ค้นหางานศิลปกรรม
ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ประติมากรรมพระพุทธรูปปางมารวิชัย
พระพุทธรูปนั่งขัดสมาธิเพชร พระหัตถ์ทำปางมารวิชัย รองรับด้วยฐานบัวคว่ำบัวหงายซึ่งวางอยู่บนฐานสี่เหลี่ยมที่ประดับรูปสิงห์อยู่ที่มุม เบื้องหลังเป็นประภามณฑลวงกลม พื้นที่ตรงกลางเจาะโปร่ง ขอบนอกประดับด้วยลายดอกไม้กลมและลายเปลวเพลิง ด้านบนมีฉัตร

ประติมากรรมพระพุทธรูป
พระพุทธรูปอยู่ในสภาพชำรุด พระพักตร์ชำรุดบางส่วน พระกรขวาและพระวรกายตั้งแต่พระชานุ (เข่า) ลงไปสูญหาย พระพุทธรูปยืนตรง พระเกศาขมวดเป็นก้นหอย พระอุษณีษะนูนแต่เพียงเล็กน้อย ทั้งสองสิ่งข้างต้นนี้ทำให้นึกถึงพระพุทธรูปศิลปะอินเดียแบบอมราวดีที่น่าจะเป็นต้นแบบ ครองจีวรห่มเฉียง หนา มีแนวชายจีวรหนาพาดผ่านจากด้านล่างสู่ข้อพระกรซ้าย ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้นึกถึงพระพุทธรูปอินเดียแบบอมราวดีเช่นกัน ทว่าจีวรกลับเรียบไม่มีริ้วอันแตกต่างไปจากพระพุทธรูปอมราวดีที่ทำริ้วเสมอ พระหัตถ์ขวากำและยกขึ้นระดับพระอุระ หันฝ่าพระหัตถ์เข้าสู่พระองค์

สถาปัตยกรรมพระที่นั่งอิศราวินิจฉัย
พระที่นั่งอิศราวินิจฉัยเป็นอาคารโรง ก่ออิฐถือปูน ชั้นเดียว ขนาด 10 ห้อง หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ฝากั้นทึบทั้ง 4 ด้าน ด้านหน้ามีระเบียง เสาระเบียงและเสาในอาคารเป็นเสาสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่แบบที่นิยมในสมัยรัชกาลที่ 3 ภายในประดิษฐานพระที่นั่งบุษบกมาลา หลังคาพระที่นั่งประดับด้วยเครื่องไม้มุงกระเบื้องดินเผาไม่เคลือบสี ประดับกรอบหน้าบันด้วยช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ หน้าบันประดับรูปเทพนมประทับบนฐานบัวแกมช่อกระหนกเปลว ปิดทองประดับกระจก

จิตรกรรมหนังพระนครไหว
หนังพระนครไหวประกอบด้วยหนัง 2 ประเภทใหญ่ ได้แก่ หนังชุดเบิกโรง คือชุดจับลิงหัวค่ำ ประกอบด้วยตัวหนังพระฤษี ลิงขาว และลิงดำ อีกประเภทหนึ่งคือหนังเล่าเรื่อง สำหรับการแสดงเรื่องรามเกียรติ์ตอนต่างๆ เช่น ตอนศึกอินทรชิตตอนหักคอช้างเอราวัณ ตอนหนุมานอาสา ตอนทศกัณฐ์สั่งเมือง และตอนพระรามเสี่ยงม้าอุปการเป็นต้น ตัวหนังทำจากหนังโคเป็นผืนขนาดใหญ่ ฉลุลายด้วยสิ่วและค้อนให้เป็นรูปตัวละครจากเรื่องรามเกียรติ์และองค์ประกอบต่างๆ ตามท้องเรื่อง ตัวละครแต่งกายยืนเครื่องและสวมศิราภรณ์เช่นเดียวกับการแสดงโขน โดยแผ่นหนังทั้งผืนไม่ขาดจากกัน ระบายสีผืนหนังในบางแห่ง หนังแต่ละตัวมีไม้คีบหนัง 2 ข้าง สำหรับผนึกตัวหนังและเชิดประกอบการแสดง

ประติมากรรมพระพุทธรูปคันธารราฐ
พระพุทธรูปเลียนแบบศิลปะอินเดียแบบคันธารราฐ ประทับยืนปางขอฝนพระพักตร์แหงนเงยขึ้นเบื้องบน พระหัตถ์ขวายกในกิริยากวัก พระหัตถ์ซ้ายหงายรองรับน้ำฝนตรงบั้นพระองค์พระพักตร์มีรูปแบบคล้ายเทพเจ้ากรีก-โรมัน เกล้าพระเกศาเป็นมุ่นโมลี ไม่มีพระรัศมี พระวรกายแสดงกล้ามเนื้ออย่างมนุษย์ ครองจีวรห่มเฉียงเป็นริ้วหนา มีรอยยับอย่างเป็นธรรมชาติ ประทับยืนบนดอกบัว เหนือบันไดขั้นบนสุดของขอบสระโบกขรณี ใกล้กันมีราวบันไดซึ่งมีเสาและพนัก ประดับตกแต่งรูปพระแม่ธรณีบีบมวยผม และรูปมนุษย์นาคซึ่งมีความหมายถึงน้ำ และความอุดสมบูรณ์

