ค้นหางานศิลปกรรม
ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ประติมากรรมพระพุทธรูปปางสมาธิ
พระพุทธรูปอยู่ในอิริยาบถนั่งขัดสมาธิราบแบบหลวมบฯฐานบัว พระหัตถ์ทำปางสมาธิ ด้านหลังมีแผ่นหลังทรงโค้งรองรับไว้เค้าพระพักตร์แตกต่างไปจากพระพุทธรูปที่พบจากภาคกลางทั่วไป พระพักตร์เหลี่ยม พระขนงต่อ พระเนตรเหลือบต่ำ พระนาสิกและพระโอษฐ์สมส่วน พระหนุ (คาง) เหลี่ยม พระเกศาขมวดเป็นวงก้นหอย พระอุษณีษะนูนเพียงเล็กน้อยพระพุทธรูปครองจีวรห่มเฉียง ไม่มีริ้ว บางแนบพระวรกาย แลเห็นขอบสบงบริเวณบั้นพระองค์ชัดเจน พระหัตถ์ทำปางสมาธิ พระเพลาสลักให้เห็นเป็นมุมมองจากด้านบน สังเกตได้จากการแบฝ่าพระบาทออกทางด้านหน้าและแลเห็นพระชงฆ์จากมุมมองด้านบน พระบาททั้งสองซ้อนทับกัน นิยมเรียกว่าขัดสมาธิราบแบบหลวม แผ่นเบื้องหลังสลักต้นพระศรีมหาโพธิ์อยู่เบื้องหลังพระเศียร สองข้างเป็นรูปสถูปทรงหม้อที่มีฉัตรซ้อนชั้นปักเป็นส่วนยอด อนึ่ง เมื่อมองจากทางด้านข้างจะพบว่าพระเพลาอยู่ในแนวเดียวกันกับพระอุระและพระอุทร ไม่ได้ยื่นพ้นออกมาทางด้านหน้า ทำให้กายวิภาคผิดไปจากความเป็นจริง ปัญหาดังกล่าวนี้อาจเกิดจากความหนาของหินไม่เพียงพอ หรืออาจเป็นความตั้งใจของช่างที่เห็นว่ารูปแบบเช่นนี้เหมาะสมดีแล้ว
ประติมากรรมพระพุทธรูปปางแสดงธรรม
พระพุทธรูปองค์นี้อยู่ในอิริยาบถยืนตรงบนฐานบัวคว่ำบัวหงาย สลักขึ้นจากหินก้อนเดียวซึ่งเป็นกรรมวิธีการทำพระพุทธรูปหินที่มีขนาดไม่ใหญ่มากในศิลปะทวารวดี พระพักตร์เหลี่ยม พระขนงต่อกันเป็นปีกกา พระเนตรเบิกโพรง พระนาสิกใหญ่ พระโอษฐ์แบะ พระกรรณยาว ขมวดพระเกศาเวียนเป็นวงก้นหอย พระอุษณีษะนูนสูงเด่น เดิมทีน่าจะเคยมีพระรัศมีที่ทำจากอัญมณีมีค่าแต่ได้สูญหายไปแล้วพระพุทธรูปครองจีวรห่มคลุม ไม่มีริ้ว บางแนบเนื้อราวผ้าเปียกน้ำจนเห็นพระพุทธสรีระและขอบสบงที่บริเวณบั้นพระองค์ชัดเจน ชายจีวรด้านหน้ายกสูงพาดผ่านพระชงฆ์เป็นรูปวงโค้ง ชายจีวรด้านหลังยาวเป็นกรอบสี่เหลี่ยม เห็นชายสบงอยู่ตรงกลางระหว่างจีวรด้านหน้ากับด้านหลัง พระหัตถ์ทั้งสองข้างยกขึ้นสูงระดับพระอุระ แสดงปางประทานธรรมหรือวิตรรกมุทราแบบงอนิ้วพระหัตถ์ (บางท่านเรียกว่า อาหูยมุทรา) หากมองจากด้านข้างจะพบว่าพระกรช่วงล่างตั้งแต่พระกโปตะ (ศอก) จนถึงพระหัตถ์สั้นผิดส่วนและแนบชิดพระพาหา (ต้นแขน) โดยมีชิ้นหินที่ไม่ได้สกัดออกยึดตรึงระหว่างกัน รทำเช่นนี้คงเกิดขึ้นจากหินที่นำมาใช้มีความหนาไม่เพียงพอที่จะสลักช่วงพระกรให้ยาวออกไป และต้องการให้พระกรคงทนไม่หักง่ายจึงต้องยึดตรึงกับพระพาหาพระบาททั้งสองรองรับด้วยฐานสลักกลีบบัวคำว่ากลีบบัวหงาย ไม่สกัดหินบริเวณข้อพระบาทออก เป็นกรรมวิธีรับน้ำหนักที่พบได้ในประติมากรรมศิลปะทวารวดีอันมีต้นแบบอยู่ในศิลปะคุปตะของอินเดีย
