ค้นหางานศิลปกรรม
ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
สถาปัตยกรรมเจดีย์ทรงปราสาท วัดเกาะกลาง
เจดีย์องค์นี้เป็นเจดีย์ทรงปราสาทห้ายอด ฐานล่างสุดเป็นฐานเขียงรองรับส่วนเรือนธาตุที่เป็นห้องและมีลักษณะเป็นจตุรมุขมีซุ้มจระนำยื่นออกมาทั้ง 4 ด้าน แต่ละซุ้มมีการประดับลวดลายปูนปั้น เหนือขึ้นไปเป็นเจดีย์ทรงระฆังต่อด้วยปล้องไฉนแต่หักหายไปแล้ว
ประติมากรรมพระหริภุญชัยโพธิสัตว์
พระพุทธรูปองค์นี้แสดงปางมารวิชัยประทับนั่งขัดสมาธิเพชรบนฐานหน้าบัวคว่ำบัวหงายในผังแปดเหลี่ยมที่มีกลีบบัวขนาดใหญ่ พระพักตร์รูปไข่ ขมวดพระเกศาเล็ก สวมเทริดขนนกที่มี 5 ตาบเรียงด้านหน้าทั้งหมด ลวดลายภายในตาบเป็นลายดอกโบตั๋นแบบล้านนา มีผ้ากรรเจียกรูปพัดและกุณฑลที่พระกรรณ ปรากฏแถวเม็ดพระศก 1 แถวใต้กระบังหน้าของเทริดชนนก พระเนตรเหลือบต่ำ พระโอษฐ์แย้ม พระหนุเป็นปม พระรัศมีเป็นเปลวสูง พระวรกายผอมบางสมส่วน จีวรสวมทับสร้อยพระศอ สวมพาหุรัด ทองพระกร พระธำมรงค์ ชายสังฆาฏิแผ่นใหญ่ยาวถึงพระนาภีปลายแตกเป็นเขี้ยวตะขาบ ชายผ้าด้านหน้าแตกเป็น 2 ชาย
ประติมากรรมพระศากยสิงห์
พระพุทธรูปองค์นี้ประทับนั่งขัดสมาธิเพชร แสดงปางมารวิชัย พระพักตร์กลม ขมวดพระเกศาใหญ่ อุษณีษะทรงสูง ยอดอุษณีษะเป็นตุ่มกลมคล้ายดอกบัวตูม พระเนตรเปิดมองตรง พระโอษฐ์แย้ม พระหนุเป็นปม พระวรกายไม่อวบอ้วนมาก ครองจีวรห่มเฉียง ชายสังฆาฏิสั้นเหนือพระถันปลายแตกเป็นเขี้ยวตะขาบ ประทับนั่งบนฐานบัวคว่ำบัวหงายในผังแปดเหลี่ยมซึ่งหล่อติดกับพระพุทธรูป
จิตรกรรมจิตรกรรมเรื่องพระราชประวัติรัชกาลที่ 5
จิตรกรรมพระราชประวัติรัชกาลที่ 5 เขียนภาพเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในราชสำนักตั้งแต่ปลายรัชกาลที่ 4 ถึงกระทั่งเมื่อย้ายพระที่นั่งทรงผนวชจากในพระบรมมหาราชวังมาสร้างไว้ที่วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามในสมัยรัชกาลที่ 5 แต่ละห้องภาพปรากฏภาพพระราชพิธีที่สำคัญ เช่น พระราชพิธีโสกันต์ รวมทั้งพระราชกรณียกิจต่างๆ เช่น ภาพการเสด็จออกรับราชทูต โดยมีฉากหลังเป็นสถานที่สำคัญที่มีอยู่จริง เช่น ภาพพระที่นั่งและอาคารสำคัญต่างๆในพระบรมมหาราชวัง ภาพพระปฐมเจดีย์ พระสมุทรเจดีย์ เป็นต้น เทคนิคการเขียนภาพใช้หลักทัศนียวิทยาอย่างตะวันตกที่สมจริงและเคร่งครัดมากขึ้นกว่าจิตรกรรมในสมัยรัชกาลที่ 4 นอกจากนี้ยัง ภาพจิตรกรรมยังแสดงให้เห็นสภาพสังคมในสมัยนั้น ไม่ว่าจะเป็นภาพบ้านเรือน การแต่งกายของผู้คน การใช้เรือเป็นพาหนะสัญจร การใช้ธงชาติ มหรสพและการละเล่นต่างๆ