ประติมากรรมพระพิมพ์
พระพิมพ์ทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้ามีภาพบุคคลจำนวนมาก พระพุทธเจ้านั่งทำปางสมาธิอยู่ใต้ต้นไม้ เบื้องล่างปรากฏบุคคล 2 คนซึ่งสันนิษฐานว่าอาจเป็นพญานาคนันทะกับอุปนันทะกำลังชูดอกบัวให้พระพุทธองค์นั่งทำสมาธิอยู่บนนั้น เบื้องซ้ายของพระพุทธเจ้าปรากฏภาพบุคคล 1 คน ในขณะที่ด้านขวาปรากฏภาพบุคคล 3 คน ถัดขึ้นไปในตำแหน่งที่ตรงกับบุคคลทั้งสองข้างก็ปรากฏรูปบุคคลเช่นกัน นับรวมรูปบุคคลได้ทั้งหมด 8 คน เหล่านี้น่าจะได้แก่เทวดาที่ลงมาเฝ้าชมเหตุการณ์ ที่มุมด้านบนทั้งสองข้างปรากฏภาพวงกลมมุมละ 1 วง ภายในมีรูปบุคคลปรากฏอยู่ เชื่อได้ว่าหมายถึงพระอาทิตย์และพระจันทร์ ถัดเข้ามาจากพระอาทิตย์พระจันทร์เป็นภาพเทวดาเหาะ

ประติมากรรมพระพุทธรูปปางสมาธิ
พระพุทธรูปอยู่ในอิริยาบถนั่งขัดสมาธิราบแบบแปลกๆ พระหัตถ์ทำปางสมาธิ ใช้ประดับศาสนสถานดังนั้นด้านหลังจึงตัดเรียบพระพักตร์เหลี่ยม พระขนงต่อกันเป็นปีกกา พระเนตรเหลือบต่ำแสดงความสงบ พระนาสิกใหญ่ พระโอษฐ์แบะ ขมวดพระเกศาเวียนเป็นวงก้นหอย พระอุษณีษะนูนสูงเด่น ยอดสุดเป็นพระรัศมีแบบลูกแก้วพระพุทธรูปครองจีวรห่มเฉียง ไม่มีริ้ว บางแนบพระวรกาย แลเห็นขอบสบงบริเวณบั้นพระองค์ชัดเจน ชายจีวรหรือชายสังฆาฏิซ้อนทบกันพาดผ่านเหนือพระอังสาซ้ายพระหัตถ์ทำปางสมาธิ พระเพลาสลักให้เห็นเป็นมุมมองจากด้านบนจนแลดูคล้ายกำลังนั่งแบบตั้งพระชานุ ถือเป็นมุมมองที่แปลก มีชายจีวรพาดผ่านตรงกลางผิดทับข้อพระบาท เมื่อมองจากทางด้านข้างจะพบว่าพระเพลาอยู่ในแนวเดียวกันกับพระอุระและพระอุทร ไม่ได้ยื่นพ้นออกมาทางด้านหน้า ทำให้พระเพลามีกายวิภาคผิดไปจากความเป็นจริง

ประติมากรรมพระพุทธรูปปางสมาธิ
พระพุทธรูปอยู่ในอิริยาบถนั่งขัดสมาธิราบแบบหลวมบฯฐานบัว พระหัตถ์ทำปางสมาธิ ด้านหลังมีแผ่นหลังทรงโค้งรองรับไว้เค้าพระพักตร์แตกต่างไปจากพระพุทธรูปที่พบจากภาคกลางทั่วไป พระพักตร์เหลี่ยม พระขนงต่อ พระเนตรเหลือบต่ำ พระนาสิกและพระโอษฐ์สมส่วน พระหนุ (คาง) เหลี่ยม พระเกศาขมวดเป็นวงก้นหอย พระอุษณีษะนูนเพียงเล็กน้อยพระพุทธรูปครองจีวรห่มเฉียง ไม่มีริ้ว บางแนบพระวรกาย แลเห็นขอบสบงบริเวณบั้นพระองค์ชัดเจน พระหัตถ์ทำปางสมาธิ พระเพลาสลักให้เห็นเป็นมุมมองจากด้านบน สังเกตได้จากการแบฝ่าพระบาทออกทางด้านหน้าและแลเห็นพระชงฆ์จากมุมมองด้านบน พระบาททั้งสองซ้อนทับกัน นิยมเรียกว่าขัดสมาธิราบแบบหลวม แผ่นเบื้องหลังสลักต้นพระศรีมหาโพธิ์อยู่เบื้องหลังพระเศียร สองข้างเป็นรูปสถูปทรงหม้อที่มีฉัตรซ้อนชั้นปักเป็นส่วนยอด อนึ่ง เมื่อมองจากทางด้านข้างจะพบว่าพระเพลาอยู่ในแนวเดียวกันกับพระอุระและพระอุทร ไม่ได้ยื่นพ้นออกมาทางด้านหน้า ทำให้กายวิภาคผิดไปจากความเป็นจริง ปัญหาดังกล่าวนี้อาจเกิดจากความหนาของหินไม่เพียงพอ หรืออาจเป็นความตั้งใจของช่างที่เห็นว่ารูปแบบเช่นนี้เหมาะสมดีแล้ว