ค้นหางานศิลปกรรม

ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 
 
 
 
 
 
 
แสดง 25 ถึง 32 จาก 108 รายการ, 14 หน้า
พระพิมพ์
กรุงเทพมหานคร
ประติมากรรมพระพิมพ์

พระพิมพ์ดินดิบเหล่านี้ค้นพบจากหลากพื้นที่ในบริเวณภาคใต้ของไทย มีลักษณะเป็นก้อนกลม ส่วนบนยื่นแหลมเล็กน้อย บางองค์อาจทำส่วนล่างยื่นแหลมด้วย ประทับรูปพระโพธิสัตว์ หรือทิพยบุคคลอื่นๆ ไว้ตรงกลาง เช่น พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร 21 กร พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร 4 กร ท้าวกุเวรหรือท้าวชัมภละ พระพิมพ์แบบนี้ได้ค้บพบอยู่ตามดินแดนที่นับถือพุทธศาสนามหายาน โดยเพาะอย่างยิ่งราชวงศ์ปาละในประเทศอินเดีย และราชวงศ์ไศเลนทร์ในเกาะชวาประเทศอินโดนีเซีย เป็นหลักฐานแสดงความสัมพันธ์ระหว่างกันผ่านเครือข่ายการนับถือพุทธศาสนามหายาน

จิตรกรรมเรื่องพระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์มหายาน
กรุงเทพมหานคร
สถาปัตยกรรมจิตรกรรมเรื่องพระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์มหายาน

