ค้นหางานศิลปกรรม
ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
จิตรกรรมจิตรกรรมเรื่องเวสสันดรชาดก
ภาพมหาเวสสันดรชาดกมีฉากใหญ่ที่ผนังเหนือช่องหน้าต่างและประตูรวม 3 ด้าน เรียงลำดับจากด้านขวาของพระประธาน ได้แก่ ผนังด้านทิศใต้เป็นฉากกัณฑ์หิมพานต์ เล่าเหตุการณ์ตอนพระเวสสันดรทรงบริจาคช้างปัจจัยนาเคนทร์แก่พราหมณ์เมืองกลิงคราษฎร์ ซึ่งเป็นเหตุให้ชาวเมืองสีพีไม่พอใจ ทำให้พระเวสสันดร พระนางมัทรีและพระโอรสธิดาต้องถูกเนรเทศออกจากเมือง ผนังด้านทิศตะวันออกเป็นฉากทานกัณฑ์ เล่าเหตุการณ์ขณะพระเวสสันดรเสด็จออกจากกรุงสีพีและได้ทรงบริจาคทางตลอดเส้นทางที่มุ่งหน้าสู่ป่าหิมพานต์แม้กระทั่งม้าเทียมรถและราชรถ ผนังด้านทิศเหนือเป็นฉากนครกัณฑ์ เล่าเหตุการณ์ในตอนจบที่กษัตริย์ทั้งหกเสด็จกลับสู่เมืองสีพีด้วยกระบวนอิสริยยศ โดยมีฉากพระราชวังที่ละม้ายคล้ายกับพระมหาปราสาทในพระบรมมหาราชวัง ส่วนภาพเหตุการณ์สำคัญจากกัณฑ์อื่นๆ อยู่บริเวณผนังระหว่างช่องหน้าต่าง ซึ่งมีการจัดวางองค์ประกอบโดยให้บุคคลสำคัญของเรื่องอยู่ใจกลางภาพ แวดล้อมด้วยฉากสถานที่หรือทิวทัศน์อย่างสมจริงตามเรื่องราวในชาดก
จิตรกรรมจิตรกรรมเรื่องธุดงควัตร
จิตรกรรมฝาผนังเรื่องธุดงควัตรเขียนอยู่บริเวณหนังระหว่างช่องหน้าต่างโดยรอบพระอุโบสถ โดย 1 ห้องภาพได้เขียนรายละเอียดของข้อวัตร 1 ข้อ เรียงลำดับกันไปจนครบทั้ง 13 ข้อ โดยมีข้อความเขียนอธิบายข้อวัตรแต่ละข้อที่ใต้ภาพ ธุดงควัตรทั้ง 13 ข้อ ได้แก่1. ถือการนุ่งห่มผ้าบังสุกุลเป็นวัตร2. ถือการนุ่งห่มผ้าสามผืนเป็นวัตร3. ถือการบิณฑบาตเป็นวัตร 4. ถือการบิณฑบาตไปโดยลำดับแถวเป็นวัตร5. ถือการฉันจังหันมื้อเดียวเป็นวัตร6. ถือการฉันในภาชนะเดียวคือบาตรเป็นวัตร 7. ถือการห้ามภัตตาหารที่เขานำมาถวายภายหลังเป็นวัตร 8. ถือการอยู่ป่าเป็นวัตร9. ถือการอยู่โคนต้นไม้เป็นวัตร10. ถือการอยู่ที่แจ้งเป็นวัตร11. ถือการอยู่ป่าช้าเป็นวัตร 12. ถือการอยู่ในเสนาสนะตามมีตามได้เป็นวัตร13. ถือการไม่นอนเป็นวัตร การเขียนภาพเริ่มใช้เทคนิคอย่างตะวันตกแล้ว สังเกตได้จากการกำหนดเส้นขอบฟ้า การแรเงา การใช้เส้นนำสายตาเพื่อให้เห็นระยะและมิติของภาพวัตถุและบุคคลต่างๆ ภาพต้นไม้ที่มีลักษณะเป็นพุ่มไล่สีเพื่อแสดงความอ่อนแก่ของใบไม้ ภาพคลื่นน้ำที่มีลักษณะเป็นธรรมชาติ ฉากส่วนใหญ่เป็นภาพอาคารสถานที่ในวัดและภาพทิวทัศน์ของป่าเขาอันเงียบสงบซึ่งเป็นที่ปฏิบัติศาสนกิจ ในขณะเดียวกันก็ยังปรากฏเทคนิคการเขียนภาพแบบไทยประเพณีอยู่ด้วย เช่นการเขียนภาพเทวดาทรงเครื่องประดับต่างๆ ซึ่งแสดงให้เห็นแนวคิดและพัฒนาการของงานช่างจิตรกรรมไทยในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สืบเนื่องจากสมัยก่อน
