรูปไข่ ขมวดพระเกศาเล็ก พระรัศมีเป็นเปลว พระขนงโก่ง พระเนตรเรียวเล็ก พระโอษฐ์อ่อนโค้งเล็กน้อยจนเกือบเป็นเส้นตรง พระพักตร์คล้ายหุ่น ขมวดพระเกศาเป็นเม็ดเล็ก มีอุษณีษะรองรับพระรัศมีเปลว ประทับนั่งขัดสมาธิราบแสดงปางมารวิชัย นิ้วพระหัตถ์ทั้ง 4 ยาวเสมอกัน ครองจีวรห่มเฉียงเรียบไม่มีริ้ว
ประติมากรรมพระพุทธรูปคันธารราฐ
พระพุทธรูปเลียนแบบศิลปะอินเดียแบบคันธารราฐ ประทับยืนปางขอฝนพระพักตร์แหงนเงยขึ้นเบื้องบน พระหัตถ์ขวายกในกิริยากวัก พระหัตถ์ซ้ายหงายรองรับน้ำฝนตรงบั้นพระองค์พระพักตร์มีรูปแบบคล้ายเทพเจ้ากรีก-โรมัน เกล้าพระเกศาเป็นมุ่นโมลี ไม่มีพระรัศมี พระวรกายแสดงกล้ามเนื้ออย่างมนุษย์ ครองจีวรห่มเฉียงเป็นริ้วหนา มีรอยยับอย่างเป็นธรรมชาติ ประทับยืนบนดอกบัว เหนือบันไดขั้นบนสุดของขอบสระโบกขรณี ใกล้กันมีราวบันไดซึ่งมีเสาและพนัก ประดับตกแต่งรูปพระแม่ธรณีบีบมวยผม และรูปมนุษย์นาคซึ่งมีความหมายถึงน้ำ และความอุดสมบูรณ์
สถาปัตยกรรมอนุสาวรีย์ราชานุสรณ์
เป็นอนุสาวรีย์หินอ่อนแกะสลักจากประเทศอิตาลี ลักษณะเป็นแท่นรูปทรงสี่เหลี่ยม แต่ละด้านแกะลวดลายเป็นคูหาสำหรับประดิษฐานพระรูปหินอ่อนแกะสลักเจ้านายที่สิ้นพระชนม์ไปแล้วทั้ง 4 พระองค์ เหนือขึ้นไปเป็นแท่งเสาทรงสี่เหลี่ยมสอบขึ้นไปจนถึงยอด
ประติมากรรมพระบรมรูป 4 รัชกาล
พระบรมรูปรัชกาลที่ 1 - 3 มีขนาดเท่าพระองค์จริง หล่อด้วยสำริดเคลือบทองในพระราชอิริยาบถยืนตรง ทรงพระภูษาจีน มีสายรัดพระองค์และมีหัวพระปั้นเหน่งทับ ไม่ทรงฉลองพระองค์ ทรงพระแสงดาบคาบค่าย พระแสงดาบเวียต และพระแสงดาบญี่ปุ่นตามลำดับ จะเห็นได้ว่าพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประดิษฐวรการ ทรงใช้วิธีการผสมผสานรูปลักษณ์ตามคติไทยลงไปในรูปเหมือนตามคติตะวันตก คือเน้นความเหมือนจริงของพระพักตร์ แต่พระวรกายในพระราชอิริยาบถยืนนั้นยังคงความเกลี้ยงเกลากลมกลืนดูสงบนิ่งแต่แฝงความศักดิ์สิทธิ์น่าเลื่อมใสศรัทธาตามแบบพระพุทธรูป ส่วนพระบรมรูปรัชกาลที่ 4 นั้นเดิมหลวงเทพรจนา (พลับ) เป็นผู้ปั้น ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯให้พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประดิษฐวรการ แก้ไขและเพิ่มรายละเอียด เช่น รอยย่นบนพระพักตร์ รอยยับของพระภูษาโจง และลวดลายเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ทำให้ดูเหมือนจริงกว่าพระบรมรูปรัชกาลที่ 1 - 3
สถาปัตยกรรมวังบางขุนพรหม
