ค้นหางานศิลปกรรม
ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เทวาลัยพระศิวะ: จันทิปรัมบะนัน
คำสำคัญ : จันทิ, ราชวงศ์สัญชัย, จันทิปรัมบะนัน
ชื่อหลัก | จันทิปรัมบะนัน |
---|---|
ประเภทงานศิลปะ | สถาปัตยกรรม |
ที่อยู่ | - |
จังหวัด/เมือง | กลาเตน |
รัฐ/แขวง | ชวา ภาคกลาง |
ประเทศ | อินโดนีเซีย |
พิกัดภูมิศาสตร์ ค่าองศาทศนิยม | Lat : 7 Long : 110 |
ประวัติการสร้าง | ในสมัยชวาภาคกลางตอนปลาย ราชวงศ์สัญชัยซึ่งนับถือศาสนาฮินดูได้กลับมามีอำนาจแทนราชวงศ์ไศเลนทร์ ด้วยเหตุนี้ เทวาลัยในศาสนาฮินดู เช่น จันทิปรัมบะนันแห่งนี้จึงถูกสร้างขึ้นในระยะปลายสุดของศิลปะชวาภาคกลาง โดยสันนิษฐานว่าสร้างขึ้นโดยพระเจ้าบาลีตุงเพื่ออุทิศให้กับพระองค์เอง |
---|---|
ลักษณะทางศิลปกรรม | เทวาลัยพระศิวะ ถือว่าเป็นเทวาลัยที่มีขนาดใหญ่ที่สุด มีแผนผังกากบาทและมีห้องเล็กๆจำนวนห้าห้อง ซึ่งแสดงให้เห็นแผนผังที่สืบมาจากเทวาลัยในพุทธศาสนามหายานที่สร้างขึ้นในระยะร่วมสมัย อย่างไรก็ตาม เทวาลัยแห่งนี้อุทิศให้กับเทพเจ้าในศาสนาอินดูทั้งหมด อันได้แก่ห้องกลางนั้นอุทิศให้กับพระศิวะ ด้านทิศใต้อุทิศให้กับพระอคัสตยะ ด้านตะวันตกอุทิศให้กับพระคเณศ และด้านทิศเหนืออุทิศให้กับนางมหิษาสูรมรรทนี ตัวอาคารประกอบด้วยฐานประดับรูปเทพประจำทิศ เรือนธาตุแบ่งออกเป็นสองชั้นซึ่งแสดงให้เห็นพัฒนาการที่แตกต่างไปจากจันทิหลังอื่นๆในระยะก่อนหน้า เรือนธาตุในแต่ละด้านประดับด้วยซุ้มจระนำยอดปราสาทที่เหมือนกันทั้งหมด สำหรับยอดปราสาทนั้น เนื่องจากเทวาลัยดังกล่าวมีแผนผังกากบาทตั้งแต่ฐานยันยอดวิมาน ซึ่งทำให้เรือนธาตุจำลองทุกชั้นมีแผนผังกากบาทเช่นเดียวกับเรือนธาตุ แผนผังดังกล่าวทำให้ยอดปราสาทของจันทิหลังนี้มีความซับซ้อนกว่าจันทิในศิลปะชวาระยะก่อนหน้าอาคารจำลองที่ประดับชั้นวิมานยังคงมีลักษณะเป็น “อาคารจำลองยอดสถูปิกะ” ดังที่ปรากฏมาก่อนแล้วในศิลปะชวาภาคกลางตอนปลาย อย่างไรก็ตาม สถูปิกะยอดอาคารจำลองเหล่านี้กลับมีริ้วกลีบมะเฟืองอันคล้ายคลึงกับอมลกะในศิลปะอินเดียเหนือเป็นอย่างยิ่ง |
ยุค | ประวัติศาสตร์ |
สมัย/รูปแบบศิลปะ | ชวาภาคกลางตอนปลาย |
อายุ | พุทธศตวรรษที่ 15 |
ศาสนา | พราหมณ์-ฮินดู |
ลัทธิ/นิกาย | ไศวนิกาย |
ศาสนา/ความเชื่อที่เกี่ยวข้อง | นักโบราณคดีส่วนมากเชื่อว่า เทวาลัยฮินดูในระยะนี้ย่อมเกี่ยวข้องกับพิธีศพ กล่าวคือ เมื่อกษัตริย์สวรรคตและถวายพระเพลิงแล้ว พระอัฐิส่วนหนึ่งจะถูกโปรยลงทะเล ส่วนที่เหลือจะได้รับการบรรจุไว้ในผอบและบรรจุไว้ใต้บานประติมากรรมเทพเจ้าผู้ที่เชื่อว่ากษัตริย์พระองค์นั้นจะเสด็จไปรวมด้วย ซึ่งเทวาลัยปรัมบะนันก็อาจสร้างขึ้นเพื่อพธีกรรมดังกล่าวนี้ |
รูปแบบลิขสิทธิ์ | Attribution-NonCommercial-NoDerivs (CC BY-NC-ND) |
---|---|
เจ้าของสิทธิ์ | ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) |
วันที่จัดทำข้อมูล | 2015-02-00 |
ผู้จัดทำข้อมูล | เชษฐ์ ติงสัญชลี |