ค้นหางานศิลปกรรม
ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
สถาปัตยกรรมจันทิภีมะ
จันทิหลังนี้ ถือเป็นจันทิแบบศิขระที่ได้รับอิทธิพลมาจากศิลปะอินเดียเหนือเพียงแห่งเดียวในศิลปะชวา โดยที่ยอดประกอบด้วยเก็จจำนวน 3 เก็จ แต่ละเก็จประดับด้วยกูฑุซึ่งมีหน้าบุคคลโผล่ ซึ่งคงเป็นการจำลองลวดลายควากษะในศิลปะอินเดียเหนือ ส่วนที่เก็จมุมประดับอามลกะซึ่งเกี่ยวข้องกับศิขระอินเดียเหนือเช่นกัน เส้นรอบนอกศิขระของจันทิภีมะเป็นเส้นตรง อันแตกต่างไปจากยอดของจันทิอรชุนและจันทิปุนตเทพที่เป็นขั้นบันได ภายหลังจากศิลปะชวาภาคกลางตอนต้น จันทิแบบศิขรินเยเหนือจะสูญหายไปจากความนิยมในศิลปะชวา คงเหลือแต่ยอดวิมานอินเดียใต้เท่านั้นที่จะสืบทอดไปถึงระยะหลัง
สถาปัตยกรรมจันทิปะวน
จันทิหลังนี้ ถือเป็นจันทิขนาดเล็กที่งดงามที่สุดในศิลปะชวาภาคกลางตอนกลาง จันทิตั้งอยู่บนฐานประทักษิณเช่นเดียวกับจันทิเมนดุต แบ่งออกเป็นสามเก็จ เก็จประธานมีภาพต้นกัลปพฤกษ์สื่อถึงความอุดมสมบูรณ์ ส่งเก็จมุมเป็นภาพพระโพธิสัตว์ยืน ชั้นหลังคาประดับด้วยสถูปิกะตามแบบชาภาคกลางตอนกลางที่ได้เปลี่ยนมานิยมสถูปิกะแทนตามความคิดทางพุทธศาสนา ราวบันไดของจันทิปะวนยังประดับด้วยลวดลายต้นกัลปพฤกษ์ซึ่งสื่อถึงการอวยพรให้ผู้ศรัทธาได้รับความอุดมสมบูร์ณเช่นเดียวกัน
สถาปัตยกรรมจันทิปุนตเทพ
จันทิมีลักษณะคล้ายคลึงกับวิมานในศิลปะอินเดียใต้อย่างมาก กล่าวคือ เป็นจันทิในผังครรภคฤหะ มีมุขสั้นๆยื่นออกมาทางด้านหน้า เรือนธาตุประดับด้วยเสาติดผนังสี่ต้นแบ่งผนังออกเป็นสามส่วน (เก็จประธานและเก็จมุม) ชั้นหลังคามีเรือนธาตุจำลอง (ตละ) ซ้อนชั้นขึ้นไป ที่มุมประดับด้วยอาคารจำลอง (หาระ) การที่เส้นรอนอกของยอดมีลักษณะเป็นขั้นบันไดนั้นคล้ายคลึงกับวิมานในศิลปะอินเดียใต้อย่างมาก ลักษณะพิเศษเพิ่มเติมของจันทิหลังนี้ก็คือการปรากฏลวดลายตกแต่งซุ้มจระนำที่เก็จประธานเป็นรูปกรอบสี่เหลี่ยม และการตกแต่งเก็จมุมด้วยเสาและซุ้มซึ่งทั้งหมดนี้ไม่ปรากฏมาก่อนกับจันทิอรชุน
สถาปัตยกรรมฐานกลมและสถูปที่บุโรพุทโธ
ฐานกลมด้านบนสุด เป็นฐานเขียงซึ่งไม่มีภาพสลักใดๆ อันบ่งบอกถึงความเป็น “อรูปภูมิ” ประกบด้วยสถูปโปร่งจำนวนมากซึ่งภายในประดิษฐานพระธยานิพุทธไวโรจนะแสดงปางปฐมเทศนา ประเด็นนี้ย่อมแสดงให้เห็นหัวเลี้ยวหัวต่อระหว่างความมีรูปกับความไม่มีรูป ด้านบนสุดปรากฏสถูปทึบเพียงองค์เดียว นั่นคอตัวแทนของพระอิพุทธ พระเทธเจ้าองค์แรกของจักรวาล ผู้เป็นอมตะ ไม่มีกาลเวลา เป็นผู้กำเนินพระพุทธเจ้าทั้งมวลในจักรวาลและเป็นผู้สร้างโลก ทรงไม่มีรูป
สถาปัตยกรรมจันทิอรชุน
จันทิมีลักษณะคล้ายคลึงกับวิมานในศิลปะอินเดียใต้อย่างมาก กล่าวคือ เป็นจันทิในผังครรภคฤหะ มีมุขสั้นๆยื่นออกมาทางด้านหน้า เรือนธาตุประดับด้วยเสาติดผนังสี่ต้นแบ่งผนังออกเป็นสามส่วน (เก็จประธานและเก็จมุม) ชั้นหลังคามีเรือนธาตุจำลอง (ตละ) ซ้อนชั้นขึ้นไป ที่มุมประดับด้วยอาคารจำลอง (หาระ) การท่เส้นรอนอกของยอดมีลักษณะป้นขั้นบันไดนั้นคล้ายคลึงกับวิมานในศิลปะอินเดียใต้อย่างมาก