ค้นหางานศิลปกรรม
ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ปราสาทเมืองสิงห์
คำสำคัญ : ปราสาทหิน, ปราสาทเขมร, ปราสาทเมืองสิงห์, เมืองสิงห์
ชื่อเรียกอื่น | - |
---|---|
ชื่อหลัก | ปราสาทเมืองสิงห์ |
ชื่ออื่น | - |
ประเภทงานศิลปะ | สถาปัตยกรรม |
ตำบล | สิงห์ |
อำเภอ | ไทรโยค |
จังหวัด | กาญจนบุรี |
ภาค | ภาคตะวันตก |
ประเทศ | ไทย |
พิกัดภูมิศาสตร์ ค่าองศาทศนิยม | Lat : 14.036178 Long : 99.243022 |
พิกัดภูมิศาสตร์ พิกัดกริด | Zone : 47 P Hemisphere : N E : 14.036178 N : 1552085.45 |
ตำแหน่งงานศิลปะ | กึ่งกลางเมืองสิงห์ |
ประวัติการสร้าง | ไม่พบประวัติการสร้างที่แน่ชัด แต่จากการใช้ศิลาแลงเป็นวัสดุหลัก ทำให้เทียบได้กับปราสาทในรัชกาลพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 หรือศิลปะบายนที่พบในประเทศไทย ประกอบกับโบราณวัตถุที่พบจากการขุดค้นขุดแต่ง เช่น พระพุทธรูป พระโพธิสัตว์ ก็สร้างขึ้นเนื่องในคติพุทธศาสนามหายาน และมีสุนทรียภาพตามที่นิยมในสมัยของพระองค์ จึงเชื่อว่าปราสาทเมืองสิงห์สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 หรือราวพุทธศตวรรษที่ 18 ข้อความจากจารึกปราสาทพระขรรค์ ประเทศกัมพูชา ตอนหนึ่งได้กล่าวถึงพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ว่าโปรดให้ส่งพระชัยพุทธมหานาถไปยังเมืองต่างๆ 23 เมือง ในจำนวนดังกล่าวนั้นมีเมืองที่เชื่อว่าอยู่ในภาคกลางและภาคตะวันตกของประเทศไทยด้วย โดยเมืองสิงห์เชื่อว่าตรงกับชัยสิงหปุระ |
---|---|
ประวัติการอนุรักษ์ | ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานประกาศในราชกิจจานุเบกษาเล่มที่ 52 ตอนที่ 75 8 มีนาคม พ.ศ. 2478 กรมศิลปากรได้เริ่มการขุดแต่งโบราณสถานแห่งนี้เริ่มตั้งแต่ปีงบประมาณ 2517 ถึง 2519 การดำเนินงานด้านโบราณคดีมีมาอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งพ.ศ. 2529 ได้ทำการบูรณะครั้งใหญ่เพื่อเตรียมเปิดเป็นอุทยานประวัติศาสตร์แห่งแรกของประเทศไทย |
ลักษณะทางศิลปกรรม | ปราสาทเมืองสิงห์ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์แล้ว ศิลาแลงเป็นวัสดุหลักในการก่อสร้าง ฉาบปูนและประดับด้วยปูนปั้นซึ่งปัจจุบันหลุดล่วงไปเกือบหมดแล้ว หันหน้าไปทางทิศตะวันออก รูปแบบปราสาทมีลักษณะเป็นกลุ่มอาคารตั้งอยู่บนฐานยกพื้นสูง ปราสาทประธานตั้งอยู่กึ่งกลางของฐานยกพื้น ยอดปรักหักพังหมดแล้ว ด้านหน้าปราสาทประธานทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือมีบรรณาลัยตั้งอยู่ ทั้งหมดล้อมรอบด้วยระเบียงคด กลางด้านทั้งสี่ของระเบียงคดเป็นโคปุระที่ทำยอดเป็นทรงปราสาท ด้านหน้าทางทิศตะวันออกของฐานยกพื้นมีลานศิลาแลง เดิมทีคงเคยมีหลังคาเครื่องไม้มุงด้วยกระเบื้องคลุมอยู่ แต่ปัจจุบันได้ปรักหักพังหมดแล้ว ถัดออกไปทางทิศตะวันออกมีร่องรอยของโคปุระ ทางด้านเหนือและใต้ของโคปุระเชื่อมต่อกับแนวกำแพงล้อมรอบศาสนสถาน เบื้องหน้าของโคปุระมีชาลารูปกากบาท |