จิตรกรรมจิตรกรรมฝาผนังเรื่องปริศนาธรรม
ภาพจิตรกรรมเขียนด้วยสีฝุ่น โทนสีโดยรวมค่อนข้างมืดครึ้ม ใช้หลักทัศนียวิทยา (perspective) อย่างตะวันตก โดยกำหนดเส้นขอบฟ้าเพื่อเป็นจุดนำสายตา ก่อให้เกิดมิติเนื่องจากการแสดงระยะใกล้-ไกลของวัตถุหรือบุคคลในภาพ ใช้เทคนิคการเกลี่ยสีและให้แสงเงา ซึ่งแตกต่างจากการระบายสีแล้วตัดเส้นแบบจิตรกรรมไทยประเพณี ภาพบุคคลแต่งกายแบบตะวันตก เช่นเดียวกับอาคารบ้านเรือนที่เป็นสถาปัตยกรรมแบบยุโรป แม้ภาพโดยรวมจะมีรูปแบบอย่างตะวันตก แต่ยังคงปรากฏภาพเทวดานางฟ้าแต่งกายทรงเครื่องอย่างไทยประเพณีอยู่ในท่าเหาะบนท้องฟ้าที่มีก้อนเมฆและกลุ่มดาวต่างๆ ที่ใต้ภาพปริศนาธรรมแต่ละห้องมีข้อความอธิบายความหมายของแต่ละภาพ
จิตรกรรม จิตรกรรมเรื่องสังคายนาพระไตรปิฎก
จิตรกรรมฝาผนังเขียนเล่าเหตุการณ์การสังคายนาพระไตรปิฎกในพุทธศาสนารวมทั้งสิ้น 9 ครั้ง เริ่มจากผนังด้านขวาของพระประธาน ซึ่งเป็นเหตุการณ์ในอินเดีย เรียงลำดับไปยังผนังด้านหลังซึ่งเป็นเหตุการณ์ในลังกา และผนังด้านซ้ายซึ่งเป็นเหตุการณ์ในล้านนาและในสมัยรัชกาลที่ 1 ผนังเบื้องหน้าพระประธานเขียนภาพตู้พระไตรปิฎก 3 ตู้ ซึ่งน่าจะหมายถึงพระไตรปิฎกที่ได้รับการสังคายนาแล้ว ได้แก่ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก และพระอภิธรรมปิฎก ภายในตู้บรรจุพระคัมภีร์ห่อด้วยผ้ายกปิดทอง มีภาพผู้คนหลากหลายเชื้อชาติ สังเกตได้จากการแต่งกายที่แตกต่างกันกำลังกราบไหว้บูชาตู้พระธรรมเหล่านั้น
จิตรกรรมจิตรกรรมเรื่องมโหสถชาดก
เนื้อหาภาพจิตรกรรมเป็นเรื่องราวตามแบบแผนประเพณี เช่น เรื่องพุทธประวัติ เทพชุมนุมทศชาดก และไตรภูมิโลกสัณฐาน จึงแสดงความสมจริงตามเรื่องราวอันเป็นปรัมปราคติ แต่ในขณะเดียวกันภาพจิตรกรรมยังได้สะท้อนแนวคิดแบบสมจริงอย่างเป็นเหตุเป็นผล ที่เกิดจากทัศนคติอย่างตะวันตกที่เริ่มแพร่เข้ามาในสมัยรัชกาลที่ 3 ดังจะเห็นได้จากรายละเอียดอันเป็นความสมจริงในฉากต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอาคารบ้านเรือน วิถีชีวิตผู้คน ซึ่งมีสอดแทรกจากภาพที่เป็นเนื้อหาหลัก ภาพจิตรกรรมยังปรากฏเทคนิคการเขียนภาพแบบไทยประเพณี เช่น ภาพกษัตริย์ มเหสี ที่เขียนอย่างตัวพระ ตัวนางในวรรณคดีที่แสดงออกด้วยท่านาฏลักษณ์ การปิดทองคำเปลวในส่วนสำคัญต่างๆ ฉากเหตุการณ์ต่างๆ ใช้พื้นหลังสีเข้ม จึงขับเน้นให้ภาพปราสาทราชวัง อาคารบ้านเรือน รวมทั้งตัวละครที่มีสีอ่อนกว่าและปิดทองในบางตำแหน่งให้มีความโดดเด่นมากยิ่งขึ้น
