ค้นหางานศิลปกรรม

ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 
 
 
 
 
 
 
แสดง 1 ถึง 8 จาก 37 รายการ, 5 หน้า
พระอุโบสถ วัดพระเชตุพนวิมลมังลาราม
กรุงเทพมหานคร
สถาปัตยกรรมพระอุโบสถ วัดพระเชตุพนวิมลมังลาราม

พระอุโบสถเป็นอาคารก่ออิฐถือปูน เครื่องหลังคาแบบไทยประเพณี หน้าบันประดับเครื่องลำยอง ได้แก่ ช่อฟ้า ใบระกา นาคสะดุ้ง หางหงส์ ปิดทองประดับกระจก รอบอุโบสถมีเสาพาไลทรงสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ ไม่ประดับบัวหัวเสา พนักระเบียงรอบพระอุโบสถมีช่องสี่เหลี่ยมประดับประติมากรรมหินอ่อนแกะสลักนูนต่ำเรื่องรามเกียรติ์ บานประตูพระอุโบสถด้านนอกประดับมุกเป็นลวดลายภาพตัวละครจากเรื่องรามเกียรติ์ ด้านในเขียนลายรดน้ำรูปพัดยศพระราชาคณะ พระครูสัญญาบัตร ฐานานุกรมเปรียญทั้งฝ่ายคามวาสีและอรัญวาสีในกรุงและหัวเมือง จิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถเหนือช่องหน้าต่างเขียนเรื่องมโหสถบัณฑิต ผนังระหว่างช่องประตูหน้าต่างเขียนเรื่องพระสาวกเอตทัคคะ บานหน้าต่างด้านในเขียนลายรดน้ำเป็นรูปตราประจำตำแหน่งเจ้าคณะสงฆ์ในกรุงและหัวเมืองสมัยรัชกาลที่ 3 ด้านนอกแกะสลักเป็นลายแก้วชิงดวง

เสาชิงช้า
กรุงเทพมหานคร
ประติมากรรมเสาชิงช้า

เสาชิงช้าตั้งอยู่บนฐานกลมมีบันไดทางขึ้น ตัวเสาประกอบด้วยเสาหลัก 2 ต้น แต่ละต้นขนาบด้วยเสาตะเกียบหัวเม็ดทรงมัณฑ์ที่โคนต้นละ 2 เสา ด้านบนมีแนวคานสำหรับคล้องชิงช้า ส่วนบนสุดประดับยอดเกี้ยวหูช้างแกะสลักเป็นลวดลายดอกพุดตานและพรรณพฤกษา ทาสีแดงชาดโดยตลอด

พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก
กรุงเทพมหานคร
ประติมากรรมพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก

พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเป็นพระพุทธรูปยืนทรงเครื่องต้นอย่างพระมหาจักรพรรดิ พระพักตร์สงบนิ่งอย่างหุ่น พระขนงโก่ง มีอุณาโลมบนพระนลาฏ ทรงมงกุฎประกอบด้วยกรรเจียกจร พระพุทธรูปแสดงปางห้ามสมุทร หรือประทานอภัย 2 พระหัตถ์ นิ้วพระหัตถ์ยาวเสมอกัน ครองจีวรห่มเฉียง สวมกรองศอ สังวาล ทับทรวง พาหุรัด ทองพระกร พระธำมรงค์ทุกนิ้วพระหัตถ์ สายรัดพระองค์มีปั้นเหน่งรูปดอกไม้แปดเหลี่ยม ด้านล่างมีสุวรรณกระถอบห้อยอยู่เบื้องหน้า มีทั้งชายไหวชายแครง ทรงทองพระบาทและฉลองพระบาทเชิงงอน ประทับยืนบนฐานบัวคว่ำบัวหงายเหนือฐานสิงห์มีสิงห์แบก ครุฑแบกและเทวดาแบกลดหลั่นกัน

อาสนวิหารอัสสัมชัญ
กรุงเทพมหานคร
สถาปัตยกรรมอาสนวิหารอัสสัมชัญ

โบสถ์อัสสัมชัญนี้ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาโดยหันแท่นบูชาสู่แม่น้ำ ตัวโบสถ์มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืมผ้า ตัวอาคารสร้างเลียนแบบสถาปัตยกรรมแบบโรมาเนสก์ ด้านหน้ามีหลังคาทรงจั่ว มีหน้าต่างกลมลายกลีบดอกไม้(Rose Window) ขนาดใหญ่ขนาบสองข้างด้วยหอคอยทรงสี่เหลี่ยม ผนังด้านข้างมีเสาอิงเลียนแบบเสายัน(Buttress) ด้านหลังเป็นผนังโค้งหลังคาทรงกรวยผ่าครึ่ง ภายในมีการแบ่งพื้นที่เป็น 3 ส่วนคือระเบียงโล่งด้านหน้า โถงชุมนุมใหญ่ มีเฉลียงด้านข้าง และส่วนศักดิ์สิทธิ์ด้านในอันเป็นที่ตั้งของพระแท่นหินอ่อนขนาดใหญ่ ด้านหลังมีการเจาะหน้าต่างให้แสงเข้า ตกแต่งหน้าต่างด้วยกระจกเคลือบสีต่อด้วยรูปนักบุญ เพดานโค้งทรงประทุนเป็นลายตารางสี่เหลี่ยมจัตุรัสติดดาวสีทอง หัวเสาเป็นแบบไอโอนิคผสมโครินเธียน ตกแต่งภายในด้วยจิตรกรรมปูนเปียกและประติมากรรมปูนปั้น ส่วนโถงทางเข้ามีการชั้นลอยสำหรับนักขับร้องและออร์แกนขนาดใหญ่