ประติมากรรมพระพุทธรูป
พระพุทธรูปองค์นี้อยู่ในอิริยาบถยืนตรงบนฐานบัวคว่ำบัวหงาย ใช้หิน 4 ชิ้นประกอบกันเป็นพระพุทธรูปขนาดใหญ่ ชิ้นแรกตั้งแต่พระโสณีลงไปถึงฐานบัว ชิ้นที่สองตั้งแต่พระเศียรลงไปถึงพระโสณี ชิ้นที่สามและสี่ทำพระกรช่วงล่างทั้งสองข้าง การใช้หินหลายก้อนเช่นนี้เป็นกรรมวิธีการสร้างพระพุทธรูปขนาดใหญ่ของทวารวดีพระพักตร์เหลี่ยม พระขนงต่อกันเป็นปีกกา พระเนตรเหลือบต่ำแสดงความสงบ พระนาสิกใหญ่ พระโอษฐ์แบะ พระกรรณยาว ขมวดพระเกศาเวียนเป็นวงก้นหอย พระอุษณีษะนูนสูงเด่นพระพุทธรูปครองจีวรห่มคลุม ไม่มีริ้ว บางแนบเนื้อราวผ้าเปียกน้ำจนเห็นพระพุทธสรีระและขอบสบงที่บริเวณบั้นพระองค์ชัดเจน ชายจีวรด้านหน้ายกสูงพาดผ่านพระชงฆ์เป็นรูปวงโค้ง ชายจีวรด้านหลังยาวเป็นกรอบสี่เหลี่ยมและมีชายทบไปมาแบบที่เรียกว่าเขี้ยวตะขาบ และเห็นชายสบงอยู่ตรงกลางระหว่างจีวรด้านหน้ากับด้านหลัง พระกรทั้งสองข้างเพียงส่วนบนตั้งแต่พระพาหา (ต้นแขน) จนถึงพระกะโประ (ศอก) แลเห็นหลุมวงกลมที่ใช้สำหรับรับเดือยของพระกรท่อนล่างที่หลุดหายไปแล้ว พระบาททั้งสองรองรับด้วยฐานสลักกลีบบัวคำว่ากลีบบัวหงาย ไม่สกัดหินบริเวณข้อพระบาทออก เป็นกรรมวิธีรับน้ำหนักที่พบได้ในประติมากรรมศิลปะทวารวดีอันมีต้นแบบอยู่ในศิลปะคุปตะของอินเดีย
ประติมากรรมพระพุทธรูปประทานพร
พระพุทธรูปปางประทานพรองค์นี้อยู่ในอิริยาบถยืนตริภังค์บนฐานบัวคว่ำบัวหงาย พระพักตร์อิ่ม พระขนงต่อกันเป็นปีกกา พระเนตรเหลือบต่ำแสดงความสงบ พระนาสิกใหญ่ พระโอษฐ์แบะ ขมวดพระเกศาเวียนเป็นวงก้นหอย พระอุษณีษะนูนสูงเด่นพระพุทธรูปครองจีวรห่มคลุม ไม่มีริ้ว บางแนบเนื้อราวผ้าเปียกน้ำจนเห็นพระพุทธสรีระและขอบสบงที่บริเวณบั้นพระองค์ชัดเจน ชายจีวรด้านหน้ายกสูงพาดผ่านพระชงฆ์เป็นรูปวงโค้ง ชายจีวรด้านหลังยาวเป็นกรอบสี่เหลี่ยมและมีชายทบไปมาแบบที่เรียกว่าเขี้ยวตะขาบ และเห็นชายสบงอยู่ตรงกลางระหว่างจีวรด้านหน้ากับด้านหลัง พระกรขวาทอดตัวลงหงายพระหัตถ์ออกด้านหน้า เรียกว่าปางประทานพร พระกรซ้ายเหลือเพียงส่วนบนตั้งแต่พระพาหา (ต้นแขน) จนถึงพระกะโประ (ศอก) แลเห็นหลุมวงกลมที่ใช้สำหรับรับเดือยของพระกรท่อนล่างที่หลุดหายไปแล้วพระองค์ยืนพักพระบาท (พักขา) โดยสังเกตได้จากพระชานุขวาตึง พระขานุซ้ายหย่อน ทำให้พระโสณี (สะโพก) เยื้องไปทางขวามากกว่าทางซ้าย บางท่านเรียกว่ายืนเอียงสะโพก หรือตริภังค์ (เอียงสามส่วน ได้แก่ พระโสณี พระอังสา และพระเศียร) เพียงแต่พระพุทธรูปองค์นี้ทำพระอังสาแลพระเศียรตรง ในขณะที่ต้นแบบในศิลปะอินเดียจะเอียงทั้ง 3 ตำแหน่งชัดเจน พระบาททั้งสองรองรับด้วยฐานสลักกลีบบัวคำว่ากลีบบัวหงาย ไม่สกัดหินบริเวณข้อพระบาทออก เป็นกรรมวิธีรับน้ำหนักที่พบได้ในประติมากรรมศิลปะทวารวดีอันมีต้นแบบอยู่ในศิลปะคุปตะของอินเดีย
ประติมากรรมพระพุทธมหาวชิรอุตตโมภาสศาสดา
พระพุทธรูปประทับขัดสมาธิราบปางมารวิชัย พระพักตร์รูปไข่ พระเนตรเหลือบต่ำ พระนาสิกโด่ง พระกรรณยาว มีอุษณีษะ รัศมีคล้ายดอกบัวตูม ครองจีวรห่มเฉียง ไม่มีริ้ว ชายสังฆาฏิยาวจรดพระนาภี ประทับนั่งบนฐานบัวคว่ำบัวหงาย ถอดแบบจากพระพุทธนวราชบพิตร
ประติมากรรมพระสยามเทวาธิราช
รูปแบบของพระสยามเทวาธิราชเป็นประติมากรรม ทรงเครื่องต้นอย่างพระจักรพรรดิ ได้แก่ พระมหามงกุฎยอดแหลม มีกรรเจียกจร ทรงสังวาล ทับทรวง พาหุรัด ทองพระกร ทรงสนับเพลาประดับชายไหวชายแครง ทรงฉลองพระบาทเชิงงอน ประทับยืน พระหัตถ์ขวาทรงถือพระขรรค์ในระดับพระโสณี พระหัตถ์ซ้ายจีบนิ้วพระหัตถ์ในระดับพระอุระ ประดิษฐานอยู่ภายในพระวิมานไม้จันทน์แบบเก๋งจีน มีคำจารึกภาษาจีน แปลได้ว่า “สถิตแห่งพระสยามเทวาธิราช”เบื้องหน้าพระวิมานทองสามมุข รัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯ ให้มีการสมโภชและตั้งโต๊ะหมู่บูชาถวายเครื่องสังเวยพระสยามเทวาธิราชเป็นประจำ
ประติมากรรมพระพุทธรูปในมนูหะ
แม้ว่าจะมีประวัติเก่าแก่ไปถึงรัชสมัยพราะเจ้าอโนรธา แต่พระพุทธรูปองค์นี้ก็”ด้รับการบูรณะอย่างต่อเนื่อง จนรูปแบบดั้งเดิมไม่หลงเหลืออยู่
ประติมากรรมพระพุทธรูปจากปราสาทดงเดือง
พระพุทธรูปมีลักษณะตามอย่างศิลปะอมราวดีหรือลังกา กล่าวคือมีอุษณีษะต่ำ พระเกศาขมวดก้นหอย ห่มจีวรเฉียง จีวรเป็นริ้วทั้งองค์ มีขอบจีวรหนายกขึ้นมาพาดพระกรซ้ายเป็นรูปสามเหลี่ยม พระพุทธรูปยกพระหัตถ์ขวาแสดงวิตรรกมุทราและยกพระหัตถ์ซ้ายขึ้นมาจับชายจีวรขนานกันกับพระหัตถ์ขวา รูปแบบทั้งหมดนี้แสดงว่าพระพุทธรูปองค์นี้อาจะเป็นของนำเข้ามาจากอินเดียใต้หรือลังกา