สถาปัตยกรรมพระอุโบสถ วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม
พระอุโบสถเป็นอาคารจตุรมุข หันหน้าไปทางทิศตะวันออก มุขด้านตะวันออกขยายยาว มุขตะวันตกเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธชินราชจำลองซึ่งเป็นประธานในพระอุโบสถ มุขด้านเหนือและใต้เชื่อมต่อกับพระระเบียงมีหลังคาโอบล้อมไปทางด้านหลังพระอุโบสถด้านหน้าพระอุโบสถ มีกำแพงแก้ว บนมุมกำแพงแก้วซ้าย-ขวา มีเสาคอนกรีตหัวเสาเป็นศิลาสลักรูปดอกบัวตูม คือเครื่องหมาย "สีมา" สำหรับด้านหน้า ส่วนสีมาด้านหลังพระอุโบสถ สลักรูปเสมาธรรมจักรที่แผ่นหินแกรนิตปูพื้น ภายในกำแพงแก้ว ปูหินแกรนิตสีชมพูอ่อนและสีเทา ผนังรอบพระอุโบสถด้านนอกประดับด้วยแผ่นหินอ่อนสีขาวบริสุทธิ์ มุขตะวันออกมีเสากลมหินอ่อน 4 ต้น ข้างบันไดหินอ่อนมีสิงห์สลักหินอ่อน 2 ตัว ซึ่งโปรดเกล้าฯให้ ขุนสกลประดิษฐ์ ช่างในกรมช่างสิบหมู่ เป็นผู้ปั้นแบบตามภาพที่สมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงเขียน มุขตะวันตกด้านนอก มีเสาและสิงห์เช่นเดียวกับด้านหน้าบานประตูด้านนอกติดแผ่นโลหะนูน ภาพทวารบาล ด้านในเขียนลายรดน้ำภาพเหมือนกับด้านนอก บานหน้าต่างด้านนอกติดแผ่นโลหะนูนภาพมารแบก ด้านในเขียนลายรดน้ำภาพเหมือนด้านนอก ซุ้มประตูหน้าต่างประดับกระจกสีหลังคาพระอุโบสถเป็นแบบไทยประเพณีประดับด้วยช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ มุงกระเบื้องเคลือบสีเหลือง เรียกว่ากระเบื้องกาบู ซึ่งมีลักษณะเป็นกาบโค้งครอบแผ่นรอง เชิงชายเป็นแผ่นเทพนม ซึ่งโปรดเกล้าฯให้นำกระเบื้องวัดกัลยาณมิตร ส่งไปเป็นตัวอย่างทำสีจากเมืองจีนหน้าบันพระอุโบสถโปรดเกล้าฯให้ทำเป็นตราพระราชลัญจกรที่สำคัญของแผ่นดิน ได้แก่ 1. มุขตะวันออก เป็นรูปพระนารายณ์ทรงครุฑ ซึ่งถอดจากพระราชลัญจกร "พระครุฑพาห์" ในลายมีหมู่เทวดาอัญเชิญเครื่องสูง 2. มุขตะวันตก เป็นรูปอุณาโลมในบุษบก ซึ่งถอดจากพระราชลัญจกร "มหาอุณาโลม" หรือ "มหาโองการ" 3. มุขเหนือ เป็นรูปช้างสามเศียรเชิญบุษบก ซึ่งถอดจากพระราชลัญจกร "ไอยราพต" 4. มุขใต้ เป็นรูปจักร ซึ่งถอดมาจากพระราชลัญจกร "จักรรถ" แต่เพราะพระราชลัญจกรจักรรถเหมือนกับ "พระธรรมจักร" จึงเรียกกันอีกชื่อหนึ่งว่า "พระธรรมจักร"
สถาปัตยกรรมพระที่นั่งเวหาศน์จำรูญ
