ค้นหางานศิลปกรรม
ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
สถาปัตยกรรมฐานของบรรณาลัยปราสาทบาญอิ๊ด
ด้านข้างปราสาทประธานเป็นที่ตั้งของอาคารในผังสี่เหลี่ยมผืนผ้าซึ่งมีหลังคาทรงประทุน อาคารดังกล่าวนี้ตรงกับ “บรรณาลัย” ในศิลปะขอม โดยลักษณะพิเศษของอาคารหลังนี้ก็คือ การสลักลวดลายตกแต่งทั้งฐาน เรือนธาตุและซุ้มหน้านาง ฐานของปราสาทหลังนี้ปรากฏ “สัตว์แบก” จำนวนมาก เช่น ครุฑแบบ สิงห์แบก ซึ่งทำให้นึกถึงประติมากรรมครุฑจากปราสาทถาปมาม (ปัจจุบันอยู่ในพิพิธภัณฑ์ดานัง) สัตว์แบกเหล่านี้เป้นรท่นิยมอย่างมากในศิลปะบิญดิ่น
สถาปัตยกรรมที่ตั้งของปราสาทโพกลวงการาย
ที่ตั้งของปราสาทแห่งนี้ ได้แก่ยอดเนินเขา โดยมีการยกกลุ่มอาคารทั้งหมดขึ้นไปไว้ด้านบน ทั้งปราสาทประธาน บรรณาลัย มณฑป โคปุระ ที่ตั้งของปราสาทแห่งนี้ทำให้นึกถึงปราสาทบาญอี๊ดในจังหวัดบิญดิ่น การเลือกตั้งปราสาทอยู่บนยอดเขานั้น ปรากฏความนิยมมาก่อนแล้วตั้งแต่สมัยบิญดิ่น และดูเหมือนว่าในสมัยหลัง ก็ยังคงสืบทอดความนิยมดังกล่าวด้วย
สถาปัตยกรรมปราสาทประธานของปราสาทโพกลวงการาย
ปราสาทหลังนี้ มีลักษณะหลายประการคล้ายคลึงกับปราสาทสมัยบิญดิ่นอตนปลายอยู่ ทั้งรูปแบบเสาติดผนังที่มี 5 ต้น ไม่มีร่องไม่มีลาย รวมถึงซุ้มที่ยังคงเป็นใบหอกแบบบิ่ญดิ่น อย่างไรก็ตาม การที่ปราสาทจำลองที่ชั้นหลังคากลายเป็น “ทรงพุ่ม” นั้นแสดงให้เห็นว่าปราสาทหลังนี้สร้างขึ้นในสมัยหลังแล้ว
สถาปัตยกรรมปราสาทจำลองของปราสาทโพกลวงการาย
ปราสาทจำลองทรงพุ่ม ถือเป็นลักษณะเฉพาะของสถาปัตยกรรมสมัยหลังของจาม พัฒนามาจากปราสาทจำลองทรงถะจีนซึ่งนิยมมาก่อนในศิลปะบิญดิ่นตอนปลาย เช่นปราสาทจำลองของปราสาทแก๋งเตียนในจังหวัดบิญดิ่น ปราสาทจำลองแบบนี้ทำให้สามารถกำหนดอายุว่า ปราสาทโพกลวงการายควรสร้างในราวพุทธศตวรรษที่ 19 ลงมา
สถาปัตยกรรมบรรณาลัย (?) ของปราสาทโพกลวงการาย
บรรณาลัยของปราสาทโพกลางการาย เป็นอาคารในผังสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีหลังคาเป็นทรงประทุน หรือทรงศาลา ในศัพท์สถาปัตยกรรมอินเดีย อนึ่ง บรรณาลัยปรากฏมาแล้วตั้งแต่ปราสาทมิเซิน โดยอยู่ในผังและมีหลังคาทรงนี้เสมอ รวมถึงตั้งอยู่ทางด้านข้างของปราสาทประธานเสมอๆ เนื่องจากบรรณาลัยแห่งนี้ตั้งอยู่ในกลุ่มปราสาทซึ่งกำหนดอายุอยู่ในสมัยหลัง ด้วยเหตุนี้ บรรณาลัยดังกล่าวจึงควรมีอายุอยู่ในระยะเดียวกัน ส่วนปราสาทจำลองทรงถะจีนที่มุมนั้นอาจแสดงถึงการสืบทอดรูปแบบมาจากสมัยบิญดิ่นตอนปลาย
สถาปัตยกรรมปราสาทโพโรเม
ปราสาทหลังนี้ เป็นปราสาทในระยะสุดท้ายของศิลปะจาม รายละเอียดต่างๆได้ถูกลดทอนจนหมดสิ้น ดังปรากฏเสาติดผนังเพียงสองต้น และมีซุ้มจระนำรูปใบหอก ด้านบนประดับปราสาทจำลองทรงพุ่มเช่นเดียวกับปราสาทโพกลวงการาย
สถาปัตยกรรมจันทิปุนตเทพ
จันทิมีลักษณะคล้ายคลึงกับวิมานในศิลปะอินเดียใต้อย่างมาก กล่าวคือ เป็นจันทิในผังครรภคฤหะ มีมุขสั้นๆยื่นออกมาทางด้านหน้า เรือนธาตุประดับด้วยเสาติดผนังสี่ต้นแบ่งผนังออกเป็นสามส่วน (เก็จประธานและเก็จมุม) ชั้นหลังคามีเรือนธาตุจำลอง (ตละ) ซ้อนชั้นขึ้นไป ที่มุมประดับด้วยอาคารจำลอง (หาระ) การที่เส้นรอนอกของยอดมีลักษณะเป็นขั้นบันไดนั้นคล้ายคลึงกับวิมานในศิลปะอินเดียใต้อย่างมาก ลักษณะพิเศษเพิ่มเติมของจันทิหลังนี้ก็คือการปรากฏลวดลายตกแต่งซุ้มจระนำที่เก็จประธานเป็นรูปกรอบสี่เหลี่ยม และการตกแต่งเก็จมุมด้วยเสาและซุ้มซึ่งทั้งหมดนี้ไม่ปรากฏมาก่อนกับจันทิอรชุน
สถาปัตยกรรมจันทิปรัมบะนัน
เทวาลัยประกอบด้วยจันทิขนาดเล็กจำนวน 224 หลัง โดยล้อมรอบกลุ่มเทวาลัยประธาน ซึ่งอาจเทียบได้กับจันทิเซวูว่าซึ่งเป็นจันทิในพุทธศาสนาที่มีแผนผังแบบมณฑล เทวาลัยประธานนั้น ประกอบด้วยเทวาลัยจำนวน 8 โดย เทวาลัยประธานจำนวนสามหลังสร้างอุทิศให้กับตรีมูรติ อันได้แก่ เทวาลัยหลังกลางอุทิศให้กับพระศิวะ เทวาลัยหลังทิศเหนืออุทิศให้กับพระวิษณุและเทวาลัยหลังทิศใต้อุทิศให้กับพระพรหมส่วนเทวาลัยด้านหน้าอีกสามหลังนั้นเป็นเทวาลัยที่สำหรับพาหนะของเทพเจ้าทั้งสาม อันได้แก่โคนนทิ ครุฑและหงส์ ตามลำดับ นอกจากนี้ยังมีเทวาลัยอีกสองหลังเล็กขนาบทั้งสองด้าน เทวาลัยหลังเล็กนี้คงสร้างขึ้นเพื่ออุทิศให้กับพระสูรยะและพระจันทร์