ข้อมูลที่สำคัญทางวิชาการ | ปราสาทเมืองสิงห์ตั้งอยู่ในตำแหน่งเกือบกึ่งกลางของเมืองสิงห์ ถือเป็นเมืองในวัฒนธรรมเขมรที่อยู่ทางทิศตะวันตกที่สุดของประเทศไทย และของสายวัฒนธรรมเขมรโบราณ น่าจะสร้างขึ้นในรัชกาลของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 เมืองสิงห์และปราสาทเมืองสิงห์น่าจะเกี่ยวข้องกับอำนาจทางการเมืองและทางวัฒนธรรมของพระองค์ เป็นสิ่งยืนยันสายสัมพันธ์ที่มีต่อดินแดนไทยว่ากล้างขวางกว่ากษัตริย์พระองค์อื่น นักวิชาการหลายท่านยังเชื่อกันว่าเมืองสิงห์น่าจะตรงกับชัยสิงหปุระที่ปรากฏอยู่ในจารึกปราสาทพระขรรค์ ประเทศกัมพูชา ว่าพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 โปรดให้ส่งรูปพระชัยพุทธมหานาถมาประดิษฐาน |
ยุค | ประวัติศาสตร์ |
สมัย/รูปแบบศิลปะ | ลพบุรี, เขมรในประเทศไทย |
อายุ | พุทธศตวรรษที่ 18 รัชกาลพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 |
ศาสนา | พุทธ |
ลัทธิ/นิกาย | มหายาน |
ศาสนา/ความเชื่อที่เกี่ยวข้อง | พุทธศาสนามหายาน |
ตำนานที่เกี่ยวข้อง | ตำนานท้องถิ่นเล่าถึงประวัติเมืองสิงห์ไว้ดังนี้ พระฤษีตนหนึ่งอาศัยอยู่ที่เขาสูงงิ้วดำ มีลูกศิษย์ 2 คน คนแรกชื่อว่าท้าวอู่ทอง คนที่สองชื่อว่าท้าวเวชสุวรรณโณ ภายในบริเวณอาศรมมีบ่อทอง บ่อเงิน และบ่อน้ำกรด ซึ่งพระฤษีห้ามลูกศิษย์ทั้ง 2 คน ไปเล่นบริเวณดังกล่าว อยู่มาวันหนึ่งเมื่อฤาษีไม่อยู่ ทั้งสองได้แอบไปเล่นยังบริเวณบ่อทั้งสาม ตกลงกันว่าจะผลัดกันลงไปในบ่อโดยให้อีกคนหนึ่งคอยช่วยฉุดขึ้นมา ท้าวอู่ทองได้ลงไปยังบ่อทองและบ่อเงินก่อนโดยท้าวเวชสุวรรณโณช่วยฉุดขึ้นมาจากบ่อทุกครั้ง เมื่อถึงบ่อน้ำกรดท้าวเวชสุวรรณโณได้ลงไป พลันก็ถูกน้ำกรดกัดกร่อนร่างกาย ส่วนท้าวอู่ทองตกใจรีบหนีไปโดยไม่ช่วยเหลือใดๆ เมื่อฤษีกลับมาพบเศษร่างท้าวเวชสุวรรณโณในบ่อน้ำกรดจึงชุบชีวิตขึ้นมาใหม่ ท้าวเวชสุวรรณโณต้องการแก้แค้นท้าวอู่ทอง ตามล่าหาท้าวอู่ทองที่หนีไปยังที่ต่างๆ โดยไม่ลดละ แต่ก้าวหนึ่งก้าวของท้าวอู่ทองไกลเท่านกเขาเหิน ในขณะที่ก้าวหนึ่งก้าวของท้าวเวชสุวรรณโณไกลเท่านกเขาเดิน ท้าวอู่ทองจึงสามารถหนีไปได้ไกล เมื่อหนีไปที่ใดก็จะสร้างบ้านเมืองไว้ แต่ท้าวเวชสุวรรณโณตามไม่ลดละจนไล่ทันทุกครั้งไป ทำให้สร้างบ้านเมืองไม่สำเร็จเสียที กระทั่งสุดท้ายท้าวอู่ทองได้หนีมาสร้างเมืองสิงห์เป็นผลสำเร็จ เมื่อท้าวเวชสุวรรณโณตามมาถึงก็พบว่ามีกำแพง ป้อมปราการ และเวรยามป้องกันอย่างหนาแน่น จึงออกอุบายแปลงกายเป็นวัวแล้วเข้ามาในเมืองเป็นผลสำเร็จ ท้าวเวชสุวรรณโณจับทหารกินทีละคนจนท้าวอู่ทองเห็นผิดสังเกต คิดว่าวัวตัวนี้น่าจะเป็นท้าวเวชสุวรรณโณจึงคิดหนี แต่ในที่สุดท้าวเวชสุวรรณโณก็ด้จับท้าวอู่ทองกิน |
รูปแบบลิขสิทธิ์ | Attribution-NonCommercial-NoDerivs (CC BY-NC-ND) |
---|---|
เจ้าของสิทธิ์ | ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) |
วันที่จัดทำข้อมูล | 2015-08-25 |
ผู้จัดทำข้อมูล | ดร.รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง |
บรรณานุกรม | ฉันทนา สุรัสวดี, “การศึกษาปราสาทเมืองสิงห์ ตำบลสิงห์ อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี” วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต สาขาโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2530. ระพีศักดิ์ ชัชวาล, รายงานการขุดแต่งและบูรณะปราสาทเมืองสิงห์. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, 2520. ศิลปากร, กรม. ทะเบียนโบราณสถาน. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2532. ศิลปากร, กรม. เมืองสิงห์และปราสาทเมืองสิงห์ จังหวัดกาญจนบุรี. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2530. |