มีรูปแบบสถาปัตยกรรมเป็นแบบเก๋งจีน พระที่นั่งก่อด้วยอิฐฉาบปูน หลังคาทรงอ่อนโค้งมุงกระเบื้องลอนเคลือบและประดับสัญลักษณ์มงคลแบบจีน กลางสันหลังคาประดับรูปมังกรดั้นเมฆ ท้องพระโรงล่างปูกระเบื้องเคลือบจากจีน มีลายรูปสัตว์ ต้นไม้และบุคคลจากเทพปกรณัมจีน คานด้านบนท้องพระโรงติดป้ายอักษรไทยเลียนแบบอักษรจีนว่า เทียนเม่งเต้ย ประดับโดยรอบอาคารด้วยไม้แกะสลักเป็นเรื่องราวจากวรรณคดีเรื่องสามก๊กท้องพระโรงชั้นล่างมีบันไดหินอ่อนสู่พระราชบัลลังก์แบบจีน กลางบันไดมีรูปหยิน-หยาง ด้านหลังมีบันไดขึ้นสู่ท้องพระโรงบนเป็นที่ประดิษฐานพระราชบัลลังก์แบบจีนอีกองค์หนึ่ง ชั้นบนสุดของพระที่นั่งเป็นที่ประดิษฐานพระป้ายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี ซึ่งรัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น และพระป้ายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระศรีพัชรินทรา พระบรมราชินีนาถ ซึ่งรัชกาลที่ 7 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น โดยประดิษฐานอยู่ในพระวิมานเขียนลายแบบจีน ด้านเหนือของพระที่นั่งเป็นห้องบรรทมของรัชกาลที่ 5 พระแท่นบรรทมสลักลายหงส์และมังกร อีกห้องเป็นที่บรรทมของสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถมีพระแท่นเป็นไม้สลักลายเคลือบสีทองและพระแท่นประดับมุก ด้านใต้เป็นห้องทรงพระอักษรของรัชกาลที่ 5 การตกแต่งภายในพระที่นั่งเป็นแบบจีนทั้งหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่งนิยมใช้เครื่องเรือนที่นิยมในราชวงศ์ชิง
สถาปัตยกรรมปราสาทมิเซิน กลุ่ม B
ปราสาทมิเซิน กลุ่ม B เป็นตัวอย่างของการจัดวางกลุ่มปราสาทในศิลปะจาม ซึ่งมักวางตัวอย่างไม่เป็นระเบียบ ภายในกลุ่มโบราณสถานประกอบไปด้วยปราสาทประธาน ปราสาทบริวาร บรรณาลัย โคปุระ กำแพงล้อมรอบและมณฑปซึ่งตั้งอยู่ภายนอกกำแพง
สถาปัตยกรรมปราสาทมิเซิน B5
ปราสาทมิเซิน B5 เป็นปราสาทมิเซินกลุ่ม B เพียงหลังเดียวที่ยังมียอดครบสมบูรณ์ เป็นปราสาทที่มีเสาติดผนังจำนวน 5 ต้น โดยสามารถมองเห็นได้เพียงสี่ต้น เนื่องจากเสาต้นกลางถูกซุ้มบดบัง ซึ่งถือเป็นลักษณะที่ปรากฏเสมอๆในศิลปะมิเซิน A1 ซุ้มมีลักษณะเป็นซุ้มหน้านาง ซึ่งเป็นซุ้มที่สืบต่อมาจากซุ้มแบบดงเดือง แต่กลับเป็นซุ้มตอนเดียว ไม่ได้ปรากฏปีกนกต่อเนื่องกันลงมาซึ่งแตกต่างไปจากซุ้มดงเดือง ภายในซุ้มมักปรากฏเทวดาถือกระบอง ซึ่งเป็นลักษณะที่โดดเด่นของศิลปะมิเซิน A1