องค์ประกอบของภาพจิตรกรรมเรื่องนี้เขียนบนฉากหลังสีน้ำเงินเข้มมีกรอบคดโค้งยอดแหลม ภายในพื้นที่นั้นประกอบด้วย ภาพพระพุทธรูป 5 พระองค์ ประทับนั่งเรียงเป็นแถว พระพุทธรูปแต่ละองค์ครองจีวรสีเข้มเกือบเป็นสีแดง ห่มจีวรเฉียง ผ้าจีวรเรียบไม่มีริ้ว มีสังฆาฏิเป็นแถบขนาดเล็กพาดจากพระอังสาซ้ายยาวจรดพระนาภี พระพักตร์และพระวรกายปิดทอง เหนือพระเศียรมีพระรัศมีเปลวปิดทองโดยไม่มีอุษณีษะ ซึ่งเป็นลักษณะสำคัญของพระพุทธรูปแบบพระราชนิยมในรัชกาลที่ 4 พระพุทธรูปทุกองค์แสดงปางสมาธิ ประทับนั่งบนฐานกลีบบัวซึ่งรองรับด้วยฐานสิงห์ภายในเรือนแก้วที่มีลักษณะเป็นซุ้มคดโค้ง ปลายซุ้มทั้ง 2 ข้างมีลักษณะคล้ายหางหงส์หรือเศียรนาคที่หันหน้าไปด้านข้าง ยอดกลางเป็นกระหนกคล้ายกับเศียรนาคหันหน้าตรง ด้านบนซุ้มประดับพุ่มไม้โพธิ์มีลายกระหนกเปลวล้อม ซึ่งลักษณะดังกล่าวเป็นรูปแบบของซุ้มพระพุทธรูปแบบพระราชนิยมในรัชกาลที่ 4 เช่นกัน ใต้ฐานพระพุทธรูปแต่ละองค์มีกรอบข้อความอักษรขอมสีทองบนพื้นสีแดงเหนือแถวภาพพระพุทธรูปทั้ง 5 พระองค์ มีรูปอุณาโลมเปล่งรัศมีเหนือดอกบัว กลางอุณาโลมมีอักษรขอม ใต้ดอกบัวมีอักษรขอมบนพื้นสีแดง ด้านล่างของแถวพระพุทธรูปเป็นภาพบุคคลแต่งกายคล้ายเทวดา 5 องค์ ทุกองค์ทรงเครื่องประดับซึ่งมีการปิดทอง ประกอบด้วยมงกุฎมีกรรเจียกจร กรองศอ สังวาล พาหุรัด ทองกร นุ่งผ้าเขียนลายประดับชายไหวชายแครง สวมทองพระบาทและฉลองพระบาท ประทับยืนบนแท่นประดับผ้าทิพย์ ภายในซุ้มเรือนแก้วที่คล้ายกับซุ้มเรือนแก้วของพระพุทธรูปทั้ง 5 องค์ แต่ไม่มีไม้โพธิ์ประดับ ใต้ฐานที่ประทับของแต่ละองค์มีกรอบข้อความอักษรขอมสีทองบนพื้นสีแดง พร้อมทั้งมีภาพสัตว์ ได้แก่ ไก่ นาค เต่า โค และสิงห์ภาพทั้งหมดนี้มีความเกี่ยวข้องกับคติความเชื่อในพุทธศาสนามหายาน เนื่องจากอักษรขอมที่ปรากฏใต้ภาพพระพุทธรูปแต่ละองค์นั้นอ่านได้ว่า “ไวโรจนะ” “อักโษภยะ” “รัตนสัมภาวะ” “อมิตาภะ” และ “อโมฆสิทธิ” โดยเรียงตามลำดับจากซ้ายไปขวา ซึ่งชื่อดังกล่าวสอดคล้องกับข้อความอักษรขอมที่อยู่ใต้รูปอุณาโลม และอยู่เหนือภาพพระพุทธเจ้าเหล่านั้นซึ่งอ่านได้ว่า “ธยานิพุทธา”ส่วนอักษรขอมที่อยู่ใต้ภาพบุคคลที่แต่งกายคล้ายเทวดาทั้ง 5 องค์นั้น อ่านได้ว่า “สมันตภัทร” “วชิรปาณี” “รัตนปาณี” “ปัทมปาณี” และ “วิศวปาณี” ดังนั้นจึงสอดคล้องกับภาพพระธยานิพุทธเจ้าแต่ละองค์ที่มีพระโพธิสัตว์ประจำองค์อยู่เบื้องล่าง และเชื่อว่าภาพสัตว์ที่อยู่เบื้องล่างของพระโพธิสัตว์แต่ละองค์นั้น เป็นสัญลักษณ์สื่อแทนพระพุทธเจ้าทั้ง 5 องค์ที่ตรัสรู้ในโลกมนุษย์ ภาพอุณาโลมที่อยู่ด้านบนสุดนั้น ภายในมีอักษรขอม 3 ตัวซึ่งอ่านได้ว่า อะ อุ มะ หรือ โอม อันเป็นคำกล่าวสรรเสริญบูชาเทพเจ้าตามคติความเชื่อในศาสนาพราหมณ์มาแต่โบราณ แต่น่าสนใจว่าได้นำมาเขียนไว้เหนือข้อความและภาพของพระธยานิพุทธเจ้าซึ่งเป็นเรื่องในพุทธศาสนา

ปราสาทประธานพิมาย
นครราชสีมา
สถาปัตยกรรมปราสาทประธานพิมาย

ปราสาทประธานหรือปรางค์ประธานสร้างจากหินทรายสีเทา หันหน้าไปทางทิศใต้ องค์ประกอบสำคัญได้แก่ เรือนธาตุอยู่ในผังเพิ่มมุม ด้านเหนือ ตะวันออก และตะวันตกของเรือนธาตุเป็นมุขทางเข้าสู่ครรภคฤหะที่อยู่ภายใน ส่วนด้านใต้เป็นอันตราละเชื่อมต่อกับมณฑปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีประตูทางเข้าสู่มณฑปทางด้านใต้ (ในอดีตทางด้านนี้น่าจะมีรูปเคารพ จึงไม่อาจเข้าไปภายในได้จริง) ตะวันออก และตะวันตก ประดับบราลีที่สันหลังคามุข อันตราละ และมณฑปหลังคาของเรือนธาตุเป็นชั้นซ้อนลดหลั่นกัน แต่ละชั้นจำลองย่อส่วนจากเรือนธาตุ ประดับด้วยบรรพแถลงและนาคปัก (กลีบขนุน) ยอดสุดเป็นกลศ นภศูลที่เคยมีอยู่พักหายไปแล้ว ห้องครรภคฤหะที่อยู่ในเรือนธาตุประดิษฐานพระพุทธรูปนาคปรกแบบายน จึงไม่ใช่องค์ดั้งเดิมที่ประดิษฐานพร้อมการสร้างปราสาทประธาน มีรางน้ำมนต์หรือท่อโสมสูตรไหลออกทางมุมทิศตะวันออกเฉียงเหนือ

