ค้นหางานศิลปกรรม
ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ประติมากรรมกู่พระเจ้าล้านทอง
กู่พระเจ้าล้านทองมีส่วนฐานที่ประกอบด้วยฐานเขียงรองรับฐานบัวสองฐานซ้อนกันในผังยกเก็จโดยไม่มีลูกแก้วอกไก่ประดับที่ท้องไม้ ส่วนฐานที่เพิ่มเข้ามาผระดับลวดลายปูนปั้นลายเครือล้านนา คือลายดอกไม้ใบไม้ และมีรูปสัตว์แทรก มีลูกแก้วมารองรับฐานบัว เรือนธาตุเป็นห้องสี่เหลี่ยมเพิ่มมุมด้านละ 3 มุม มีการยกเก็จเป็นเสาซุ้มอยู่ 2 มุม แต่ละมุมประดับลายกาบบน กาบล่าง ประจำยามอก เรือนธาตุมีฐานบัวเชิงเป็นฐานบัวลูกแก้วอกไก่ที่ด้านล่างและบัวรัดเกล้าที่ด้านบน ภายในประดิษฐานพระเจ้าล้านทอง เจาะช่องเฉพาะด้านหน้า ด้านอื่นประดับรูปเทวดาเป็นลายเส้นในซุ้มจระนำ เรือนชั้นซ้อนมีการผสมผสานกันระหว่างแบบเรือนชั้นซ้อนและแบบหลังคาลาด ซึ่งเป็นรูปแบบที่นิยมในศิลปะล้านนา แสดงตัวเรือนที่มีฐานบัวคว่ำบัวหงายลูกแก้วอกไก่รองรับเรือนธาตุที่มีช่องจระนำประดับซุ้มบรรพแถลง กรอบสามเหลี่ยมคล้ายกลีบขนุนและเสาหัวเม็ดขนาดเล็ก หลังคาเอนมีการประดับสันหลังคาด้วยมังกรหรือปัญจรูป ส่วนยอดเป็นทรงพุ่มคล้ายดอกบัวในผังยกเก็จปลายเป็นรูปกลีบบัวต่อด้วยลูกแก้วเป็นวงซ้อนกันและยอดสุดเป็นปลี

สถาปัตยกรรมพระธาตุหนองสามหมื่น
เจดีย์อยู่ในผังเพิ่มมุม มีลายประทักษิณด้านล่างรองรับฐานสิงห์สองฐานต่อด้วยฐานบัวคว่ำบัวหงายคาดลูกแก้วอกไก่ 1 เส้น เรือนธาตุตกแต่งด้วยลายกาบบน-กาบล่าง มีการประดับพระพุทธรูปภายในซุ้ม เหนือขึ้นไปเป็นหลังคาลาด เรือนชั้นซ้อนมีการจำลองเรือนธาตุขึ้นไปและมีการเพิ่มปราสาทจำลองหรือยอดซุ้มเหนือหลังคาทั้ง 4 ด้าน ส่วนยอดเป็นเจดีย์ทรงระฆังสี่เหลี่ยม

สถาปัตยกรรมเจดีย์ประธาน วัดเทพพลประดิษฐาราม
เจดีย์องค์เป็นเจดีย์ทรงปราสาทในผังเพิ่มมุม ฐานเขียงสี่เหลี่ยมด้านล่างรองรับฐานบัวเข่าพรหมในผังเพิ่มมุมต่อด้วยเรือนธาตุซ้อนกัน 2 ชั้น มีซุ้มที่ด้านทั้ง 4 โดยซุ้มที่เรือนธาตุชั้นแรกมีการประดิษฐานพระพุทธรูปแต่ซุ้มที่เรือนธาตุชั้น 2 ไม่สามารถประดิษฐานพระพุทธรูปได้ ส่วนยอดประกอบด้วยองค์ระฆัง บัลลังก์และปลียอด

สถาปัตยกรรมพระธาตุบังพวน
เจดีย์องค์นี้เป็นเจดีย์ทรงปราสาทในผังเพิ่มมุม ด้านล่างเป็นฐานเขียงต่อด้วยต่อด้วยฐานบัวเข่าพรหม ต่อด้วยเรือนธาตุในผังสี่เหลี่ยมมีซุ้มจระนำแบบซุ้มลด ทั้ง 4 ด้าน ส่วนยอดเป็นองค์ระฆังในผังสี่เหลี่ยมและต่อด้วยปล้องไฉน