โบสถ์ซางตาครู้ส
กรุงเทพมหานคร
สถาปัตยกรรมโบสถ์ซางตาครู้ส

โบสถ์วัดซางตาครู้สหันหน้าลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ผังของโบสถ์เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่มีด้านสกัดหลังเป็นรูปหกเหลี่ยมอาคารเป็นสถาปัตยกรรมสมัยฟื้นฟูเรเนซองส์(Renaissance Revival) หลังคาไม้มุงกระเบื้อง ด้านหน้ามีช่องประตู 3 ช่อง หลังคาประตูโค้ง มีการตกแต่งด้วยหน้าต่างกลมลายกลีบดอกไม้ (Rose Window) ตรงกลางมีหอระฆังสูงยอดโดมเป็นรูปไข่ ด้านบนสุดเป็นไม้กางเขน ด้านสกัดหลังเป็นรูปหกเหลี่ยมหลังคาปั้นหยามุงกระเบื้อง ภายในมีฝ้าเพดานทรงประทุนบรรจุลายดาวเพดานในช่องสี่เหลี่ยมจัตุรัส ด้านในเป็นที่ตั้งไม้กางเขน ด้านหลังเป็นซุ้มหลังคาทรงจั่วแบบคลาสสิตกแต่งด้วยปูนปั้นแบบคอรินเธียน

โบสถ์ซานออกุสติน
มะนิลา
สถาปัตยกรรมโบสถ์ซานออกุสติน

Façade ของโบสถ์ซานออกุสติน มีองค์ประกอบแบบคลาสิก (Classic) กล่าวคือประกอบด้วย หน้าบันสามเหลี่ยม (Pediment) ที่รองรับด้วยเสาโครินเธียน(ชั้นบน)และไอโอนิก (ชั้นล่าง) อย่างไรก็ตาม ที่หน้าบันสามเหลี่ยมกลับปรากฏหน้าต่างดอกกุหลาบ (Rose window) ซึ่งเป็นองค์ประกอบแบบโกธิค ที่ด้านข้างปรากฏหอระฆังซึ่งเดิมมี 2 หอแต่ปัจจุบันเหลือเพียงหอเดียวเนื่องจากภัยแผ่นดินไหวในศตวรรษที่ 19

ภายในโบสถ์ซานออกุสติน
มะนิลา
สถาปัตยกรรมภายในโบสถ์ซานออกุสติน

ภายในโบสถ์ซานออกุสติน มะนิลา เพดานเป็นวงโค้ง (Tunnel Vault) วาดภาพสถาปัตยกรรมลวงตาบนเพดาน (Trompe l’oeil) จิตรกรรมนี้วาดขึ้นโดยจิตรกรชาวอิตาเลี่ยนจำนวนสองคนใน ค.ศ.1875 ที่ปลายสุดของโบสถ์เป็นแท่นบูชาประดิษฐานเซนต์เจมส์ถือดาบ ซึ่งเป็นนักบุญประจำประเทศสเปน

อาสนวิหารแห่งมะนิลา
มะนิลา
สถาปัตยกรรมอาสนวิหารแห่งมะนิลา

รูปแบบปัจจุบันของอาสนวิหารแห่งมะนิลา มีแผนผังเป็นรูปกากบาทแบบละติน (Latin Cross) ซึ่งเป็นรูปแบบที่ได้รับความนิยมในศิลปะตะวันตกโดยทั่วไป โดยด้านข้างปรากฏปีก (transept) ส่วนด้านหลังปรากฏผนังวงโค้ง (apse) สำหรับหอคอยซึ่งปัจจุบันตั้งติดกับตัวโบสถ์นั้น จากภาพถ่ายเก่าพบว่า ดั้งเดิมแล้ว หอคอยตั้งอยู่แยกจากตัวโบสถ์ โดมของอาสนวิหารแห่งเมืองมะนิลา เป็นโดมแบบคลาสิกโดยทั่วไป กล่าวคือ มีคอโดม (Drum) เป็นรูปแปดเหลี่ยม มีหน้าต่างคู่สลับกับเสาติดผนัง ส่วนตัวโดมเป็นโดมที่มุงหลังคาด้วยทองแดงและมี Lantern อยู่ด้านบน ซึ่งปรากฏเสมอสำหรับโดมทั้งในศิลปะเรอเนสซองส์และนีโอคลาสิก