ปราสาทพิมาย
นครราชสีมา
สถาปัตยกรรมปราสาทพิมาย

ปราสาทพิมายตั้งอยู่ศูนย์กลางเมืองพิมาย หันหน้าไปทางทิศใต้ สิ่งก่อสร้างสำคัญลำดับจากด้านหน้าไปยังปราสาทประธานมีดังนี้1. ชาลานาคราชในแผงผังกากบาท ด้านตะวันตกเฉียงใต้ของชาลานาคราชมีอาคารสี่เหลี่ยม 1 หลัง เรียกกันในปัจจุบันว่า พลับพลาเปลื้องเครื่อง 2. ถัดจากชาลานาคราชเป็นโคปุระและกำแพงล้อมรอบศาสนสถาน โคปุระอยู่ในผังกากบาท ประจำอยู่กึ่งกลางด้านทั้งสี่3. ถัดจากโคปุระทิศใต้ไปเป็นชาลาทางเดินยกพื้น ชาลานี้เชื่อมต่อโคปุระทิศใต้ของกำแพงล้อมรอบศาสนสถานกับโคปุระทิศใต้ของระเบียงคด เดิมทีมีหลังคาเครื่องไม้มุงกระเบื้องคลุมอยู่4. พื้นที่ระหว่างกำแพงล้อมรอบศาสนสถานกับระเบียงคดมีบรรณาลัย 2 หลัง อยู่ทางพื้นที่ด้านตะวันตก นอกจากนี้ยังมีสระน้ำ 4 สระอยู่ที่มุมทั้งสี่ของกำแพงล้อมรอบศาสนสถานด้วย5. ระเบียงคดล้อมรอบพื้นที่ศูนย์กลางอันเป็นที่ตั้งปราสาทประธาน มีโคปุระแผนผังกากบาทอยู่ที่ด้านทั้งสี่ 6. ปราสาทประธานตั้งอยู่กลางศาสนสถาน ก่อด้วยหินทรายสีเทาเป็นวัสดุหลัก หันหน้าไปทางใต้ รอบๆ ปราสาทประธานมีอาคารดังนี้ ด้านตะวันออกเฉียงใต้มีปรางค์พรหมทัต ด้านตะวันตกเฉียงใต้มีหอพราหมณ์และปรางค์หินแดง ด้านตะวันออกมีส่วนฐานของอาคาร 1 หลัง น่าจะเป็นพลับพลาโถง

ปรางค์สามยอด
ลพบุรี
สถาปัตยกรรมปรางค์สามยอด

พระปรางค์สามยอดเป็นปราสาทในวัฒนธรรมเขมรที่ใช้ศิลาแลงเป็นวัสดุหลัก มีหินทรายก่อเป็นหน้าบันและองค์ประกอบอื่นๆ อิฐสมัยกรุงศรีอยุธยานำมาก่อปิดช่องหน้าต่าง ปูนปั้นประดับหลุดล่วงเป็นส่วนใหญ่อาคารประธานเป็นปราสาทสามหลังเรียงตัวกันตามแนวเหนือ-ใต้ หันหน้าไปทางทิศตะวันออก แต่ละองค์เชื่อมต่อกันโดยฉนวน ทั้งสามหลังมีองค์ประกอบแบบเดียวกัน เพียงแต่องค์กลางสูงใหญ่กว่าเล็กน้อย แผนผังเพิ่มมุม ออกมุขที่ด้านทั้งสี่ ภายในปราสาทแต่ละหลังมีแท่นฐานประดิษฐานรูปเคารพ แต่รูปเคารพเดิมเคลื่อนย้ายหมดแล้ว หลังคาชั้นซ้อนลดหลั่นกัน 5 ชั้น ต่อด้วยบัวกลุ่ม นภศูลหักหายไปแล้ว ด้านหน้าปราสาทองค์กลางมีวิหารก่ออิฐแผนผังสี่เหลี่ยมผืนผ้า ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปนั่ง ก่อประตูเป็นวงโค้ง