ตำหนักใหญ่วังบางขุนพรหมหรือตำหนักทูลกระหม่อมเป็นอาคาร 2 ชั้นในผังสี่เหลี่ยมผืนผ้า ตัวอาคารมีลักษณะโค้งเข้าโค้งออกและนูนต่อเนื่อง ใช้หลังคาแบบมันสาร์ดมุงกระเบื้องว่าว ปีกด้านทิศใต้มีหอคอยสี่เหลี่ยมและแปดเหลี่ยม ตกแต่งด้วยเสาหลายชนิดทั้งเสากลม เสาเหลี่ยม เสาแบน เสาบิดเป็นเกลียว หัวเสาตกแต่งด้วยงานปูนปั้น หน้าตามีทั้งหน้าต่างรูปไข่ล้อมด้วยปูนปั้นดอกคัทลียาและหน้าต่างรูปครึ่งวงกลมตกแต่งด้วยลายเครือไม้และผลไม้ ภายในชั้นล่างมีห้องรับแขก 2 ห้อง ห้องเสวยขนาดใหญ่ 2 ห้อง ห้องสมุด และห้องทรงพระอักษร ชั้นบนเป็นห้องบรรทม ห้องแต่งพระองค์ ห้องพระ ห้องสีชมพู ห้องสีน้ำเงินตำหนักสมเด็จเป็นอาคาร 3 ชั้นมีทางเชื่อมกับตำหนักใหญ่ เป็นอาคารคฤหาสน์แบบชนบทของเยอรมนี ภายนอกตกแต่งด้วยลายปูนปั้นอย่างเรียบง่าย ภายในมีการตกแต่งด้วยไม้แกะสลักและกระจกสี นอกจากนี้ภายในวังบางขุนพรหมยังมีตำหนักน้อยใหญ่อีกหลายหลัง เช่น ตำหนักหอ ตำหนักเล็ก ตำหนักน้ำ เรือนกล้วยไม้และกระโจมแตร
สถาปัตยกรรมวัดราชโอรสาราม
วัดแห่งนี้แผนผังหันหน้าไปยังคลองบางขุนเทียน มีพระอุโบสถตั้งเป็นประธานอยู่ตรงกลาง ขนาบข้างซ้ายขวาด้วยศาลาการเปรียญหรือพระวิหารพระนั่งและพระวิหารพระยืน ด้านหลังเป็นพระวิหารพระพุทธไสยาสน์ มีระเบียงคดล้อมรอบวิหารพระนอนซึ่งมีเจดีย์ล้อมรอบ และมีกำแพงแก้วล้อมรอบพระอุโบสถและพระวิหาร มุมกำแพงแก้วด้านหน้าพระอุโบสถมีเจดีย์ทรงปรางค์ทั้ง 2 มุม นอกกำแพงด้านหน้ามีเจดีย์ทรงถะจีน 4 องค์ และวิหารพระสิทธารถ
ประติมากรรมพระพุทธรูปประจำพระชนมวารรัชกาลที่ 9
พระพุทธรูปประจำพระชนมวาร พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเป็นพระพุทธรูปประทับยืนปางห้ามญาติ พระพักตร์รูปไข่ ขมวดพระเกศา รัศมีเป็นเปลวไฟ มีพระเกตุมาลา พระอังสาใหญ่ ครองจีวรห่มคลุม จีวรบางเรียบไม่มีริ้ว ปรากฏรัดประคดและจีบเป็นแถบที่สบง ประทับยืนบนฐานบัวคว่ำบัวหงายบนฐานแปดเหลี่ยม
ประติมากรรมพระสยามเทวาธิราช
รูปแบบของพระสยามเทวาธิราชเป็นประติมากรรม ทรงเครื่องต้นอย่างพระจักรพรรดิ ได้แก่ พระมหามงกุฎยอดแหลม มีกรรเจียกจร ทรงสังวาล ทับทรวง พาหุรัด ทองพระกร ทรงสนับเพลาประดับชายไหวชายแครง ทรงฉลองพระบาทเชิงงอน ประทับยืน พระหัตถ์ขวาทรงถือพระขรรค์ในระดับพระโสณี พระหัตถ์ซ้ายจีบนิ้วพระหัตถ์ในระดับพระอุระ ประดิษฐานอยู่ภายในพระวิมานไม้จันทน์แบบเก๋งจีน มีคำจารึกภาษาจีน แปลได้ว่า “สถิตแห่งพระสยามเทวาธิราช”เบื้องหน้าพระวิมานทองสามมุข รัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯ ให้มีการสมโภชและตั้งโต๊ะหมู่บูชาถวายเครื่องสังเวยพระสยามเทวาธิราชเป็นประจำ