จิตรกรรมจิตรกรรมเรื่องนมัสการพระพุทธบาทสระบุรี
ภาพเขียนสีฝุ่นแสดงภาพมณฑปพระพุทธบาทที่อยู่ด้านบนกึ่งกลางภาพ แวดล้อมด้วยอาคารต่างๆภายในวัด เบื้องล่างลงมาเป็นภาพการเดินทางของผู้คนที่มุ่งหน้าไปยังพระพุทธบาทด้วยวิธีการต่างๆ เช่น เดินทางด้วยเรือ สัตว์เทียมเกวียน และเดินเท้า มีทั้งภิกษุและฆราวาส ผ่านเส้นทางที่เป็นป่าเขา การเขียนภาพใช้เทคนิคอย่างตะวันตก ให้แสงเงา แสดงถึงมิติและระยะใกล้-ไกล ไม่ใช้เส้นสินเทาในการแบ่งภาพ แต่ใช้แนวพุ่มไม้ และแถวการเดินทางของผู้คนเป็นเส้นนำสายตาไปสูภาพมณฑปพระพุทธบาท ภาพต้นไม้ใช้การระบายให้เป็นพุ่มและไล่สีอ่อนแก่ เช่นเดียวกับภาพท้องฟ้าที่มีปุยเมฆขาวและแรเงาให้เห็นบรรยากาศของท้องฟ้าอย่างเป็นธรรมชาติ
จิตรกรรมจิตรกรรมภาพเหมือนพระอารามหลวง
ภาพเล่าเรื่องการเข้าไปทำสังฆกรรมภายในพระอุโบสถและการทำบุญตักบาตรของชาวบ้าน โดยใช้วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามเป็นฉากหลัง โดยมีกลุ่มภิกษุกำลังเดินเข้าไปในลานและยืนอยู่รอบๆ นอกกำแพงวัดมีภาพบุคคลกำลังใส่บาตรพระภิกษุ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามแสดงภาพของอุโบสถของวัดพร้อมแนวระเบียงคดล้อมรอบ โดยมีเจดีย์ทรงกลมอยู่ตรงกลาง ถัดขึ้นไปด้านบนแสดงภาพของสุสานหลวง
จิตรกรรมจิตรกรรมฝาผนังที่พระพุทธรัตนสถาน
จิตรกรรมฝาผนังภายในพระพุทธรัตนสถานแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ผนังเหนือช่องประตูและหน้าต่างเป็นงานจิตรกรรมดั้งเดิมสมัยรัชกาลที่ 4 เขียนเรื่องประวัติพระพุทธบุษยรัตนจักรพรรดิพิมลมณีมัย ตั้งแต่อัญเชิญเสด็จจากลพบุรีสู่เมืองหริภุญชัยไปจนถึงการเสด็จสู่กรุงรัตนโกสินทร์และการสมโภช มีการผสมผสานระหว่างเทคนิคการเขียนแบบไทยประเพณีดั้งเดิมเข้ากับเทคนิคการเขียนจิตรกรรมแบบตะวันตกที่เพิ่งจะเข้ามาในสมัยนั้น ทำให้ภาพจิตรกรรมฝาผนังมีความสมจริงมากขึ้นกว่างานแบบไทยประเพณีดั้งเดิม จิตรกรรมฝาผนังระหว่างช่องหน้าต่างเล่าประวัติของพระพุทธรัตนสถานตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 ถึงรัชกาลที่ 9 โดยมีการแทรกเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์หรือบริบทสังคมในสมัยนั้นๆ ลงไปในฉาก เป็นงานที่ผสมผสานจิตรกรรมแบบไทยประเพณีและทัศนียวิทยาแบบตะวันตก มีการแสดงรูปบุคคล เครื่องแต่งกาย พาหนะ สถาปัตยกรรม วัฒนธรรมประเพณีตรงตามยุคสมัยในฉากนั้นๆเพื่อให้เกิดความสมจริง