ปราสาทเมืองสิงห์
กาญจนบุรี
สถาปัตยกรรมปราสาทเมืองสิงห์

ปราสาทเมืองสิงห์ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์แล้ว ศิลาแลงเป็นวัสดุหลักในการก่อสร้าง ฉาบปูนและประดับด้วยปูนปั้นซึ่งปัจจุบันหลุดล่วงไปเกือบหมดแล้ว หันหน้าไปทางทิศตะวันออกรูปแบบปราสาทมีลักษณะเป็นกลุ่มอาคารตั้งอยู่บนฐานยกพื้นสูง ปราสาทประธานตั้งอยู่กึ่งกลางของฐานยกพื้น ยอดปรักหักพังหมดแล้ว ด้านหน้าปราสาทประธานทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือมีบรรณาลัยตั้งอยู่ ทั้งหมดล้อมรอบด้วยระเบียงคด กลางด้านทั้งสี่ของระเบียงคดเป็นโคปุระที่ทำยอดเป็นทรงปราสาท ด้านหน้าทางทิศตะวันออกของฐานยกพื้นมีลานศิลาแลง เดิมทีคงเคยมีหลังคาเครื่องไม้มุงด้วยกระเบื้องคลุมอยู่ แต่ปัจจุบันได้ปรักหักพังหมดแล้ว ถัดออกไปทางทิศตะวันออกมีร่องรอยของโคปุระ ทางด้านเหนือและใต้ของโคปุระเชื่อมต่อกับแนวกำแพงล้อมรอบศาสนสถาน เบื้องหน้าของโคปุระมีชาลารูปกากบาท

จันทิเมนดุต
ไม่ปรากฏ
สถาปัตยกรรมจันทิเมนดุต

จันทิตั้งอยู่บนฐานประทักษิณขนาดใหญ่ เรือนธาตุแบ่งออกเป็นสามเก็จ โดยเก็จประธานประดับภาพพระโพธิสัตว์ประทับนั่งอยู่บนดอกบัว ส่วนเก็จมุมประดับพระโพธิสัตว์อันยิ่งใหญ่แปดองค์ในพุทธศาสนามหายาน หรืออัษฏมหาโพธิสัตว์ ซึ่งทำให้จันทิเมนดุตกลายเป็น “มณฑล” หรือแผนภูมิจักรวาลในพุทธศาสนามหายาน ชั้นหลังคาประดับด้วยเรือนธาตุจำลองซ้อนชั้นตามแบบวิมานอินเดียใต้ แต่ประดับไปด้วยสถูปิกะตามแบบชวาภาคกลางแล้ว ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้คงได้อิทธิพลมาจากพุทธศาสนาเป็นสำคัญ

จันทิปะวน
โวโนโซโบ
สถาปัตยกรรมจันทิปะวน

จันทิหลังนี้ ถือเป็นจันทิขนาดเล็กที่งดงามที่สุดในศิลปะชวาภาคกลางตอนกลาง จันทิตั้งอยู่บนฐานประทักษิณเช่นเดียวกับจันทิเมนดุต แบ่งออกเป็นสามเก็จ เก็จประธานมีภาพต้นกัลปพฤกษ์สื่อถึงความอุดมสมบูรณ์ ส่งเก็จมุมเป็นภาพพระโพธิสัตว์ยืน ชั้นหลังคาประดับด้วยสถูปิกะตามแบบชาภาคกลางตอนกลางที่ได้เปลี่ยนมานิยมสถูปิกะแทนตามความคิดทางพุทธศาสนา ราวบันไดของจันทิปะวนยังประดับด้วยลวดลายต้นกัลปพฤกษ์ซึ่งสื่อถึงการอวยพรให้ผู้ศรัทธาได้รับความอุดมสมบูร์ณเช่นเดียวกัน