สถาปัตยกรรมเจดีย์ทรงบัวเหลี่ยม
เจดีย์องค์นี้เป็นเจดีย์ทรงระฆังสี่เหลี่ยม ส่วนล่างเป็นฐานเขียงในผังสี่เหลี่ยมต่อด้วยฐานบัวคว่ำบัวหงายคาดลูกแก้วอกไก่ องค์ระฆังอยู่ในผังสี่เหลี่ยมตกแต่งด้วยลายกลีบบัวโดยรอบต่อด้วยบัลลังก์เป็นบัวคว่ำบัวหงายคาดลูกแก้วอกได่และปล้องไฉนสี่เหลี่ยม

สถาปัตยกรรมเจดีย์ประธาน วัดเชียงงาสง่างาม
เจดีย์องค์นี้เป็นเจดีย์ทรงระฆัง ส่วนฐานเป็นบัวถลาในผังยกเก็จต่อด้วยบัวคลุ่ม องค์ระฆังในผังกลมมีการประดับบัวคอเสื้อ ส่วนยอดทำเป็นเจดีย์จำลอง

สถาปัตยกรรมพระธาตุเชิงชุม
พระธาตุเชิงชุมเป็นพระธาตุทรงบัวเหลี่ยม ก่ออิฐถือปูนครอบทับปราสาทเขมรที่ก่อจากศิลาแลงพระธาตุเชิงชุมมีแผนผังสี่เหลี่ยม เรือนธาตุมีรูปแบบเป็นชุดฐานเขียงซ้อนลดหลั่นกัน ด้านทั้งสี่มีซุ้มประตูทรงปราสาท ซุ้มด้านตะวันออกเป็นทางเข้าสู่ห้องคูหาที่ตั้งอยู่ภายใน โดยห้องดังกล่าวนี้ก็คือครรภคฤหะเดิมของปราสาทเขมรนั่นเอง ในขณะที่ซุ้มประตูด้านใต้ ตะวันตก และเหนือ แม้ว่าจะผลักบานประตูได้แต่ก็ไม่สามารถเข้าไปภายในได้ เพราะเมื่อผลักเข้าไปจะพบกับผนังประตูหลอกของปราสาทศิลาแลง ถัดขึ้นไปจากเรือนธาตุเป็นองค์ประกอบคล้ายองค์ระฆังแต่อยู่ในผังสี่เหลี่ยม ถัดขึ้นไปเป็นฐานบัวลูกแก้วอกไก่ซึ่งอาจเทียบได้กับบัลลังก์ ถัดขึ้นไปเป็นส่วนยอดที่ประกอบจากบัวเหลี่ยมซ้อนกัน

สถาปัตยกรรมพระธาตุพนม
พระธาตุพนมเป็นเจดีย์ก่ออิฐถือปูน องค์ประกอบสำคัญแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ เรือนธาตุ และยอดทรงบัวเหลี่ยมเรือนธาตุก่ออิฐไม่ฉาบปูน มีแผนผังสี่เหลี่ยมจัตุรัส น่าจะตรงกับที่ตำนานอุรังคธาตุเรียกว่า อุโมงค์ (อูบมุง) ประดับตกแต่งกึ่งกลางแต่ละด้านด้วยซุ้มประตูหลอก ถัดออกมาสองข้างของซุ้มประตูตกแต่งด้วยเสาหลอกทรงกลม มุมทั้งสี่สลักภาพกนกพรรณพฤกษาและรูปบุคคลขี่พาหนะ ซึ่งได้รับการเชื่อมโยงเข้ากับตำนานอุรังคธาตุว่าเป็นรูปพระยาทั้งห้าที่ได้ร่วมกันสร้างพระธาตุพนมขึ้น ถัดขึ้นไปเป็นชั้นซ้อนจำลองเรือนธาตุจำนวน 1 ชั้น ถัดไปจากนั้นเป็นยอดบัวเหลี่ยม ส่วนนี้นับได้ว่าเป็นเอกลักษณ์ของศิลปะล้านช้าง